โดย สยมพร จิตตั้งสมบูรณ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ น้ำมันที่แพงขึ้นมากจนชักหน้าไม่ถึงหลัง ทั้งค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถแล้วกำลังถึงรอบจ่ายค่างวดรถแล้วจะทำไงดี
ก่อนอื่นต้องถามว่า "คุณผ่อนรถคันนี้มานานเท่าไรแล้ว" ถ้าคุณตอบว่านานแล้ว คุณต้องบอกได้ด้วยว่าผ่อนมาแล้วกี่ปี และตามสัญญาที่ทำไว้เหลืออีกกี่ปี และเมื่อเทียบราคาตลาดรถคันนี้นั้นมากกว่ามูลค่าหนี้สินที่มีไหม และประวัติการชำระหนี้ทุกอย่างที่มีกับทุกสถาบันทางการเงินเป็นปกติดี ไม่ล่าช้า ไม่พักชำระหนี้อยู่ รถคันนี้ช่วยคุณได้ แต่ถ้าจ่ายดีบ้างไม่ดีบ้าง คุณต้องตอบคำถามข้อต่อไป
"รถคันนี้มีความจำเป็นกับคุณมากแค่ไหน" ถ้าคุณสามารถวิเคราะห์ความจำเป็นแล้ว คุณยังมีมอเตอร์ไซด์ หรือรถคันอื่น หรือไปทำงานด้วยรถไฟฟ้าได้ ก็อาจต้องหาคนมาช่วยดูแลรถคันนี้ต่อ และไปติดต่อสถาบันทางการเงิน เพื่อเปลี่ยนผู้เช่าซื้อ เพื่อรักษาเครดิตไว้ออกรถคันใหม่ได้ในอนาคต ถ้าโชคดีอาจได้ส่วนต่างที่ผู้เช่าซื้อรถคนใหม่จ่ายให้มาช่วยแก้ปมนี้ได้ แต่ก่อนจะออกคันใหม่ คุณต้องรีบกลับมาวางแผนดูว่ารายรับกับรายจ่าย และปิดภาระดอกเบี้ยที่สูงๆ ให้หมดก่อน
ถ้าตอบแล้วว่าไม่มีรถคันอื่นยังไงก็ต้องใช้คันนี้ต่อไป คุณอาจพิจารณาการรีไฟแนนซ์รถคันนี้ ก่อนจะตัดสินใจรีไฟแนนซ์ ควรพิจารณาแนวทางการลดค่าใช้จ่าย หรือสามารถเจรจายืดระยะเวลาการผ่อนจากเจ้าเดิมก่อน ว่าพอมีแนวทางไหม ถ้าไม่มีจริงๆ จะเลือกวิธีการรีไฟแนนซ์ คุณต้องรู้ว่าดอกเบี้ยนั้นสูงกว่าดอกเบี้ยตอนออกรถมาก
วิธีการรีไฟแนนซ์ มีทั้งแบบจำนำเล่มทะเบียน หรือโอนเล่มทะเบียนคุณต้องพิจารณารายรับของคุณนั้นคงที่ตลอด พิจารณาทำแบบโอนเล่มทะเบียน วิธีนี้ คุณเป็นผู้รับภาษีมูลค่าเพิ่ม 7เปอร์เซ็นต์ไว้ ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม จะคูณกับ เงินต้นที่รวมดอกเบี้ยตลอดสัญญา ก่อนจะแบ่งซอยออกเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ทำไว้ เช่น ถ้าเลือกสัญญาไว้ 36 งวด ก็ต้องนำเงินต้นบวกดอกเบี้ยตลอดทั้ง 3 ปีแล้วค่อยมาคูณ 7 เปอร์เซ็นต์ แล้วหาร 36 เป็นต้น
แต่ถ้าคุณบอกว่าคุณจะมีรายได้ก้อนโตมาปิดก่อนกำหนด เช่น โบนัสสิ้นปี หรือเงินจากโครงการใหญ่ที่จะเข้ามาภายใน 10 เดือน และมั่นใจว่าเป็นคนจ่ายค่างวดทุกอย่างตรงเวลา แนะนำให้คุณลองพิจารณาแบบจำนำเล่มทะเบียนที่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเบี้ยที่เริ่มใช้ในหลายสถาบัน ซึ่งต่างกับสมัยก่อนคนที่จะทำแบบนี้ต้องเป็นคนที่ได้เล่มทะเบียนมาแล้วเท่านั้น แต่สมัยนี้มีทางเลือกแบบจำนำเล่มมาให้พิจารณาเพิ่ม อยากให้เลือกสถาบันที่น่าเชื่อถือ และต้องอ่านเนื้อหาในสัญญาให้เข้าใจก่อนทำทุกอย่าง
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th