โดย ผุสดี พรเกษมศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®
“บางสิ่งที่อยากจำ เรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำ กลับลืม อยากลืม กลับจำ” เมื่อเพลง อยากจำกลับลืม ดังขึ้น ก็เกิดคำถามว่า ที่ผ่านมาเราเคยลืมอะไรที่อยากจำเกี่ยวกับเรื่องเงินทองบ้างไหม ถ้าให้เวลาลองนึกคงมีหลายอย่างจนขำไม่ออก เพราะเรามักปล่อยปะละเลยให้เรื่องเงินทองเป็นเรื่องของอนาคตเสมอ
ถือฤกษ์งามยามดี ณ ตอนนี้ ในการเริ่มต้นทำ บัญชีสินทรัพย์ ที่จะช่วยเสริมสร้างความสบายใจทางการเงิน ด้วยการนึกว่ามีสินทรัพย์อะไร จำนวนเท่าไหร่ และอยู่ที่ไหน โดยแจกแจงสินทรัพย์ทั้งหมดลงในกระดาษ A4 หรือ โปรแกรม Excel ตามความถนัด แล้วต่อจากนี้จะไม่มีสินทรัพย์ใดที่โดนทิ้งไว้ข้างหลังอย่างโดดเดี่ยว
สินทรัพย์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์สภาพคล่อง สินทรัพย์เพื่อการลงทุน และสินทรัพย์ส่วนตัว เริ่มที่ สินทรัพย์สภาพคล่อง คือ สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว มีความคล่องตัวสูง สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที เช่น เงินสด เงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งควรมีสินทรัพย์สภาพคล่องอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ไว้รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝัน
ต่อมาที่ สินทรัพย์เพื่อการลงทุน คือ สินทรัพย์ที่หวังผลตอบแทนในอนาคตหรือหวังว่าสินทรัพย์นี้จะมีมูลค่าสูงขึ้น ยิ่งสะสมเร็วยิ่งดี เช่น เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ประกันชีวิต
สุดท้ายที่ สินทรัพย์ส่วนตัว คือ สินทรัพย์ที่มีไว้ใช้งานหรือใช้ในชีวิตประจำวัน มีใช้อย่างพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป เช่น บ้านสำหรับอยู่อาศัย รถยนต์ เครื่องประดับ
การทำบัญชีสินทรัพย์ให้บันทึกมูลค่าสินทรัพย์ที่มูลค่าที่สามารถขายได้ในปัจจุบัน โดยไม่สนใจราคาทุนที่ซื้อมา เช่น ซื้อบ้านเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาในราคา 3 ล้านบาท ตอนนี้ขายบ้านได้ในราคา 4 ล้านบาท ให้บันทึกราคาตลาด 4 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ระบุรายละเอียดของสินทรัพย์ เช่น เลขที่บัญชีเงินฝาก ชื่อและสาขาของสถาบันการเงิน จำนวนหน่วยของกองทุนรวม หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ เลขที่โฉนด รวมถึงสถานที่ที่จัดเก็บสินทรัพย์นั้นด้วย เมื่อถึงวันที่เราลาจากโลกนี้ไป คนข้างหลังสามารถใช้บัญชีสินทรัพย์ที่เราทำไว้เป็นเอกสารในการจัดการกับสินทรัพย์ทั้งหมดได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน
ถึงเวลาลงมือลิสต์สินทรัพย์ของตัวเองตั้งแต่วันนี้ จากนั้นจัดเก็บเอกสารทางการเงินทั้งหมดรวมกันไว้ในที่ปลอดภัยอย่างเป็นระเบียบ บอกคนใกล้ชิดว่าเราเก็บบัญชีสินทรัพย์ไว้ที่ใด และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้มีสินทรัพย์ใดถูกลืมไว้เมื่อเวลาล่วงเลยไป