โดย สิรภัทร เกาฏีระ นักวางแผนการเงิน CFP®
ในปัจจุบันความรู้ทางการเงิน มีความจำเป็นอย่างมากในการใช้ชีวิต เนื่องจากเราทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น การเก็บออมเงิน การซื้อประกัน การจ่ายภาษี หรือ การวางแผนเกษียณ ฯลฯ ซึ่งในแต่ละคน จะมีความรู้และทัศนคติในเรื่องการเงินที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะใน 3 เรื่องการเงิน ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด
เรื่องที่ 1 : “จะออมทั้งที ต้องเลือกผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ ถึงจะดี” ในความเป็นจริง การออมเงินไม่จำเป็นต้องเลือกผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงเสมอไป โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์การเงินให้สอดคล้องกับ “เป้าหมายการออม” และ “ระยะเวลาการออม” ที่เหมาะสม เช่น
ยกตัวอย่าง :
หากเรามีเป้าหมายเก็บออมระยะสั้น (1 ปี) แต่ไปเลือกใช้ผลิตภัณฑ์การเงินระยะยาว คือ กองทุนรวมหุ้น โดยคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีอาจจะทำให้เงินออมของเราขาดทุน และทำให้พลาดเป้าหมายการออมนี้ไป
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
การออมเงินไม่ควรมองเฉพาะเรื่องผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ควรเลือกผลิตภัณฑ์ออมเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายและระยะเวลาการออม
เรื่องที่ 2 : “วางแผนเกษียณ เป็นเรื่องของคนแก่”
หนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงเริ่มทำงานมักมองว่า เรื่องวางแผนเกษียณ เป็นเรื่องที่ไกลตัว ยังไม่จำเป็นต้องรีบวางแผนเก็บเงิน เพราะยังมีเวลาอีกเยอะ แต่ในความเป็นจริง คนทำงานทุกคนต้องมีวันที่เกษียณจากการทำงาน การเริ่มเก็บเงินตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้สามารถวางแผนเก็บเงินได้เพียงพอ สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเกษียณอายุ ในทางกลับกัน หากเริ่มวางแผนเก็บเงินเกษียณช้า ก็จะทำให้มีโอกาสเก็บเงินไม่เพียงพอ ตลอดการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ยกตัวอย่าง :
หากเราเริ่มวางแผนเก็บเงินเกษียณตอนอายุ 50 ปี ตั้งใจว่าจะเกษียณอายุจากการทำงานตอนอายุ 60 ปี ซึ่งวางแผนใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณอายุ 61-80ปี จะสังเกตว่า กรณีนี้เรามีระยะเวลาเก็บเงินเหลืออีกประมาณ 10 ปี เพื่อให้มีเงินพอใช้ต่อไปอีก 20 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และอาจจะเก็บเงินไม่พอสำหรับการใช้จ่ายช่วงหลังเกษียณ
ความเข้าใจที่ถูกต้อง : วางแผนเกษียณ เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ควรเริ่มวางแผนตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำงาน
เรื่องที่ 3 : “การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ คือ การจ่ายเบี้ยทิ้ง”
หลายคนมักมองว่าการซื้อประกันสุขภาพ เป็นการจ่ายเบี้ยทิ้ง ถ้าหากเราไม่ป่วยจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป แต่ในความเป็นจริง การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ คือ การซื้อคุ้มครองสำหรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ยกตัวอย่าง :
ในวันที่ใกล้เกษียณอายุจากการทำงาน หากว่าเราเก็บเงินก้อน เพื่อเกษียณได้ตามเป้าหมายสำเร็จแล้ว แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น คือ เจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก และต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องถอนเงินก้อนที่เราเตรียมไว้ใช้สำหรับเกษียณ มาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ทำให้เราแผนที่เราเตรียมเงินไว้ใช้ ช่วงหลังเกษียณอายุผิดพลาดไป
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
ประกันสุขภาพ คือการวางแผนความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เป็นการใช้ “เงินก้อนเล็ก เพื่อปกป้องเงินก้อนใหญ่”
จะเห็นได้ว่า 3 เรื่องการเงินนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คนมักเข้าใจผิดกัน อย่างไรก็ตามเราทุกคน ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเงินอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ดั่งคำว่า “สุขภาพการเงินดี ชีวิตดี”
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th