โดย วินย์ ฉายศิริโชติ นักวางแผนการเงิน CFP®
อาจารย์ประจำหลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เมื่อครั้งที่แล้ว ได้นำเสนอเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน” ในบทความนี้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้รับเมื่ออกจากงานกันต่อครับ
เงินได้ส่วนนี้นำไปเป็นฐานซื้อ SSF/RMF/ประกันบำนาญ ได้หรือ
เรื่องนี้น่าจะเป็นคำถามในใจหลายท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณ คำถามนี้ตอบได้เลยว่า “ได้” เพราะฐานในการซื้อ SSF/RMF รวมถึงเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ในการลดหย่อนภาษี คือ “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี” ไม่ว่าจะรวมคำนวณภาษีในแบบ ภ.ง.ด. 90/91 หรือแยกคำนวณภาษีก็ตาม ซึ่งทุกท่านสามารถระบุจำนวนเงินได้ส่วนนี้ได้ที่ข้อ 10 ของแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือท้ายแบบ ภ.ง.ด. 91
สำหรับเงินได้ประเภท (ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานนั้น หากเป็นกรณีให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ และไม่ใช่กรณีเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับยกเว้นภาษีไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้น หากได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง เงินได้ส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวนี้ก็จะไม่สามารถรวมเป็นฐานในการซื้อ SSF/RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
แยกคำนวณภาษีในใบแนบ หักค่าใช้จ่ายอย่างไร
“การคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้แต่ละประเภทจะมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน” คือ หากเป็นเงินได้ประเภท (ก) (ข) หรือ (ค) จะสามารถนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน แต่หากเป็นเงินได้ประเภท (ง) คือเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานในลักษณะอื่น ๆ นอกจากบำเหน็จข้าราชการ เงินกองทุน PVD/กบข./RMF for PVD หรือเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะต้องนำเงินได้มาเปรียบเทียบกับเงินเดือนเดือนสุดท้าย (ซึ่งมีเพดานอีกเช่นกัน คือ ไม่เกินเงินเดือนถัวเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้าย บวกด้วย 10%) คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน (หากมีเศษของปีที่เกิน 183 วัน จะปัดขึ้นเป็น 1 ปี แต่หากเศษไม่ถึง 183 วันให้ปัดทิ้ง)
ส่วนกรณีผู้พิการหรือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ต้องการหักยกเว้นเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 190,000 บาท นั้น ในการแยกคำนวณภาษีในใบแนบก็จะยังคงได้สิทธินี้ (เลือกใช้สิทธิจากเงินได้ประเภทใดจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 190,000 บาท) แต่การหัก 190,000 บาทนี้จะไม่กระทบต่อการนำเงินได้เป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายครับ
สำหรับการคำนวณค่าใช้จ่ายจะมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก หักค่าใช้จ่ายในอัตรา 7,000 บาท คูณจำนวนปีที่ทำงาน และ ขั้นตอนที่ 2 นำเงินได้ที่เป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังหักค่าใช้จ่ายขั้นตอนแรก หักค่าใช้จ่ายอีกครึ่งหนึ่งของเงินได้ที่เหลือดังกล่าว จากนั้น เมื่อนำค่าใช้จ่ายที่ได้จากทั้ง 2 ขั้นตอนมารวมกัน แล้วหักออกจากเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานทั้งหมด ก็จะเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำไปแยกคำนวณภาษีในใบแนบ แต่หากได้รับเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินบำเหน็จส่วนหนึ่งและเงินบำนาญอีกส่วนหนึ่ง จะแยกคำนวณภาษีตามวิธีนี้ได้เฉพาะเงินบำเหน็จเท่านั้น และอัตราค่าใช้จ่าย 7,000 บาท ในการหักค่าใช้จ่ายขั้นแรก จะลดลงเหลือ 3,500 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน
แยกคำนวณภาษีแบบนี้ จะได้รับยกเว้น 150,000 บาทแรกไหม
เมื่อทราบจำนวนเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงาน และรวมค่าใช้จ่ายที่หักได้ทั้ง 2 ขั้นตอนจากเรื่องที่แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการคำนวณภาษีตามอัตราภาษีขั้นบันได 5-35% แต่การแยกคำนวณภาษีในใบแนบนี้ จะไม่ได้รับยกเว้นเงินได้ 150,000 บาทแรก เพราะการยกเว้นเงินได้ 150,000 บาทแรกจะใช้กับการคำนวณภาษีด้วยวิธีปกติในแบบ ภ.ง.ด. 90/91 เท่านั้น ดังนั้น ตารางอัตราภาษีเงินได้จะเป็น ดังนี้
เงินได้สุทธิ (บาท) | เงินได้สุทธิ สูงสุดของขั้น |
อัตราภาษี | ภาษีในแต่ละขั้นเงินได้ | ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น |
ไม่เกิน 300,000 | 300,000 | 5% | 15,000 | 15,000 |
เกิน 300,000 ถึง 500,000 | 200,000 | 10% | 20,000 | 35,000 |
เกิน 500,000 ถึง 750,000 | 250,000 | 15% | 37,500 | 72,500 |
เกิน 750,000 ถึง 1,000,000 | 250,000 | 20% | 50,000 | 122,500 |
เกิน 1,000,000 ถึง 2,000,000 | 1,000,000 | 25% | 250,000 | 372,500 |
เกิน 2,000,000 ถึง 5,000,000 | 3,000,000 | 30% | 900,000 | 1,272,500 |
เกิน 5,000,000 บาท ขึ้นไป | 35% |
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ นายจ้างผู้จ่ายเงินได้จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามจำนวนที่คำนวณได้ ดังนั้น หากไม่มีอะไรผิดพลาด ทุกท่านก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล แต่หากมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง จะต้องนำภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม/ชำระไว้เกิน ไปกรอกในแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ด้วย
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th