ประกันควบการลงทุน ดีอย่างไร
โดย สกา เวชมงคลกร นักวางแผนการเงิน CFP®
ปัจจุบันการซื้อประกันควบการลงทุนเป็นที่แพร่หลายในเมืองไทยมากขึ้น เรามาสำรวจและทำความรู้จักในส่วนของแบบประกันนี้เพื่อให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนการตัดสินใจซื้อ
ถ้าจะถามว่าใครเหมาะกับแบบประกันควบการลงทุนนี้ ต้องดูถึงเป้าหมายและสถานะว่าคนๆนั้น มีภาระมากเพียงใด แต่จริงๆ แล้วความโดดเด่นของแบบประกันควบการลงทุนนี้ มันคือการเก็บออม ประกัน และ ลงทุน ในหนึ่งเดียว เปรียบเสมือนเป็นกาแฟ 3 in 1 ที่กลมกล่อม เพราะข้อดีก็มีหลายด้าน แต่ก็มีข้อพึงระวังก่อนตัดสินใจซื้อเช่นเดียวกัน
จุดเด่นที่เป็นประโยชน์สำหรับแบบประกันควบการลงทุน
- 1. ได้ทุนประกันสูงตั้งแต่เริ่มออม เหมาะสำหรับหัวหน้าครอบครัว หรือคนที่มีภาระต่างๆ เพราะเป็นแบบเดียวที่ได้ทุนประกันสูงมากถึง 280 เท่า หรือ 300 เท่า ในบางบริษัทและบางอายุ เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่ส่งเป็นรายปี
- 2. มีความยืดหยุ่นในกรมธรรม์สูง หมายความว่า ในอนาคตหากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันในบางช่วงได้ สามารถใช้สิทธิ์หยุดพักชำระหรือ Premium Holiday โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเหมือนกับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบรายสามัญทั่วไป
- 3. ออมเป็นรายเดือนได้ด้วยเบี้ยประกันที่เท่ากับรายปี มนุษย์เงินเดือนทุกคนสามารถเริ่มต้นเก็บออม ลงทุน และยังได้ทุนประกันชีวิตด้วย
- 4. เงินก้อนสามารถแปลงร่างเป็นเงินฉุกเฉินในอนาคตได้ ในส่วนของมูลค่า Account Value ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีจากทั้งผลตอบแทนจากการลงทุน หากเกิดเป็นโรคร้ายแรง หรือต้องการใช้เงินก้อนฉุกเฉิน สามารถถอนในส่วน Account Value นี้ออกไปได้ และยังคงได้รับความคุ้มครองชีวิตตามเดิมหากมูลค่า Account Value ที่เหลือยังคงเพียงพอจ่ายค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อไป
- 5. ยามเกษียณก็สามารถทยอยถอนเงินออกมาใช้ได้ โดยถอนออกจากมูลค่าบัญชีกรมธรรม์ที่สะสมมา ตามเป้าประสงค์ที่ต้องการในอนาคต เช่น ต้องการได้เงินก้อนบำเหน็จ หรือต้องการถอนเงินเป็นแบบรายได้ประจำทุกเดือน หรือต้องการถอนมาเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ ก็สามารถเลือกได้เอง
- 6. สามารถแนบสัญญาเพิ่มเติม สุขภาพ โรคร้ายแรง หรือทุพพลภาพ ที่เป็นการจ่ายเบี้ยคงที่ไปในแบบประกันควบการลงทุนได้ ซึ่งข้อดีคือเลือกจำนวนปีที่ต้องการจ่ายเบี้ยได้ และเลือกจำนวนปีที่ต้องการให้คุ้มครองได้ เช่น ออมเงิน 15 ปี แต่สามารถคุ้มครองชีวิต สุขภาพ โรคร้ายแรงและทุพพลภาพไปได้จนอายุ 70 ปี เป็นต้น
- 7. ในหลายๆ ที่มีโบนัสให้หากออมอย่างต่อเนื่องทุกเดือนไม่ขาด ทำให้ได้รับโบนัสอีกก้อนจากการลงทุนในแบบประกันควบการลงทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มวินัยการออมให้เราลงทุนแบบต่อเนื่อง
- 8. ท่านสามารถนำเอาแบบประกันควบการลงทุนเป็นหนึ่งในการจัดการความเสี่ยงตามแผนการเงินได้ ในส่วนของความคุ้มครองด้านต่างๆ เงินที่สะสมในส่วนของการลงทุนหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินก้อนในรูปแบบต่างๆ ในเวลาที่ต้องการมากที่สุด เช่น เราอาจจะใช้สิทธิ์เลือกถอนเงินจาก Account Value เป็นเงินก้อน หากเราเป็นโรคร้ายแรงเพื่อนำมารักษาตัว และเก็บเงินอีกส่วนหนึ่งเอาไว้ให้เพียงพอจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ รายเดือนต่อไป ซึ่งหากต่อมาเกิดเสียชีวิตก็ยังได้ทุนประกันชีวิตตามเดิมส่งต่อให้ผู้รับประโยชน์ตามเจตนาของผู้เอาประกัน
- 9. สามารถนำเอาค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ไปลดภาษีได้ เช่น ค่า Premium Charge ค่าการประกันภัย ค่าบริหารและจัดสรรกรมธรรม์แบบรายเดือน ได้ในทุกๆ ปี ตลอดการถือสัญญาประกันชีวิตควบการลงทุน ซึ่งหากเราหยุดชำระเบี้ยแล้ว แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราสามารถนำเอารายจ่ายส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีในอนาคต โดยที่ไม่ต้องชำระเบี้ยอีกต่อไป
- 10. สามารถเลือกจำนวนปีที่ต้องการชำระเบี้ยได้ และเลือกจำนวนปีที่ต้องการให้คุ้มครอง ตามความเหมาะสมและจำเป็นในแต่ละช่วงชีวิตในอนาคต หากมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายทางการเงิน สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม เช่น เลือกจำนวนปีที่ต้องการคุ้มครองยาวไปจนถึงอายุ 60 ปี หากไม่เกิดอะไรขึ้น ก็สามารถเลือกรับเป็นเงินก้อนบำเหน็จในวัย 60 ปี
สามารถเพิ่มหรือลดทุนประกันชีวิตได้ในอนาคต เช่นในช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน ช่วงการเป็นหัวหน้าครอบครัว จะมีภาระเยอะ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินต่างๆ หนี้บ้าน หนี้รถ หรือทุนการศึกษาบุตรหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกสัก 20 ปี ภาระเหล่านี้ก็ลดลง ลูกเรียนจบทำงานแล้ว หัวหน้าครอบครัวก็สามารถลดทุนประกันชีวิตตามภาระที่ลดลงได้
คนที่เหมาะกับแบบประกันควบการลงทุน คือคนวัยเริ่มต้นทำงาน ที่ต้องการทั้งเก็บออม ประกัน ลงทุน ไปพร้อมๆ กัน และด้วยข้อดีที่สามารถทยอยออมเป็นรายเดือนได้ โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเหมือนประกันชีวิตแบบรายสามัญธรรมดาทั่วไป การจ่ายเบี้ยรายเดือนหรืออาจจะมองในอีกมุมเป็นการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) หรือแบบกระจายเงินลงทุนแบบสม่ำเสมอ เพื่อให้กระจายความเสี่ยงไปในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ในทุกๆ เดือน สร้างวินัยในการเก็บออมได้ ซึ่งจากข้อดีที่ควรเป็นประกันชีวิตเริ่มต้นของคนวัยทำงานที่ตอบสนองได้ครบ ทั้ง ประกันชีวิต เก็บออม และลงทุน ในบางปีที่เกิดขัดสนเรื่องการเงิน ไม่สามารถชำระเบี้ยในช่วงนั้นได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกขอใช้สิทธิ์การหยุดพักชำระเบี้ย (Premium Holiday) โดยยังคงได้รับความคุ้มครองตามเดิม แต่ต้องศึกษาให้ดีในส่วนของเงื่อนไขในแต่ละบริษัทว่าจะกำหนดว่าขั้นต่ำของการจ่ายชำระเบี้ยในช่วงแรกนั้นกี่ปี จึงจะสามารถใช้สิทธิ์หยุดพักชำระเบี้ยนี้ได้ ความยืดหยุ่นของกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนเป็นทางเลือกที่ทุกคนควรศึกษาเอาไว้อย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ตนพึงมี
อย่างไรก็ดี ก็มีข้อพึงทราบและข้อควรที่พึงรู้อีกหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุ เรื่องอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความไม่แน่นอน หากตลาดผันผวนและผลตอบแทนไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ ต้องมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนอย่างไร ให้ทันกับสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และหัวข้อด้านอื่นๆ ดังนี้
- 1. ค่าใช้จ่ายต่างๆ มีผลต่อแบบประกันชีวิตควบการลงทุน
- 2. ผลตอบแทนไม่แน่นอนตามความผันผวนของตลาด
- 3. แผนต้องมีการปรับตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
- 4. จำนวนปีที่ต้องการให้คุ้มครองอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
- 5. หากมีการแนบซื้อสัญญาเพิ่มเติมเข้าไป ต้องคำนวณถึงอัตราค่าใช้จ่ายในแต่ละปี ว่าจะคุ้มครองอยู่ได้จนถึงกี่ปี อาจมีความเสี่ยงที่คุ้มครองไปจนชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วมูลค่าบัญชีกรมธรรม์หมดในช่วงอายุ 70 กว่าๆ ก็จะทำให้หาซื้อประกันสุขภาพอื่นๆ เพิ่มเติมได้ลำบาก โดยเฉพาะหากเป็นโรคร้ายหรือโรคเรื้อรังใดๆ มาก่อนหน้า
- 6. การซื้อประกันควบการลงทุนอาจจะไม่ได้เหมาะเป็นแผนการถอนเงินเกษียณได้ทั้งหมด เพราะในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น จึงต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย เพราะหลังจากอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการประกันภัยเพิ่มขึ้น (Cost of Insurance) ประกันควบการลงทุนจึงเหมาะกับแต่ละ Lifestyle ในแต่ละช่วง Life Stage ของชีวิต ที่จะสร้างความคุ้มครองได้มากกว่าแบบประกันทั่วไป หากต้องการวางแผนการถอนเงินเกษียณ อาจจะต้องมีการปรับทุนประกันชีวิตให้ลดลงต่ำสุด เมื่ออายุเรามากขึ้น
แล้วสรุปควรซื้อประกันควบการลงทุนหรือไม่ หรือควรซื้อแยกเป็นประกันชีวิตกับกองทุนไปเลย จริงๆ ก็ต้องตามถึงวัตถุประสงค์ในการซื้อว่ามีเป้าหมายทางการเงินด้านไหน ห่วงหรือกังวลในด้านอะไรมากที่สุด หากเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องการทุนประกันชีวิตสูง ประกันควบการลงทุนก็เหมาะสม หากเป็นนักธุรกิจ ที่มีภาระหนี้สินสูง ต้องการทำทุนประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองภาระหนี้สินหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากทุนประกันชีวิตที่สูงได้ หรือเป็นคนโสดที่มีภาระต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง พ่อแม่ก็อาจจะลำบาก ประกันควรการลงทุนก็เหมาะสม
ในวัยเริ่มต้นทำงานก็สามารถเลือกประกันควบการลงทุนเป็นประกันชีวิตเล่มแรก ที่ได้ทั้ง ประกัน เก็บออม และลงทุน ดังนั้นสามารถเลือกประกันควบการลงทุนเป็นทางเลือกในเริ่มต้นซื้อประกันชีวิต เพื่อให้ได้ความคุ้มครองคือค่าความสามารถในการหารายได้ที่มากพอ (Earning Ability) ด้วยการออมรายเดือนที่ไม่มากนัก
ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อประกันชีวิตควบการลงทุน ควรศึกษาให้ดีอย่างถ่องแท้ถึงลักษณะ ข้อดี ข้อเสีย จุดที่ต้องพึงระวัง เพื่อทราบถึงสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่พึงมี ไว้เป็นทางเลือกก็น่าจะทำให้ตอบโจทย์ได้หลากหลายมิติจากเงินก้อนเดียวที่ทยอยเก็บออมเป็นรายเดือน และก็ต้องซื้อกับตัวแทนประกันชีวิตที่มีใบอนุญาตในการขายถูกต้อง
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th