โดย ปีย์วรงค์ เชี่ยววณิชชา ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
แม้ว่าการพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว จะนำมาซึ่งความเศร้าโศก แต่บางครั้งการได้รับมรดกจากผู้ล่วงลับ อาจสร้างความทุกข์ใจได้ จึงควรศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อเตรียมส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาทหรือผู้สืบสันดานไปพร้อมกับความสุขและความสบายใจ
มรดก(1) หมายถึง “ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สิน เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” ซึ่งสามารถเป็นทรัพย์สินในรูปแบบใดก็ได้ เช่น เงินฝาก หลักทรัพย์ ยานพาหนะ อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2.558 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีหากได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น ในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ในอัตราสูงสุดร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 และได้รับยกเว้นภาษีมรดกสำหรับคู่สมรสจดทะเบียนตามกฎหมาย โดยผู้รับมรดกจะต้องชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันที่ได้รับมรดก และสามารถเลือกผ่อนจ่ายได้สูงสุด 5 ปี โดยมีภาระเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือนสำหรับการผ่อนตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป หากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ หรือหากยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ”
ตัวอย่าง ทายาทได้รับมรดกเป็นเงินสดมูลค่า 200 ล้านบาท จะคิดเป็นภาษีที่ต้องชำระในอัตราสูงสุด 5 ล้านบาท ภายใน 150 วัน หรือผ่อนจ่ายได้สูงสุด 5 ปี พร้อมเงินเพิ่มประมาณ 1.5 ล้านบาทหากไม่สามารถชำระภาษีทั้งหมดได้ใน 2 ปีแรก และหากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด จะเสียเบี้ยปรับ 5 ล้านบาท หรือหากยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน จะเสียเบี้ยปรับอีก 2.5 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้นับว่าโชคดีที่ได้รับมาเป็นเงินสด สามารถนำเงินสดที่เป็นมรดกนั้นไปชำระภาษีได้ทันที แต่ทายาทก็จะไม่ได้รับมรดกเท่ากับที่เจ้ามรดกได้ตั้งใจส่งต่อไว้ให้แต่แรก
หากผู้รับมรดกไม่ได้เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน แต่เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม ได้รับเป็นบ้านและที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงแต่แปลงเป็นเงินสดได้ยาก เช่น ที่ดินราคาประเมิน 200 ล้านบาทเพียงอย่างเดียว ผู้รับมรดกจะต้องมีภาระนำเงินสดจำนวน 10 ล้านบาทมาชำระภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับมรดก ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมการโอนร้อยละ 2 ของราคาประเมิน หรือ 4 ล้านบาท ซึ่งผู้รับมรดกอาจจะไม่ได้มีเงินสดมากพอ หรือเป็นไปได้ยากที่จะสามารถขายที่ดินดังกล่าวเพื่อแปลงเป็นเงินสดมาชำระภาษีได้ทันก่อนมีเบี้ยปรับตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น หากเจ้ามรดกไม่อยากให้ทรัพย์มรดกของตนเป็นทุกขลาภแก่บุพการี ทายาทผู้สืบสันดาน หรือผู้รับพินัยกรรม ควรวางแผนการจัดการทรัพย์สิน ดังนี้
หนึ่ง เจ้ามรดกควรพิจารณาผ่องถ่ายทรัพย์สินบางอย่างให้กับทายาท โดยอาศัยข้อกำหนดในมาตรา 48 เรื่องภาษีการรับให้ว่า “บุพการีสามารถยกหรือโอนทรัพย์สินของตนให้กับผู้สืบสันดานได้ โดยผู้สืบสันดานนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หากมีมูลค่าเกินกว่านั้น ผู้สืบสันดานต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5” เพราะฉะนั้นก่อนเสียชีวิต บุพการีที่ตั้งใจจะยกที่ดินราคาประเมิน 200 ล้านบาทให้กับทายาทคนหนึ่ง สามารถจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงย่อย แล้วทยอยโอนให้กับทายาทที่ตั้งใจไว้ โดยมีมูลค่ารวมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จนกว่าที่ดินผืนดังกล่าวจะเหลือมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท จึงทิ้งไว้เป็นมรดกได้ พร้อมดูแลค่าธรรมเนียมการโอนในอัตราร้อยละ 0.5 ในแต่ละครั้งให้กับทายาทด้วย
สำหรับเจ้ามรดกที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาทและต้องการมอบให้กับผู้รับมรดกตามพินัยกรรม สมควรอย่างยิ่งที่จะวางแผนผ่องถ่ายทรัพย์สินต่างๆ ให้เหลือมูลค่าเป็นมรดกน้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เสียภาษีมรดกร้อยละ 10 ในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทนั้น โดยในการโอนทรัพย์สิน เจ้ามรดกต้องพึงระวังว่า การให้โดยเสน่หากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุพการี ทายาทหรือผู้สืบสันดาน จะได้รับยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ถ้าเกินกว่านั้นจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งก็ยังน้อยกว่าอัตราภาษีมรดกในกรณีนี้อยู่ดี
สอง เจ้ามรดก ควรพิจารณาทำพินัยกรรมโดยละเอียดถี่ถ้วน หากตั้งใจมอบทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทให้กับผู้รับมรดกรายใดรายหนึ่ง ควรเพิ่มมรดกในส่วนที่เป็นเงินสดอีกร้อยละ 5 - 10 ของมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อเพิ่มเงินสดสภาพคล่องให้ผู้รับมรดกใช้เสียภาษีและเสียค่าธรรมเนียมดำเนินการต่าง ๆ เป็นการลดภาระของผู้รับมรดกในอนาคตได้ หรือหากเจ้ามรดกไม่ได้เตรียมเงินสดไว้ตั้งแต่แรก การทำประกันชีวิต แล้วกำหนดทุนชีวิตให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้รับมรดกที่ได้ถูกระบุชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จะได้รับเงินค่าสินไหมมรณกรรมโดยตรงทันทีที่เจ้ามรดกผู้เอาประกันเสียชีวิต ก็จะสามารถประหยัดเงินมรดกที่ต้องเตรียมล่วงหน้าไว้ได้
ดังจะเห็นได้ว่า เจ้ามรดกที่มีทรัพย์สินมาก อาจสร้างปัญหาให้กับผู้รับมรดกในอนาคตได้ หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายภาษีมรดกและการรับให้ รวมถึงหากไม่มีการทำพินัยกรรมที่ละเอียดถี่ถ้วนรองรับไว้ด้วย
ดังนั้น เพื่อให้ผู้เป็นที่รักได้ส่งต่อทรัพย์สินตามที่ตั้งใจและมีความสงบสุขในสัมปรายภพ การวางแผนภาษีและมรดกเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาจัดทำขึ้นร่วมกับทนายวิชาชีพหรือที่ปรึกษาการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิจากสมาคมนักวางแผนการเงินก่อนที่จะสายเกินไป
(1) อ้างอิงความหมายตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th