โดย ชุติมา พงษ์เสน่ห์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTT™
วันเวลาผ่านไปไวมาก อิป้ารู้สึกเหมือนเหตุการณ์เกิดเมื่อวานนี้เอง เมื่อข้ามหลักเลขห้า ภาระในชีวิตลดลง มีเวลาทบทวนตัวเองมากขึ้น ลูกชายคนเดียวที่มีก็ผ่านการทำงานปีแรกดูแลตัวเองได้แล้ว
วันก่อนลูกเล่าว่า ได้ตัดสินใจซื้อโทรศัพท์ไอรุ่นล่าสุดด้วยบัตรเครดิตแบบผ่อน 0% 10 เดือน เพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ต้องทำงานที่บ้านมาเกือบตลอด โทรศัพท์เครื่องเดิมเริ่มไม่สะดวกต่อการทำงานแล้ว ราคาผ่อนต่อเดือนประมาณสี่พันห้าร้อยบาท นึกตกใจแต่ก็ยอมรับในเหตุผล จำนวนเงินที่ใช้ผ่อนประมาณ 13% ของรายได้แต่ละเดือน
นึกถึงเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วเมื่อตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก ด้วยเหตุผลว่าเป็นพนักงานขาย ช่วยให้สะดวกในการติดตามงาน ติดต่อลูกค้า ราคาเครื่องที่ตัดสินใจซื้อคือ 18,000 บาท จ่ายด้วยบัตรเครดิตเต็มจำนวน เงินเดือนตอนนั้นประมาณ 9,500 บาท ค่าคอมมิชชั่นออกทุกสามเดือน ไม่มีแบบผ่อน ต้องเตรียมวางแผนการใช้เงินให้พร้อม ให้มีเงินพอจ่ายทั้งจำนวนเมื่อถึงกำหนดชำระ เพราะค่าดอกเบี้ยที่บัตรเครดิตเรียกเก็บสูงมาก
มาเทียบกับเวลานี้เมื่อมีบัตรเครดิต สินค้าและบริการต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีโปรโมชั่น ยั่วใจให้ใช้จ่าย โน่นนี่นั่นอะไรก็อยากได้ สินค้าราคาหลักพันก็ยังมี 0% 10 เดือน ผ่อนน้อยหลักร้อยต่อเดือน นึกแล้วอิป้าก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าสมัยก่อนถ้ามีโปรโมชั่นยั่วใจแบบนี้จะทนไหวไหมนะ
เมื่ออิป้าแต่งงาน มีครอบครัวลูก 1 คนใช้ชีวิตด้วยแนวคิดทำงานใช้เงินตามที่มีแต่ไม่เป็นหนี้ มีเงินก็ใช้อยากได้ก็ซื้อ ไม่ค่อยมีเหลือเก็บ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อลูกอายุได้แปดขวบ จุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง
แม่ของอิป้าเป็นห่วงว่ายังใช้รถคันเก่าไม่ค่อยปลอดภัยแล้ว อยากให้ซื้อคันใหม่ที่พี่ชายใช้มาสองปี โดยจะขายให้ในราคาถูกมากพร้อมทั้งซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ในทำเลที่เมืองจะขยายออกไปในอนาคต
อิป้าก็ฟังเฉยๆ เพราะไม่มีเงินมากขนาดนั้นและไม่อยากเป็นหนี้ แต่แม่ตกลงเรื่องรถและที่ดินให้เรียบร้อย โดยออกเงินซื้อให้ก่อน แล้วให้ผ่อนชำระคืนให้แม่ทุกเดือน อิป้าจึงต้องตกกระไดพลอยโจนเป็นเจ้าของทรัพย์สินและลูกหนี้โดยปริยาย เวลานั้นอิป้ามีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่งฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ดอกเบี้ยเงินฝากไม่น่าเกินร้อยละ 1.5 ต้องจัดสรรเงินการใช้เงินใหม่ให้ทุกเดือนมีเงินจ่ายคืนแม่เดือนละ 20,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยแม่ร้อยละ 3 จ่ายอยู่หลายปีกว่าจะหมดหนี้ แต่มันคือจุดเริ่มต้นให้เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเงิน
มื่อลูกเริ่มเป็นวัยรุ่นอิป้าหยุดทำงานประจำ ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ดูแลลูก ดูแลเรื่องเงินในครอบครัวอย่างจริงจัง และเริ่มตกใจว่าครอบครัวแทบไม่มีเงินเก็บออม จึงได้เริ่มฝากเงินทุกเดือนด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน บัญชีแบบนี้จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าบัญชีเงินฝากทั่วไปและไม่หักภาษีดอกเบี้ยแต่ให้มีได้แค่คนละ 1 บัญชีเท่านั้น เงื่อนไขคือต้องฝากเท่ากันทุกเดือน ขั้นต่ำสุดคือเดือนละ 1,000 บาทและสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และไม่ให้เบิกถอนระหว่างทาง
อิป้าก็คิดเอาแบบง่ายๆ ว่าถ้าไม่ให้ถอนแต่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ก็ปิดบัญชีได้ไม่ได้ดอกเบี้ยก็ไม่เป็นไร เพื่อความมั่นใจว่ามีเงินฝากแน่นอนทุกเดือนเลยเริ่มต้นฝากที่เดือนละ 1,000 บาท เวลานั้นยังต้องไปธนาคารเองทุกเดือนเพื่อฝากเงินที่เคาน์เตอร์
รู้สึกว่ามันนานมากกว่าจะครบ 2 ปี ได้เงินเมื่อครบกำหนดมา สองหมื่นสี่พันกับเศษประมาณเจ็ดร้อยกว่าบาทจากดอกเบี้ย จำนวนเงินรวมไม่มาก แต่สิ่งที่ได้มาคือความรู้สึกว่าเราทำสำเร็จ ออมก่อนใช้ก็ทำได้ ความมั่นใจเริ่มมา เลยตัดสินใจเริ่มเงินฝากรอบใหม่มาต่อเนื่อง
จากครอบครัวที่เคยต่างคนต่างจัดการเงินรายได้ของตนเอง ก็เปลี่ยนมาเป็นอิป้าจัดการเงิน รายได้สูงขึ้นภาษีเงินได้ก็สูงตาม ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี นอกเหนือจากการทำประกันชีวิตก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับกองทุนลดหย่อนภาษี จึงได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนอื่นๆ พัฒนาตัวเองมาต่อเนื่อง เรียนรู้การวางแผนทางการเงิน วางเป้าหมายการเงิน
จัดการเรื่องเงินในครอบครัวมาจนถึงวันนี้อิป้ามั่นใจว่า ได้พยายามมองรอบด้านมากเพียงพอที่จะรับความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน พร้อมรับการเกษียณทั้งที่มาแบบไม่ทันตั้งตัวและต้องยืดเวลาเกษียณออกไปแล้ว มีเงินเพียงพอที่จะดูแลชีวิตและสุขภาพในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีคุณภาพชีวิตตามสมควร
จากการทบทวนชีวิต อิป้าพบว่าตัวเองโชคดีที่พบจุดเปลี่ยน ไม่มีความสำเร็จในการออมแบบใดเกิดได้โดยไม่เริ่มต้นลงมือทำ และเรียนรู้ต่อเนื่อง
วินัยในการออมเป็นเรื่องที่ต้องฝึก และเมื่อเราทำสำเร็จในเป้าหมายแรก เป้าหมายต่อๆไปก็จะไม่ยากเกินความพยายาม เราอาจจะตั้งเป้าหมายทางการเงินให้ตัวเองได้ร้อยแปด กดเครื่องคิดเลขทำแผนทางการเงิน เปิดตำราสารพัด แล้วอาจ
จะเขียนเป้าหมายมาแบบนี้ แต่ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติ เป้าหมายก็คงจะเป็นเพียงรูปสวยๆ บนแผ่นกระดาษเท่านั้นเอง
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อิป้าอยากทำแบบนี้เมื่อเริ่มมีลูก
แม้ว่าจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ บางอย่างได้ทำแล้ว บางอย่างไม่เคยทำ แต่อาจจะช่วยเปิดใจคนที่จะเป็นพ่อแม่ที่อาจจะไม่เคยนึกถึงมุมมองนี้ การจะสอนลูกได้พ่อแม่จะต้องลงมือทำ เพื่อเรียนรู้ปรับปรุงกระบวนการและเป็นต้นแบบ เรามักจะนึกกันว่า เรื่องแบบนี้ทำไมโรงเรียนไม่สอน ทำไมไม่มีในหลักสูตรการศึกษา แต่ในมุมที่อิป้าเห็น นิสัยการออมไม่ใช่แค่การสอนในโรงเรียน จะเป็นนิสัยได้ต้องฝึก ต้องปลูกฝัง และต้องตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการออม ออมอย่างมีเป้าหมาย และเรียนรู้ว่าจะใช้วิธีไหนที่ทำให้บรรลุเป้าหมายการออมนั้นตามที่ตั้งใจ
เมื่อต้องมีการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออมก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมและหมั่นปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัยสม่ำเสมอ การเริ่มต้นแต่วัยเด็กจากครอบครัวจึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้มั่งคั่ง มั่นคง และส่งต่อได้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th