โดย คุณณัฐลักษณ์ กาญจนวิโรจน์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
สมัยนี้การทำพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปแล้ว คนยุคใหม่มีความเข้าใจเรื่องพินัยกรรมมากขึ้นและเห็นถึงประโยชน์ของการทำพินัยกรรม อย่างไรก็ดีเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่เราพบว่ามีหลายกรณีศึกษาที่พินัยกรรมที่ถูกทำขึ้นแล้วนั้นกลับกลายเป็นไม่มีผลทางกฏหมายเพราะเป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ โดยพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์นั้นอาจเกิดได้จากการที่ผู้ทำไม่เข้าใจข้อบังคับของการทำพินัยกรรมหรือไม่ได้ศึกษารูปแบบของพินัยกรรมแต่ละแบบรวมถึงเกิดความประมาทเลิ่นเล่อในระหว่างที่ทำพินัยกรรม ดังนั้นวันนี้เราจึงจะมาพูดถึง 5 ข้อผิดพลาดที่มักพบได้บ่อยๆที่ทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์
1. ความไม่สมบูรณ์ของพยานในพินัยกรรม
พยานในพินัยกรรมถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญและมีผลต่อความสมบูรณ์ของพินัยกรรมมาก เพราะกฏหมายกำหนดให้พินัยกรรมแทบทุกประเภทยกเว้นเพียงแต่พินัยกรรมแบบเขียนด้วยลายมือเท่านั้นต้องมีพยาน ซึ่งพยานในพินัยกรรมนั้นต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ โดยอาจจะเป็นผู้อายุ 20 ปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสก็ได้ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นบุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญมากคือพยานและคู่สมรสของพยานจะต้องไม่เป็นผู้รับผลประโยชน์ในพินัยกรรมนั้นด้วย และหากเลือกทำพินัยกรรมแบบที่ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน ควรตรวจสอบทุกปีว่าพยานยังมีชีวิตอยู่ครบ 2 คนหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นตอนเปิดพินัยกรรมหากพยานไม่มีชีวิตอยู่ครบ 2 คนแล้วพินัยกรรมก็จะไม่สมบูรณ์ได้
2. ความไม่สมบูรณ์ของ วันเดือนปี ที่ทำพินัยกรรม
วันเดือนปี ที่ทำพินัยกรรมถือเป็นสาระสำคัญของพินัยกรรม และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ วันเดือนปี ในการทำพินัยกรรมสามารถบอกได้ว่าในขณะที่ทำพินัยกรรมผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่หรือไม่และขณะที่ทำยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนหรือไม่ นอกจากนี้ในกรณีที่มีพินัยกรรมหลายฉบับ วันเดือนปี จะช่วยบอกว่าพินัยกรรมฉบับไหนทำก่อนฉบับไหน และในกรณีที่มีพินัยกรรมหลายฉบับที่มีข้อความขัดแย้งกัน วันเดือนปี จะช่วยบอกว่าพินัยกรรมฉบับไหนเป็นฉบับที่ทำล่าสุดและจะเป็นฉบับที่มีผลทางกฏหมาย
3. ความไม่สมบูรณ์ของข้อกำหนดการเผื่อตาย
เนื่องจากการทำพินัยกรรมเป็นการกำหนดล่วงหน้าว่าจะมีการมอบทรัพย์สมบัติให้แก่ใครเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย ดังนั้นข้อความในพินัยกรรมจึงต้องมีการระบุให้ชัดว่าหากผู้ทำพินัยกรรมได้ตายจากไป ทรัพย์สมบัติในส่วนไหนจะให้แก่ใคร อาทิเช่น เขียนว่า หากข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย ขอยกมรดกของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ แต่หากเป็นการเขียนโดยไม่มีการระบุว่าจะยกให้เมื่อตาย แต่เขียนเพียงว่าจะยกทรัพย์สมบัติให้แก่บุคคลนี้เฉยๆก็จะไม่ถือเป็นพินัยกรรม จะเป็นเพียงเจตนาการให้โดยเสน่หาเท่านั้น
4. ความไม่สมบูรณ์ของการลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมและพยาน
การลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมของพินัยกรรมแต่ละรูปแบบจะมีกฎที่แตกต่างกันออกไป เช่นถ้าเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา ผู้ทำพินัยกรรมสามารถลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือก็ได้ ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน แต่หากเป็นแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้
ในส่วนของพยานนั้นต้องลงลายมือชื่ออย่างเดียวจะไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้ ในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาและระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้น
5. ความไม่สมบูรณ์เมื่อมีการแก้ไขพินัยกรรม
พินัยกรรมที่ทำขึ้นแล้วสามารถแก้ไขได้ แต่ทุกจุดที่มีการแก้ไขจะต้องมีการลง วันเดือนปี และลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรม รวมถึงหากเป็นพินัยกรรมแบบมีพยานจะต้องมีการลงลายมือชื่อของพยานรับรองด้วย อย่างไรก็ดีหากในจุดที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นถูกกระทำขึ้นโดยไม่สมบูรณ์ จะมีผลเพียงให้ข้อความที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สมบูรณ์เท่านั้น ส่วนอื่นของพินัยกรรมยังมีความสมบูรณ์และใช้บังคับได้อยู่
อนึ่ง ในส่วนของเรื่องผู้จัดการมรดกนั้น จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ทำพินัยกรรมควรจะระบุผู้ที่จะมาทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก หรืออย่างน้อยระบุผู้ตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีสิทธิ์มาพิจารณาเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอีกที โดยตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ใดก็สามารถมาเป็นผู้จัดการมรดกได้ ไม่ว่าจะเป็นพยานในพินัยกรรม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพินัยกรรม หรือผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในพินัยกรรม กฎหมายยกเว้นเพียงแต่ผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ที่ไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ คือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ที่วิกลจริต ผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นเสมือนไร้ความสามารถ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลายเท่านั้น การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น หากเลือกบุคคลที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดกได้ตรงตามลักษณะที่กำหนดไว้ ในกาลต่อมาเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต ศาลก็สามารถตั้งผู้จัดการมรดกให้ตรงกับเจตนาตามพินัยกรรมได้ แต่หากไม่มีการกำหนดผู้จัดการมรดกในพินัยกรรม หรือผู้ที่ถูกกำหนดมีลักษณะต้องห้ามที่ไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ ศาลก็จะตั้งบุคคลอื่นขึ้นมาเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามที่ศาลจะเห็นควร แต่ทั้งหมดนี้จะไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของพินัยกรรมแต่อย่างใด
ท้ายนี้ จึงอยากเน้นย้ำให้ผู้ที่จะทำพินัยกรรมทุกคนใส่ใจและให้ความระมัดระวังในข้อผิดพลาดที่มักจะพบได้บ่อยๆ ในข้างต้น เพื่อทำให้การส่งต่อทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายสมดังเจตนารมย์ของผู้ทำพินัยกรรมติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th