โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
เมื่อไหร่ที่ก้าวเข้าสู่โลกการลงทุน ก็มีโอกาสเผชิญกับภาวะความผันผวน ซึ่งบางคนยอมรับได้ เพราะเข้าใจดีว่า ความผันผวนเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว
แต่ก็มีอีกหลายคน ที่กังวลกับความผันผวนเพราะส่งผลให้เกิดผลตอบแทนลดลงหรือขาดทุน ทำให้มองหา สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เข้ามาไว้ในพอร์ตลงทุน เพื่อเป็นหลุมหลบภัยช่วยให้เกิดความสบายใจ
สำหรับสินทรัพย์ปลอดภัย คือ สินทรัพย์ที่มีความสามารถรักษามูลค่าหรือมีโอกาสเพิ่มมูลค่า ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเป็นขาลงหรือมีสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของสินทรัพย์ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของราคาไม่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่น หรืออาจเคลื่อนไหวทิศทางตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจ จึงเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นในช่วงที่ตลาดเจอสถานการณ์เลวร้าย
สินทรัพย์ปลอดภัย ในสายตานักลงทุน
สินทรัพย์ปลอดภัย | 4 คุณสมบัติสำคัญของสินทรัพย์ปลอดภัย |
1.เงินสด |
- มีสภาพคล่อง แปลงเป็นเงินสดได้ง่าย - มีจำนวนจำกัด หรือน้อยกว่าความต้องการซื้อ - มีความต้องการแน่นอน ไม่สามารถถูกแทนที่ได้ ไม่ล้าสมัย - มีความคงทน ไม่เสื่อมสลายเมื่อเวลาผ่านไป |
2.ทองคำ | |
3.พันธบัตรรัฐบาล | |
4.สกุลเงิน เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เยน และฟรังก์สวิส | |
5.หุ้นที่ทนทานทุกสภาวะ (Defensive Stock) |
มีคำถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาที่ควรลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยแล้ว คำตอบ คือ ไม่ต้องรอให้ถึงเวลา หากต้องการมีสินทรัพย์ปลอดภัยไว้รับมือสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงคราม โรคระบาด ภัยพิบัติรุนแรง ถ้ารอให้ถึงเวลาก็จะมีนักลงทุนคนอื่น ๆ ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว ทำให้การลงทุนมีต้นทุนที่สูงกว่าปกติ
ฉะนั้น หากเป็นไปได้ ควรแบ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยด้วย ไม่ใช่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อคาดหวังผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นอย่างเดียว เนื่องจากการมีสินทรัพย์ปลอดภัยจะช่วยให้พอร์ตลงทุนรับมือสถานการณ์ไม่คาดคิดได้ดีขึ้น ส่วนจะแบ่งไว้ในสินทรัพย์ปลอดภัยมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการลงทุนที่ยอมรับได้ ถ้าเป็นคนใจกล้าเสี่ยงสูง มีสินทรัพย์ปลอดภัยเล็กน้อยก็พอแล้ว แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย มีสินทรัพย์ปลอดภัยมากหน่อย ก็จะอุ่นใจมากกว่า
ส่วนกรณีที่ต้องการลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ อาจพิจารณาสัญญาณเศรษฐกิจ เพราะโดยปกติก่อนถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ จะมีสัญญาณเตือนมาก่อน เช่น เส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จะกลับทิศ หรือที่เรียกว่า Inverted yield curve คือ ผลตอบแทนพันธบัตรอายุสั้นจะสูงกว่าพันธบัตรอายุยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นก่อนเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งจะมาก่อนเศรษฐกิจขาลงเสมอ
สุดท้ายนี้ ถึงแม้สินทรัพย์ปลอดภัยจะเป็นหลุมหลบภัยที่ดียามตลาดไม่ดี แต่ก็เป็นเหมือนสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีขาขึ้น ขาลง ไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีตลอดเวลา ฉะนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับระดับที่เรายอมรับได้ จะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ที่ทำให้โอกาสรับผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวม มีความมั่นคงมากขึ้น
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th