โดย สิทธิชัย สิงห์ทอง ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
ช่วงเวลาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันการใช้ชีวิตร่วมกันของชายและหญิงที่เรียกว่าคู่สมรสหรือคู่สามีภรรยาจะมีการความผูกพันทางกฏหมาย คือ ใช้การจดทะเบียนสมรส เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิและประโยชน์ที่ได้รับตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งหากมีบุตรก็จะได้สิทธิและประโยชน์ตามกฏหมายเช่นเดียวกัน
แต่ก็ยังมีคู่สามีภรรยาอีกบางส่วนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส คือ เป็นการใช้ชีวิตรวมกันแต่ไม่มีข้อผูกพันหรือความสัมพันธ์ทางกฏหมายแต่อย่างใด ซึ่งในระหว่างที่อยู่กินกันนั้นหากฝ่ายภรรยาเกิดตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร บุตรที่เกิดขึ้นจะถือว่าเป็นบุตรนอกกฏหมายหรือบุตรนอกสมรส
บุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรส คือ บุตรที่เกิดจากหญิง - ชาย หรือมารดากับ บิดา ที่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่บุตรที่เกิดขึ้นนั้นทางกฎหมายจะถือว่าเป็นบุตรของมารดาและมีสิทธิได้รับมรดกจากมารดาเสมอ
คำถามตามมา คือ ในส่วนของมรดกของฝ่ายบิดา บุตรที่เกิดขึ้นจะมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งในทางกฏหมายระบุไว้ว่าบุตรที่เกิดจากการที่บิดาและมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกจากบิดา
ทางออกของปัญหานี้ คือ ฝ่ายบิดาจะต้องไปยื่นจดทะเบียนรับรองบุตรหรือยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาออกมาให้บุตรนั้นเป็นของฝ่ายบิดา ก็จะทำให้สถานภาพของบุตรนอกสมรสเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมาย มีสิทธิได้รับมรดกจากฝ่ายบิดา ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราที่ 1627 ที่วางหลักไว้ว่า บุตรนอกกฏหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฏหมาย นอกจากวิธีการยื่นจดรับรองบุตรยังมีพฤติกรรมบางอย่างที่จะสามารถรับรองบุตรนอกกฏหมายให้กลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายโดยปริยายได้ เช่น การ ให้บุตรใช้นามสกุล ของบิดา หรือ การไปแจ้งในใบเกิดของบุตรว่าเป็นบิดา หรือ การพาเข้าโรงเรียนไปรับ - ไปส่ง หรือการส่งเสริมเลี้ยงดูอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นปกติ ก็จะส่งผลให้จากบุตรนอกกฎหมายหรือนอกสมรสได้รับการรับรองให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของบิดาเช่นกัน
หากบิดาเกิดเสียชีวิตและมีการแบ่งทรัพย์มรดก ก็จะมีสิทธิในการรับมรดกของบิดาเพราะถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 เช่นเดียวกับบุตรตามกฎหมายของบิดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629
นอกจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีอีกวิธีที่เป็นผลดีและเป็นการลดปัญหาความยุ่งยากทางกฏหมาย คือ ให้ฝ่ายบิดาทำพินัยกรรมระบุชื่อบุตรดังกล่าวเป็นทายาทที่ได้รับมรดกตามพินัยกรรมจะทำให้บุตรนอกกฏหมายสามารถรับมรดกตามเจตนาและความต้องการของฝ่ายบิดาได้อย่างชัดเจน
กล่าวโดยสรุปคือบุตรนอกกฎหมายหรือบุตรนอกสมรสจะมีสิทธิที่เกิดตามธรรมชาติ คือ เป็นบุตรของฝ่ายมารดา มีสิทธิในการรับมรดกของมารดา แต่ในส่วนของบิดาจะต้องมีการรับรองตามกฎหมาย โดยการไปจดทะเบียนรับรองบุตร มีคำสั่งศาล หรือฝ่ายบิดามีพฤติกรรมที่แสดงออกโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าบุตรที่เกิดดังกล่าวเป็นบุตรของตน ซึ่งจะทำให้บุตรเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิที่จะได้รับมรดกของฝ่ายบิดาตามความต้องการ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th