โดย ดร.กลางใจ แสงวิจิตร ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
โดยปกติแล้วเมื่อเราวางแผนการเงิน เรามักจะคิดถึง วิธีหารายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่มี
การบริหารจัดการรายจ่ายให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง
การบริหารเงินเพื่อจัดการหนี้สินที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวางแผนการออมและการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
การบริหารความเสี่ยงโดยการใช้ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันภัย
การวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากวันนี้คุณต้องการบริหารความเสี่ยงไปด้วย และวางแผนการลงทุนไปด้วย
คงไม่มีใครไม่นึกถึง Unit linked หรือ ประกันควบการลงทุน
บทความเกี่ยวกับ Unit linked มีมากมายที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินนี้คืออะไร
สำหรับบทความนี้อยากแนะนำ Unit linked ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
เพราะปกติคนส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Unit linked คือการซื้อประกันชีวิตพร้อมกับการลงทุนในกองทุนในเวลาเดียวกัน
ข้อดีของ Unit linked ที่ทุกคนคุ้นเคย ได้แก่ การมีความคุ้มครองพร้อมกับสร้างผลตอบแทนจากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ความสามารถในการปรับพอร์ตการลงทุนตามความต้องการของผู้เอาประกัน ความสามารถในการซื้ออนุสัญญาเหมือนประกันชีวิตแบบอื่นๆ และความยืดหยุ่นในการชำระเบี้ยประกัน
แน่นอนว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงคิดว่า แล้วบทความนี้ต่างจากบทความอื่นๆ อย่างไร
คำตอบคือ คุณจะเข้าใจความยืดหยุ่นของเงื่อนไข Unit linked มากขึ้นหลังอ่านบทความนี้จบนั่นเอง
เนื่องจากการจัดการของ Unit linked คือ การแบ่งเบี้ยประกันออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เบี้ยประกันชีวิต และเงินลงทุนในกองทุน จึงทำให้ ความยืดหยุ่นในการบริหารเงินเพื่อชำระเบี้ยประกัน unit linked จึงมีสูงกว่าประกันชีวิตแบบอื่นๆ เช่น
หากคุณอายุ 36 ปี มีครอบครัวที่ต้องดูแล มีภาระหนี้สินที่ไม่อยากให้คนข้างหลังลำบากหากเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น แต่คุณกลับมีกระแสเงินสดเพียงประมาณ 30,000 บาท เพื่อจ่ายเบี้ยประกันต่อปี
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คุณอาจจะมีทุนประกันและเงินคืนรวมเพียง 2 - 4 แสนบาทเท่านั้น
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คุณอาจจะมีทุนประกันและเงินคืนรวมเพียง 1 – 3 แสนบาทเท่านั้น
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา อาจจะทำให้คนข้างหลังได้รับเงินเอาประกันหลักล้านได้ แต่นั่นหมายถึงคุณต้องชำระเบี้ยประกันทุกๆ ปี ที่ต้องการความคุ้มครอง และแลกมาด้วยกรมธรรม์ที่ไม่มีมูลค่าเงินสด
แต่ถ้าคุณนำเงินที่มีมาซื้อ Unit linked คุณอาจจะกำหนดเอาประกันได้ถึง 2 หรือ 3 ล้านบาทได้ ตลอดช่วงเวลาที่คุณมีความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน
หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมากระทบกับกระแสเงินสดรับ ทำให้ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้
Unit liked ก็ให้คุณหยุดพักชำระเบี้ยประกันได้
ตราบใดที่มูลค่าหน่วยลงทุนยังเพียงพอที่จะให้บริษัทหักค่าใช้จ่าย ซึ่งคุณก็ยังได้รับความคุ้มครองตามทุนประกันที่ระบุไว้ในสัญญาประกันชีวิต
หากคุณมีกระแสเงินสดเพิ่มที่จะจ่ายเบี้ยเพิ่ม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่กรมธรรม์คุณก็สามารถทำได้แต่ถ้าคุณต้องการความคุ้มครองสูง แต่อาจจะไม่มีความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันที่เพียงพอ และยังต้องการลงทุนไปด้วยเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในอีก 1 – 10 ปีข้างหน้าแล้วละก็ การลงทุนในกองทุนรวมเองและซื้อประกันแบบชั่วระยะเวลาอาจจะตอบโจทย์ของคุณมากกว่าก็ได้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th