โดย ณัฐพล ควรสถิตย์ นักวางแผนการเงิน CFP®
POSSIBLE Wealth Advisory Services
หลายคนมักคิดว่าการจัดการภาษีเป็นเรื่องที่สามารถทำเมื่อไรก็ได้ เพียงแค่จัดการให้ทันภายในสิ้นปีของทุกๆ ปี ส่วนจะจัดการอย่างไร จะลดหย่อนด้วยสินค้าทางการเงินอะไร เป็นปริมาณเท่าไร ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดในช่วงนั้นๆ หรือบางคนมีการจัดการที่ดีขึ้นอีกขั้น เตรียมจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับการซื้อสินค้าทางการเงินเพื่อการลดหย่อนภาษี
หากถามว่าสิ่งที่กล่าวมานั้น คือ การจัดการภาษีที่เรียบร้อยหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ เป็นการจัดการภาษีที่เรียบร้อย แต่อาจจะยังไม่ใช่วิธีการจัดการภาษีอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด
ดังนั้น เพื่อให้การจัดการภาษีมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่สุด ต้องเปลี่ยนจากการจัดการภาษี เป็น “การวางแผนและจัดการภาษี”
อ่านดูเผินๆ เหมือนจะเพิ่มแค่คำว่า “วางแผน” แต่ผลประโยชน์ที่ได้มีมากมายแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการวางแผนจัดการภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่รอจนกระทั่งโค้งสุดท้ายของปีภาษี
อาจสงสัยว่าเพียงแค่การวางแผนภาษีจะมีประโยชน์อะไรมากมาย จะจัดการภาษีช่วงไหน จะทยอยจัดการหรือจัดการทีเดียวช่วงปลายปี สุดท้ายไม่น่าจะมีความแตกต่างกัน หากปริมาณค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีไม่แตกต่างกัน มาลองดูถึงข้อดีและข้อได้เปรียบ ว่าถ้าหากผู้มีภาระภาษีมีการวางแผนจัดการภาษีที่ดีและมีการเริ่มต้นจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถจัดสรรปัจจัยต่างๆ อะไรได้บ้าง
จัดสรรแผนการจัดการได้อย่างครอบคลุม แนวทางที่ดีสำหรับการเริ่มต้นวางแผนภาษีคือ การที่คุณสามารถคาดการณ์ถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่จะมีผลกระทบทั้งในเชิงบวก และเชิงลบกับภาระภาษี ฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในชีวิตที่มีโอกาสจะกระทบกับภาระภาษี ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถประเมินหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ อาจจะไม่แน่นอน 100% แต่ถ้าจะรอสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แล้วต้องมาปรับเพิ่มค่าลดหย่อนต่าง ๆ ปลายปี อาจจะไม่ทันการ ไม่ว่าจะเหตุผลด้านความพร้อมของกระแสเงินสด ความพร้อมของเวลา เป็นต้น
จัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ผู้มีภาระภาษีสามารถจัดสรรเวลา แบ่งมาจัดการภาษีได้อย่างเหมาะสม เพราะมีการวางแผนล่วงหน้าและทยอยลงมือจัดการมาโดยตลอดปีภาษี ขณะที่อีกคนหนึ่งต้องมานั่งกังวล เร่งรีบหาสินค้าทางการเงิน เปรียบเทียบสินค้าทางการเงิน ใช้เวลาไปกับการจัดการภาษีที่ใกล้จะหมดเวลาเต็มที และอีกปัจจัยที่เชื่อว่าอาจเคยประสบพบเจอ คือ ในช่วงปลายปีจะมีวันหยุดค่อนข้างเยอะ สินค้าทางการเงินบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางการเงินประเภทกองทุน โดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศบางกองที่อยากจะลงทุน แต่ติดวันหยุดยาว สุดท้ายต้องไปซื้อกองทุนกองอื่น โดยที่ไม่เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริง
จัดสรรกระแสเงินสดได้อย่างลงตัว ผู้มีภาระภาษีที่มีการวางแผนจัดการภาษีแต่เนิ่น ๆ ย่อมสามารถจัดสรรกระแสเงินสดได้อย่างเหมาะสม เพราะอย่าลืมว่ากระแสเงินสดรับที่เข้ามาไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพใด เป็นผู้มีเงินได้ 40(1) – 40(8) ส่วนใหญ่แล้วมักจะทยอยเข้ามาตลอดทั้งปี อาจจะเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน แต่เชื่อว่าน้อยคนที่จะรับรายได้ก้อนเดียวปลายปี ดังนั้น การทยอยจัดการลดหย่อนภาษีไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ในรูปแบบของ DCA (Dollar-Cost Average) หรือแบ่งช่วงเวลาในการซื้อสินค้าลดหย่อนอื่น ๆ ย่อมช่วยให้ผู้มีภาระภาษีสามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รัดตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้มีเงินได้ 40(5) – 40(8) ที่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ดังนั้น การไม่วางแผนจัดการภาษีให้ดีย่อมส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดตั้งแต่การยื่นภาษีครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน
ข้อนี้สำหรับผู้มีเงินได้ 40(1) ลูกจ้างสามารถแจ้งสิทธิค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนที่จะใช้หักได้ตั้งแต่ต้นปีเพื่อที่นายจ้างจะสามารถคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างในปริมาณที่ถูกต้องตามข้อกำหนด และวิธีการของกรมสรรพากร1 ซึ่งเมื่อเทียบกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยไม่รวมสิทธิการลดหย่อนภาษี
ลูกจ้างที่มีการวางแผนจัดการภาษี และมีการแจ้งสิทธิแก่นายจ้าง ย่อมโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายน้อยกว่า และมีกระแสเงินสดส่วนเพิ่มสามารถนำไปจัดการแผนการเงินต่อ
และสำคัญที่สุด อยากให้ทุก ๆคนที่มีภาระภาษีต้องจัดการ ตระหนักไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้นั้น ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ไม่ใช่แต่เพียงด้านภาษีเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภทล้วนมีประโยชน์ และมีวัตถุประสงค์ตามคุณลักษณะเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นๆ
ดังนั้น อย่าให้การซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการลดหย่อนภาษีเป็นเพียงการจ่ายเงินหรือลงทุนไปเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น แต่อยากให้ทุกคนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ โดยอิงจากแผนทางการเงินที่จัดการมาอย่างรอบคอบและได้รับผลพลอยได้ของสินค้าทางการเงินนั้นๆ ในรูปของสิทธิประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษี
หากอ่านถึงตรงนี้และมีความต้องการเริ่มวางแผนจัดการภาษี ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ควรลงมือทำได้ทันที เชื่อเลยว่าจะได้เห็นถึงข้อได้เปรียบ ข้อดี และเห็นข้อแตกต่าง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านๆ มา และสุขภาพทางการเงินจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิง
(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.96/2543 (https://www.rd.go.th/3558.html)
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th