โดย นิราวัลย์ ธรรมศิริเจริญ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
กว่าจะได้รายได้มา มักจะต้องลงทุนลงแรงไปพอสมควร ครั้นเมื่อได้มาแล้ว ก็ใช่ว่าเงินนั้นจะเข้ากระเป๋าเราทั้งหมด เพราะมีบางส่วนที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ถ้าเสียภาษีมาก เงินที่เหลือเข้ากระเป๋าก็จะน้อยลง ถ้าเสียภาษีน้อย ก็จะมีเงินเหลือเข้ากระเป๋ามากขึ้น
แล้วจะทำอย่างไร ที่จะเสียภาษีน้อยๆ โดยไม่ผิดกฎหมาย เพื่อให้เหลือเงินเข้ากระเป๋ามากๆ วันนี้จะมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับ 6 กลยุทธ์ในการวางแผนภาษี ตามหลักการของการวางแผนการเงิน แต่ก่อนที่จะไปดูว่ามีกลยุทธ์อะไรบ้างที่ช่วยประหยัดภาษีได้ มาดูกันก่อนว่าภาษีคำนวณมาจากอะไร
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณมาจาก รายได้หรือเงินได้พึงประเมิน หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน เงินบริจาค เหลือเป็น เงินได้สุทธิ แล้วนำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้าของเงินได้บุคคลธรรมดา
ถ้าเรามีตัวเลขที่เป็นเงินได้พึงประเมินน้อย หรือ หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนได้มาก เงินได้สุทธิจะลดลง เราก็จะเสียภาษีน้อยลง
กลยุทธ์ในการวางแผนภาษี มีดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 : การกระจายหน่วยภาษี และ การกระจายรายได้
ถ้าเราสามารถกระจายหน่วยภาษี หรือกระจายรายได้ ฐานเงินได้ที่นำไปคำนวณภาษีก็จะลดลง ภาษีก็จะน้อยลง
กลยุทธ์ที่ 2: การแปลงประเภทเงินได้ เพื่อหักค่าใช้จ่าย
รายได้บางประเภทอาจจะมีเพดานของการหักค่าใช้จ่าย ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี บางประเภทอาจจะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 30% หรือ 60% โดยไม่มีเพดานกำหนด ถ้าเราเลือกรับเงินได้เป็นประเภทที่หักค่าใช้จ่ายได้มาก เราก็จะเสียภาษีน้อยลง
กลยุทธ์ที่ 3: การลดเงินได้สุทธิ
เราสามารถทำให้เงินได้สุทธิลดลง โดยการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ซึ่งปัจจุบันมีรายการลดหย่อนมากมาย บางรายการเป็นสิทธิ์ที่ได้รับอยู่แล้ว บางรายการสามารถทำได้โดยการย้ายเงินจากแหล่งอื่นมาออมหรือลงทุน เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลงทุนในกองทุนรวม SSF RMF การทำประกันชีวิต ประกันบำนาญ ฯลฯ ถ้าเราใช้สิทธิ์ได้เต็มที่ตามความเหมาะสม ก็จะทำให้เงินได้สุทธิลดลง และประหยัดภาษีได้
กลยุทธ์ที่ 4: การบริหารเงินได้จากแหล่งนอกประเทศ
กรณีมีการรับเงินได้จากแหล่งภายนอกประเทศในปีภาษีใด ถ้าเราไม่นำเงินที่ได้รับเข้ามาในประเทศในปีเดียวกัน หรืออยู่ในเมืองไทยน้อยกว่า 180 วัน ในปีนั้น เงินได้ส่วนนั้นก็ไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ 5: การกำหนดเวลาการรับเงินได้
หากจะมีรายได้ก้อนใหญ่เข้ามาในปีใดปีหนึ่ง หรือมีรายได้ช่วงปลายปีจำนวนมาก เราอาจจะขอทยอยการรับรายได้เป็นปีถัดไป หรือทยอยการรับเงินได้เป็นงวดๆ เพื่อให้ฐานเงินได้ที่นำไปคำนวณภาษีลดลง ภาษีก็จะน้อยลง
กลยุทธ์ที่ 6: การเลือกรวม หรือไม่รวมภาษีปลายปี
เงินได้บางประเภท เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล สามารถเลือกที่จะนำมารวมหรือไม่รวมคำนวณภาษีปลายปี โดยใช้สิทธิ์ภาษีสุดท้าย (Final Tax) หรือ หักภาษี ณ ที่จ่าย ตอนที่ได้รับเงินแล้วจบ ไม่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณในการยื่นภาษีปลายปีก็ได้ เราอาจจะต้องลองคำนวณเปรียบเทียบดูว่า ระหว่างการนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณยื่นภาษีปลายปี แล้วนำภาษีที่ถูกหักไปมาเครดิตภาษีออก เทียบกับการไม่นำเงินได้นั้นมารวมคำนวณตอนปลายปี อย่างไหนจะทำให้เสียภาษีน้อยกว่ากัน ก็เลือกวิธีนั้น
ถ้าเราเลือกกลยุทธ์เหล่านี้ไปใช้ให้เหมาะสม เราก็จะเสียภาษีอย่างประหยัดและถูกต้อง ทำให้เหลือเงินเข้ากระเป๋ามากขึ้น หรือสามารถนำเงินไปออมหรือลงทุน เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งในอนาคตได้มากขึ้น
ที่มา: หลักสูตร CFP Module 5 การวางแผนภาษีและมรดก
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th