โดย ชัชฎา สิงห์ชูวงศ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นภาษีเบื้องต้นที่อยู่ใกล้ตัวบุคคลอย่างเราๆ มากที่สุด ความรู้พื้นฐานที่ผู้ศึกษาควรเข้าใจเป็นลำดับต้นๆ คือ ความเข้าใจในเงินได้แต่ละประเภท เนื่องจากในทางภาษีมีการแบ่งเงินได้ออกเป็นทั้งหมด 8 ประเภทแตกต่างกันออกไป โดยอ้างอิงประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1)-(8) เงินได้ทั้ง 8 ประเภทสามารถแบ่งได้ดังนี้
ก่อนจะยื่นภาษีลำดับแรกที่เราต้องแจกแจงให้ได้คือ เงินได้ของเราจัดเป็นเงินได้ประเภทไหนใน เงินได้ประเภทที่ 1 ถึง 8 ข้างต้น เนื่องจากเงินได้แต่ละประเภทในทางภาษีคิดต้นทุนในการได้มาของเงินได้นั้นไม่เท่ากัน ต้นทุนในการได้มาของเงินได้ในเชิงภาษีเรียกว่า การหักค่าใช้จ่าย โดยเงินได้บางประเภทกฎหมายได้กำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเป็นอัตราร้อยละได้ แต่เงินได้บางประเภทกฎหมายก็ให้หักค่าใช้จ่ายตามจริงที่ทำบัญชีได้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เงินได้ จากการเปิดร้านกาแฟ จัดเป็นเงินได้จากการทำธุรกิจ โดยจัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมาที่ 60% ได้ หรือ จะใช้การทำบัญชีหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้เช่นกัน จึงเป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีในการประเมินตนเองและวางแผนบริหารจัดการ
ทั้งนี้สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งมีรายได้ หากมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน 40 (1) ประเภท เงินเดือน ค่าจ้าง เพียงประเภทเดียว กรณีเป็นโสดต้องยื่นแบบรายการภาษี เมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาทต่อปี และหากมีเงินได้ประเภทอื่นด้วยต้องยื่นแบบรายการภาษีเมื่อมีเงินได้เกินกว่า 60,000 บาทต่อปี กรณีมีคู่สมรสจดทะเบียน สำหรับเงินได้ประเภทที่ 1 เพียงอย่างเดียวต้องยื่นแบบรายการภาษี เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 220,000 บาท ต่อปี และหากมีเงินได้ประเภทอื่น ต้องยื่นแบบรายการภาษี เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาทต่อปี