บทความ: บริหารจัดการเงิน
เคล็ดลับช้อปออนไลน์อย่างไร ไม่ให้เสียสตางค์จนลืมตัว
โดย ศิริรัตน์ ตานะเศรษฐ นักวางแผนการเงิน CFP®
ซื้อของออนไลน์ เป็นการช้อปของง่ายที่ปลายนิ้ว แบบรวดเร็ว บางครั้งอาจถึงขั้นจับจ่ายไปโดยไร้การตรึกตรอง การช้อปออนไลน์สะดวกมาก ทำได้เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แถมช้อปอะไรก็ได้ที่เราสามารถนึกถึง ทำให้หลายคน เพลิดเพลินกับการซื้อของออนไลน์ หรือทำไปเพื่อการคลายเครียด แต่พอบิลบัตรเครดิตมาเรียกเก็บสิ้นเดือน ถึงขั้นเครียดจริง เมื่อสองสามปีที่แล้ว การซื้อออนไลน์อาจดูไกลตัวสำหรับคนบางคน แต่พอสถานการณ์โรคระบาดโคโรน่าไวรัส โควิด19 ทำให้เกิดนักช้อปออนไลน์หน้าใหม่มากมาย ใครที่ไม่เค้ยไม่เคย ถึงสถานการณ์จำเป็น ก็ต้องทำ แล้วก็กลายเป็นเคยชิน ข้อดีคือสะดวกมาก แต่บางครั้งเพลินเกินไปจนใช้เงินลืมตัว วันนี้ผู้เขียนจึงอยากจะมาแชร์ เคล็ดลับวิธีการช้อปออนไลน์อย่างไร ให้มีสติ ไม่เสียสตางค์เยอะจนลืมตัว
- ทำลิสต์ไอเท็มที่ต้องการช้อปแบบเจาะจง ระบุชัดเจนว่าต้องการอะไร นักช้อปควรจะระบุให้ชัดเจนเสียก่อนว่าต้องการอะไร เช่น กางเกงสีขาวขาสั้น รองเท้าแตะแบบหนีบสีดำ เป็นต้น เวลาหาจะได้ใช้คำค้นหาที่เจาะจง และได้ค้นเจอแต่สินค้าที่ต้องการ อย่า!!!ทำการดูสินค้าแบบไร้ทิศทาง ไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ไอเดียบรรเจิดซื้อรัวๆ เพ่นพ่านไปดูไอเท็มอี่น กลายเป็นได้ซื้อของที่ไม่ได้ต้องการซื้อจริงๆ
- อย่าทำอย่างอื่นไปด้วย เวลาจะซื้อของออนไลน์ เช่น ดูซีรี่ส์ไปด้วย หรือ ทำงานไปด้วย เพราะ มันจะทำให้เรากดจ่ายเงินไปแบบไม่รู้ตัว ไม่มีสติ ไม่ได้ตรึกตรองก่อน หลายครั้งนักช้อปอาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ได้กดซื้ออะไรไป สองวันผ่านไปไรเดอร์วิ่งมาส่งของให้ที่บ้าน ถึงขั้นงง ว่าใครกดซื้ออะไรไป
- เมื่อเจอสินค้าที่ถูกใจ เก็บใส่ตะกร้าเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจจ่ายเงิน นอกจากจะได้สำรวจเปรียบเทียบราคาและคุณภาพแล้ว เมื่อเราเลือกเอาไว้หลายอัน แล้วกลับย้อนมาดู เราจะสามารถตรึกตรองดูอีกครั้งได้ว่า อาจมีไอเท็มอื่นที่ตอบโจทย์เรามากกว่า หรือ คิดว่าว่ามันไม่จำเป็น หรือ จำได้ว่า เหมือนกับไอเท็มเดิมที่เคยซื้อไว้แล้ว
- อย่าลืมเช็คข้อมูลดูรีวิวสินค้า ว่าของตรงปกมั้ย เกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า ถ้าซื้อของจาก แพลตฟอร์มขายสินค้า เช่น Shoppee Lazada ฯลฯ ก็จะง่ายหน่อยเพราะ เราสามารถดูได้จากรีวิวของลูกค้าเดิม แต่ถ้าซื้อจาก แพลตฟอร์มอื่น เราอาจจะต้องเช็คจากเว็บไซต์ของบริษัท หรือ ดูจากการตอบแชท เช็คจากปลายทางที่ให้โอนเงินว่าเคยมีประวัติโกงหรือไม่ ถ้าไม่เช็คก่อนเปย์ นอกจากจะเสียเงินแล้ว ทั้งเสียเวลา เสียใจ และเสียความรู้สึก ครบเลยนะคะ
- ใช้คูปองส่วนลด ส่งฟรี หรือซื้อในช่วงจังหวะที่มีโปรโมชั่น หลังจากที่เราล็อกเป้าหมายแล้วว่าอยากซื้อไอเท็มไหน ถ้าหากเรารอได้ หรือ มีข้อมูลโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ ก็จะสามารถทำให้เราซื้อได้ในราคาที่ถูกลงไปอีก เช่น เทศกาล 11.11 ป๊อกกี้เดย์ โค้ดส่งฟรี โค้ดซื้อครั้งแรก ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องไม่หลงไปกับอำนาจแห่งการตลาดคือ การหาข้อมูลเหล่านี้ อาจจะทำให้เราได้สอยของอื่นๆที่ไม่จำเป็นเพิ่มเติมมาก็เป็นได้ เพราะเห็นของถูกเยอะเต็มหน้าจอ ฉะนั้น ใจแข็ง และจดจ่อหาโปรโมชั่นส่วนลด แล้วรีบปิดจอ
- อย่าผูกบัตรเครดิต หรือผูกบัญชีธนาคารเอาไว้ในระบบจ่ายเงิน อันนี้นอกจากเรื่องของความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นอีกเคล็ดลับควบคุมการเปย์ออนไลน์ เพราะ ถ้าเราต้องมีหลายขั้นตอนกว่าที่จะจ่ายเงินเสร็จ เราจะมีเวลาคิดก่อนจ่ายมากขึ้น แล้วหลายครั้ง เราจะมีจังหวะฉุกคิดได้ว่า......ไม่ต้องซื้อก็ได้นี่หว่า จนขั้นสุดท้ายก่อนที่จะถึงสเต็ปคลิก “ยืนยันการจ่าย” เราก็จะเปลี่ยนใจไปแล้ว วิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยชีวิตสายเปย์ได้หลายครั้ง หลายครา
- เมื่อทำการช้อปจ่ายเงินไปแล้ว ให้ทำลิสต์รายจ่ายไว้ทุกครั้ง ว่าเราได้จ่ายซื้ออะไรไปบ้าง เพื่อเป็นการจดสิ่งที่เราซื้อไปแล้วจะได้ไม่ซื้อซ้ำ รวมทั้งเตือนตัวเองไปด้วยว่าเราเปย์ไปทั้งหมดเท่าไหร่แล้ว
- ตั้งเป้า ช้อปเดือนละครั้งก็พอ ยิ่งช้อปบ่อย ยิ่งเปย์หนัก เคยสังเกตมั้ยว่าทำไมพวกแพลตฟอร์มออนไลน์โฆษณาหนักมาก และหลอนมาก แทบจะทุกช่องทาง ทีวี วิทยุ ยูทูป บิลบอร์ดตามทางด่วน ฯลฯ ก็เพราะ เค้าต้องการให้ผู้บริโภคเกิดการนึกถึง และอยากเข้าไปช้อปบ่อยๆ เพราะจากสถิติการเข้าแอป ยิ่งบ่อยแค่ไหน ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการซื้อสินค้า ก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมผู้เขียนถึงชักชวนให้ผู้อ่านที่อยากควบคุมการเปย์ออนไลน์ ให้ตั้งเป้าให้กับตนเอง จำกัดจำนวนครั้งในการช้อปออนไลน์ต่อเดือน และถ้าจะให้ดี การตั้งโหมดเตือนควบคุมรายจ่ายตัวเองไว้ยิ่งดี
จริงๆ ผู้เขียนก็เคยเปย์ออนไลน์หนัก ไม่แพ้ผู้อ่านหลายๆท่าน เพราะ เมื่อเข้าวงการแล้วมันช่างยากเหลือเกินที่จะถอนตัวจากวงการ มันช่างสะดวก และ เพลิดเพลินยิ่งนัก แต่พอผู้เขียนเริ่มรู้ตัว ก็เลยค่อยๆสังเกตตัวเองถึงสาเหตุ และ ค้นหาวิธีการที่จะพยายามควบคุมไม่ให้การเปย์เกินเลย จึงออกมาเป็นสเต็ปต่างๆ ที่ได้มาแชร์กันข้างต้น ถ้าสังเกตให้ดี มันก็คือสรรหาวิธีการต่างๆที่จะควบคุมมารกิเลสในตนเองอย่างไร แล้วก็ผันมาเป็นวิธีการต่างๆ ที่จะค่อยๆ ฉุด หรือชะลอกิเลสมารเท่านั้นเอง สำหรับผู้อ่านท่านใดมีเคล็ดลับอะไรเพิ่มเติมควบคุมการเปย์ออนไลน์ที่ได้ผลกว่านี้ ก็สามารถมาแชร์กันได้นะคะ เผื่อจะได้ช่วยการสร้างชุมชนชนะมารช้อปออนไลน์ขึ้นมาด้วยกัน
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th