โดย กนกวรรณ แซ่หลิน ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การผลิตโดยรวมหยุดชะงัก อุปสงค์และอุปทานเกิดความไม่สมดุลกัน แม้ภาคการผลิตเริ่มทยอยกลับมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ ทำให้ราคาสินค้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาก เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และนักลงทุน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ และหาทางรอดให้ธุรกิจและพอร์ตลงทุนกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
จากความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบให้นักลงทุนหลายคนสับสน มึนงง ไม่รู้จะจัดการกับเงินในพอร์ตลงทุนอย่างไรดี จะเติมเงิน หรือโยกย้าย อยากไปต่อก็กลัวขาดทุน จะหยุดแค่นี้ก็เสียดายโอกาส เชื่อว่าหลายคนกำลังเจอปัญหานี้อยู่ ลองหันกลับมาดูพอร์ตลงทุนตัวเองก่อนว่ายังโอเคอยู่ไหม ผลตอบแทนที่ได้นั้นอยู่ในระดับที่เราคาดหวัง และสามารถพาให้ไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ต้องขอแสดงความยินดีด้วย คุณสามารถลงทุนต่อไปตามแบบแผนเดิมได้ หรือจะเพิ่มเงินลงทุนเข้าพอร์ตตามสัดส่วนของแต่ละ asset class ได้เลย แต่ให้ระวังเรื่องความเสี่ยงของพอร์ตที่สูงขึ้น เพราะเมื่อสินทรัพย์มีการเพิ่มมูลค่าขึ้น เช่น สัดส่วนของหุ้นเพิ่มขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตสูงขึ้น ซึ่งอาจเกินกว่าความเสี่ยงที่รับได้ เราก็ควรทำการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ในพอร์ตให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนเดิมที่วางแผนไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พอร์ตลงทุนอยู่ในระดับที่เสี่ยงเกินไป หรือที่เรียกว่า การทำ Portfolio Rebalancing สามารถทำได้ 3 วิธี
ผลตอบแทนคือสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากการลงทุน แต่ในขณะเดียวกันความเสี่ยงก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ในระหว่างการลงทุนหากรู้ตัวว่ารับความเสี่ยงและความผันผวนได้น้อยลง เราสามารถปรับสัดส่วนสินทรัพย์ของพอร์ตเพื่อให้ความเสี่ยงโดยรวมลดลงตามระดับที่เรารับได้ ในการเพิ่ม/ลดความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตทำได้โดยการปรับเพิ่ม/ลดสัดส่วนของเงินสด/เงินฝาก ตราสารหนี้ และหุ้นได้ นี่คือความสำคัญของการทำ Portfolio Rebalancing โดยมีวิธีการจัดพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยงหลักๆ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง โดยมีสัดส่วนการลงทุนดังนี้
เงินสด/เงินฝาก | ตราสารหนี้ | หุ้น | |
แบบเสี่ยงต่ำ | 30% | 40% | 30% |
แบบเสี่ยงปานกลาง | 20% | 30% | 50% |
แบบเสี่ยงสูง | 10% | 20% | 70% |
จากตารางจะเห็นว่า ความเสี่ยงของพอร์ตจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนเงินทุนที่เราลงในสินทรัพย์นั้นๆ สัดส่วนของหุ้นที่มากขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตสูงขึ้น ในทางกลับกันสัดส่วนของตราสารหนี้ที่มากขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตลดลงด้วยเช่นกัน
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มมีแนวโน้มกำลังจะทยอยปรับตัวลดลง และอัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าหากเทียบกับประเทศอื่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและโลกที่เคยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มชะลอตัว การปรับขึ้นดอกเบี้ยของพันธบัตรจะจำกัดมากขึ้น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงส่งผลกระทบ แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ล้วนส่งผลให้ตลาดทุนเกิดความผันผวนมาก นักลงทุนเริ่มไม่แน่ใจทิศทางการลงทุน ทำให้นักลงทุนมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เงินในตลาดจึงไหลจากตลาดทุนไปยังตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ในจังหวะนี้ หากต้องการปรับพอร์ตลงทุน สินทรัพย์กลุ่มตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย การเพิ่มสัดส่วนของตราสารหนี้ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง จะช่วยลดแรงกระแทก และความผันผวนของพอร์ตลงทุน ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลดลง แต่ผลตอบแทนโดยรวมอาจไม่ได้ลดลงตามเสมอ หากพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ถือนั้น สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงหรือมากกว่าหุ้นที่ถืออยู่ปัจจุบันได้ เชื่อว่าหากนักลงทุนมองระดับอัตราผลตอบแทนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน การถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าย่อมดีกว่าสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงกว่าเสมอ ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นฟูและเข้าสู่สภาวะปกติ ตลาดหุ้นก็จะกลับมาเฟื่องฟูและคึกคักอีกครั้ง สินทรัพย์กลุ่มหุ้นก็จะขึ้นเรื่อยๆจนทำให้สัดส่วนของตราสารทุนในพอร์ตลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเสี่ยงของพอร์ตสูงเกินไป หรือสัดส่วนของหุ้นมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ เราควรกลับมาทำ Portfolio Rebalancing ใหม่ เพื่อคงความเสี่ยงของพอร์ตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับตัวเรา
ถ้าวันนี้คุณมีเงินพร้อมลงทุน 1 ก้อน คุณจะเลือกลงทุนอะไร ระหว่าง 1.ลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ตัว และจัดสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนหรือเงินปันผลเฉลี่ย 5% ต่อปี หรือ 2. นำเงินไปซื้อพันธบัตรระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ย 5% ต่อปี
ไม่ว่าคุณจะเลือกลงทุนแบบไหน หากการลงทุนนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายการเงิน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่ควรเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงเหมาะสมกับตัวคุณมากที่สุด และสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่คาดหวังไว้ นั่นจึงเป็นวิธีการลงทุนที่สำคัญ และจะทำให้ประสบความสำเร็จในการลงทุน คำว่าผลตอบแทนที่ดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน และเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนก็แตกต่างกัน จึงไม่มีวิธีลงทุนแบบไหนที่ดีกว่ากัน แต่ความสำคัญอยู่ที่การลงทุนนั้นสามารถนำพาให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้หรือไม่
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th