โดย นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®
รูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์เปลี่ยนตามยุคสมัยตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง ยิ่งในยุคดิจิทัลที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดอย่างรวดเร็ว ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่จึงเปลี่ยนอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ตัวอย่างรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจนที่มีผู้รวบรวมไว้ เช่น
อิสระของเวลา : เวลาทำงานที่ตายตัวและทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำไม่ใช่ความต้องการของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป คนรุ่นใหม่ต้องการบริหารจัดการเวลาให้ลงตัวตามแบบที่ต้องการ สามารถเลือกเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนได้
ทำงานที่ไหนก็ได้ : การทำงานในสำนักงานถูกแทนที่ด้วยการทำงานทางไกลแบบ Hybrid Workplace การทำงานที่บ้านแบบ Work from home และการใช้บ้านเป็นสำนักงานแบบ Work at home สำหรับอาชีพอิสระ คนทำงานยุคใหม่มีทางเลือกและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการจ้างงานแบบเดิมอีกต่อไป
สุขก่อนมั่นคง : แนวคิดยุคใหม่ในการมองความสุขและความพึงพอใจในการทำงานมากกว่าความมั่นคงที่เป็นเรื่องในระยะยาว รวมทั้งรูปแบบของธุรกิจใหม่ที่สามารถนำความถนัด ความชอบส่วนตัว มาสร้างรายได้ ทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสใช้งานอดิเรกในการประกอบอาชีพใหม่ๆ ได้
ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่เน้นความมีอิสระในเรื่องเวลาและการทำงาน ให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต ทำให้ต้องคำนึงเรื่องความเสี่ยงและความไม่มั่นคงของรายได้ไว้ด้วย แต่ไม่ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตแบบไหน การวางแผนการเงินก็เป็นเรื่องที่เราควรจะให้ความสำคัญ เพียงแต่รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างทำให้ต้องวางแผนการเงินแตกต่างกัน
ในแผนการเงินควรสร้างความคุ้มครองที่ครอบคลุมความจำเป็นตามไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ โดยมีความเฉพาะตัว (Personalize) ตามรูปแบบชีวิตของเรา มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลา และแยกการสร้างความคุ้มครองออกจากกันตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่ต้องการความคุ้มครอง ใช้เป็นหลักในการเลือกแบบประกันที่เหมาะสมสำหรับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่
1. ภาระสำคัญต่างๆ :
การแยกความคุ้มครองภาระสำคัญต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในช่วงเวลาต่างกัน เช่น ภาระหนี้สินระยะยาวของที่อยู่อาศัย ภาระด้านการศึกษาบุตร ทำให้แผนความคุ้มครองของเรามีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับตัวเรา (Personalizeก) มากกว่าการทำประกันแบบรวมที่ยืดหยุ่นน้อยและมีต้นทุนสูง ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เหมาะกับความคุ้มครองต่างๆ ได้แก่
2. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยปกติ และเจ็บป่วยร้ายแรง
อาชีพอิสระเปรียบเหมือนนายจ้างของตัวเราเอง สวัสดิการพื้นฐานด้านสุขภาพมีเพียงสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 หรือ มาตรา 40 ตามคุณสมบัติของเรา หากเจ็บป่วยจะส่งผลกระทบด้านการเงินทั้งรายได้และเงินออมที่หดหายลดน้อยลง จึงควรสร้างความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งการเจ็บป่วยปกติ การเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรง และทุพพลภาพ ที่สำคัญควรมองถึงเงินชดเชยรายได้ในช่วงพักรักษาตัว ซึ่งเราจะไม่สามารถมีรายได้ด้วย
ประกันสุขภาพในปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมการรักษาพยาบาลยิ่งขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องทำประกันแยกจากกัน ยกเว้นแต่เราต้องการเพิ่มความคุ้มครองอื่น ประกันสุขภาพประเภทเหมาจ่ายส่วนใหญ่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลหลักและมีเบี้ยประกันชีวิตที่ต่ำลง จึงตอบโจทย์ความคุ้มครองได้ดี ไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการสร้างความคุ้มครองเกินจำเป็น
3. ค่าใช้จ่ายเมื่อเราไม่มีรายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เมื่อการเกษียณไม่ได้จำกัดที่อายุ 60 ปี การสร้างความคุ้มครองและออมเงินที่ผสมผสานแผนการออมลงทุนและแผนความคุ้มครองเข้าด้วยกันช่วยให้สามารถวางแผนการเงินที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลได้ ประกันสะสมทรัพย์ที่ให้ทั้งความคุ้มครองและการออมไปในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะแบบประกันที่มีการเพิ่มจำนวนเงินออมแต่มีทุนประกันชีวิตคงที่ รวมทั้งแบบประกันควบการลงทุนที่เน้นการสร้างเงินออม สามารถใช้เป็นทางเลือกในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่เราไม่มีรายได้
เมื่อรูปแบบของชีวิตมีความหลากหลายขึ้นและไม่แน่นอน ความคุ้มครองต่างๆ จึงต้องปรับให้ยืดหยุ่นขึ้นด้วย สิ่งสำคัญในการสร้างความคุ้มครองคือต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสร้างความคุ้มครองที่ดี การใช้แผนการเงินแบบองค์รวมเฉพาะบุคคล ร่วมกับการเลือกแบบประกันที่ตรงวัตถุประสงค์ จะช่วยให้เราสร้างความคุ้มครองได้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา และมีต้นทุนในการสร้างความคุ้มครองที่เหมาะสม