โดย ณัฐศรันย์ ธนกฤตภิรมย์ นักวางแผนการเงิน CFP®
“หนี้” (Obligation) เป็นความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "เจ้าหนี้" มีสิทธิบังคับให้อีกฝ่ายซึ่งเรียก "ลูกหนี้" ทำหรือไม่ทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ได้
“หนี้สิน” (Debt) คือ เงินที่ผู้หนึ่งเรียกว่า "ลูกหนี้" ติดค้างอยู่จะต้องใช้ให้แก่อีกผู้หนึ่งเรียกว่า "เจ้าหนี้" เรียกสั้น ๆ ว่า หนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1.หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หมายถึง การซื้อสินทรัพย์เพื่อนำมาใช้ส่วนตัวในการอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการขอสินเชื่อจากธนาคาร หรือใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งหนี้สินกลุ่มนี้จะมีกระแสเงินสดจ่ายเพียงอย่างเดียวในแต่ละเดือน มีสมการ ดังนี้
กระแสเงินสดคงเหลือสุทธิ
รายได้ประจำ – ค่าใช้จ่ายประจำ - กระแสเงินสดจ่ายจากหนี้สิน
2.หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ หมายถึง การซื้อสินทรัพย์เพื่อลงทุน โดยการขอสินเชื่อจากธนาคาร หรือใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งหนี้สินกลุ่มนี้จะมีกระแสเงินสดจ่าย และรับในแต่ละเดือน มีสมการ ดังนี้
กระแสเงินสดคงเหลือสุทธิ
รายได้ประจำ – ค่าใช้จ่ายประจำ – กระแสเงินสดจ่ายจากหนี้สิน + กระแสเงินสดรับจากสินทรัพย์”
คำถาม คือ หนี้สองประเภทนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร
ตัวอย่าง
ลูกหนี้มีความสามารถในการกู้ยืมเป็นจำนวน 6,000,000 บาท โดยมีการจัดสรรเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (50%) และเพื่อใช้ส่วนตัว (50%) รายการละ 3,000,000 บาท ซึ่งมีระยะเวลาผ่อน 360 เดือน ผ่อนเดือนละ 20,000 บาท (กรณี ปล่อยเช่า ได้ค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท) และมีข้อมูลเพิ่มเติม คือ ผู้กู้มีรายได้หลัก 50,000 ต่อเดือน ค่าใช้จ่ายประจำ 25,000 บาท (ข้อมูลทางการเงินไม่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 360 เดือน) มูลค่าโดยระบุไปตามหนี้สิน 2 กลุ่ม ดังนี้
1.หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
กระแสเงินสดคงเหลือสุทธิ = รายได้ประจำ – ค่าใช้จ่ายประจำ - กระแสเงินสดจ่ายจากหนี้สิน
กระแสเงินสดคงเหลือสุทธิ
= 50,000 – 25,000 – 20,000
= 5,000 ต่อเดือน
2.หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้
กระแสเงินสดคงเหลือสุทธิ = รายได้ประจำ – ค่าใช้จ่ายประจำ – กระแสเงินสดจ่าย + กระแสเงินสดรับ
= 50,000 – 25,000 – 20,000 + 10,000
= 15,000 ต่อเดือน
จะเห็นว่ากระแสเงินสดรับต่อเดือนที่แตกต่างกันนั้น จะส่งผลต่อการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยเมื่อนำมูลค่าทรัพย์สิน ณ วันสิ้นงวด มารวมด้วย โดยหาจากสมการ ดังนี้
มูลค่าทรัพย์สิน ณ วัน สิ้นงวด = (กระแสเงินรับต่อเดือน * ระยะเวลา) + มูลค่าทรัพย์สิน ณ วันสิ้นงวด
กรณีที่ 1 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
= (5,000 * 360) + 6,000,000
= 1,800,000 + 6,000,000
= 7,800,000 บาท
กรณีที่ 2 หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้
= (15,000 * 360) + 6,000,000
= 5,400,000 + 6,000,000
= 11,400,000 บาท
ส่วนต่าง ของ กรณีที่ 2 - กรณีที่ 1
= 11,400,000 – 7,800,000
= 3,600,000 บาท
จากข้อมูลดังกล่าว หากเลือกบริหารจัดการหนี้ได้อย่างเหมาะสม หนี้สินนั้นจะทำให้คุณมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอีก 3,600,000 บาท ณ วันสิ้นงวดบัญชีของการผ่อนชำระ
ตารางการบริหารจัดการหนี้ 2 กลุ่ม (เพื่อการลงทุนและเพื่อใช้ส่วนตัว)
รายการ/รายละเอียดทรัพย์สิน | การจัดสรรเงิน ในกลุ่มสินทรัพย์ | |
100% | 50% : 50% | |
สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว | 6,000,000 | 3,000,000 |
สินทรัพย์เพื่อการลงทุน | 3,000,000 | |
กระแสเงินสดคงเหลือ (ต่อปี) | 60,000 | 180,000 |
มูลค่าสินทรัพย์ ณ วันสิ้นงวด | 7,800,000 | 11,400,000 |
ส่วนต่างของการจัดสรรเงิน | 3,600,000 |
สรุปได้ว่า “หนี้สิน” ไม่ได้เป็นการสร้างภาระเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีแฝงอยู่ข้างใน เพียงแค่คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะสร้างหนี้เพื่ออะไร และจะบริหารจัดการกระแสเงินสดต่อเดือนอย่างไร เพียงเท่านี้ “หนี้” ก็จะสามารถสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง :
“หนี้”
https://th.wikibooks.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89
งบดุลส่วนบุคคล (ประเภทสินทรัพย์เพื่อการลงทุน และสินทรัพย์ใช้ส่วนตัว)
https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/glossary
https://portal.set.or.th/th/investnow/article_life_style_investment/ep04.html
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th