เพิ่มโอกาสการลงทุน ผ่าน ETF ต่างประเทศ
โดย พัชรินธ์ อีริคสัน CFA, CFP®
ETF ถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่นิยมมากในเฉพาะในต่างประเทศ เช่น ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา มี ETF จดทะเบียนซื้อขายมากกว่า 3,000 ตัว แต่ในไทยอาจจะยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก เนื่องจาก ETF ที่จดทะเบียนซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีเพียง 13 ตัวเท่านั้น
ETF คืออะไร
Exchange Traded Fund หรือ ETF คือกองทุนรวมดัชนีที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนีต่าง ๆ และมีการซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนหุ้น ดังนั้น ETF จะเปรียบเสมือนลูกครึ่งระหว่างหุ้น และกองทุนรวมดัชนี (Passive Fund/ Index Fund) กล่าวคือ
- ETF จะมีการกระจายลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัวตามดัชนี เหมือนกับ Passive Fund ดังนั้น จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการกระจุกตัวเหมือนการลงทุนในหุ้น ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่มีเงินลงทุนน้อยเพียง 10,000 บาท อาจจะซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่กี่ตัว แต่สามารถนำเงินนี้ไปซื้อ ETF ที่ติดตามดัชนี SET ได้ ซึ่งจะเสมือนว่า นักลงทุนได้นำเงินไปลงทุนในหุ้นทุกตัวใน SET ด้วยเงินแค่ 10,000 บาท
- นักลงทุนสามารถดูราคา และซื้อขาย ETF ได้แบบ real time บนตลาดหลักทรัพย์ ต่างจากการซื้อ Passive Fund ที่นักลงทุนจะซื้อขายได้ที่ราคา ณ สิ้นวันทำการเท่านั้น และไม่สามารถรู้ราคาได้ล่วงหน้า
ลง ETF ต่างประเทศผ่านช่องทางไหนได้บ้าง
ปัจจุบัน หากนักลงทุนอยากลงทุนใน ETF ต่างประเทศ สามารถทำได้ 2 ช่องทางหลัก
- การซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศ แต่กองทุนรวมประเภทนี้จะถูกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในไทยเก็บค่าธรรมเนียม กล่าวคือ นอกจากนักลงทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมของ ETF แล้ว ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดการรายปี และค่าธรรมเนียมแรกเข้า (ถ้ามี) ที่บลจ. เรียกเก็บอีกด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเหมาะกับนักลงทุนไม่ต้องการความยุ่งยากในการจัดการแลกเงิน หรือนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
- เปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินที่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อซื้อขาย ETF ผ่านตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนกับการซื้อผ่านกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม การเปิดบัญชีหลักทรัพย์ประเภทนี้มักมีกำหนดเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชี หรือค่าธรรมเนียมในการทำรายการ ซึ่งนักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาให้ดีก่อนเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์เจ้าไหน
เคล็ดลับในการเลือก ETFs
- เลือกสินทรัพย์ (Asset Class) ที่สนใจลงทุน เพราะ ETFs นั้นมีหลากหลายครอบคลุมทุกสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ REITs ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิตัล
- เลือกภูมิภาค ประเทศ อุตสาหกรรม ธีมการลงทุน สไตล์ลงทุน ที่สนใจลงทุน
- สนใจลงหุ้นทั่วโลก หรือ หุ้นภูมิภาค/ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ตัวอย่าง ETF: SPDR S&P500 ETF (SPY US) ติดตามดัชนี S&P 500, iShares MSCI ACWI ETF (ACWI US) ติดตามดัชนี MSCI ACWI (หุ้นทั่วโลก)
- สนใจลงทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่ม healthcare เป็นต้น
ตัวอย่าง ETF: Financial Select Sector SPDR (XLF US) ติดตามผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่ม Financial ใน S&P500
- เลือกลงทุนตามสไตล์ เช่น หุ้นคุณค่า (Value) หุ้นเติบโต (Growth) เป็นต้น
ตัวอย่าง ETF: Invesco S&P500 GARP ETF (SPGP US) ติดตามผลการดำเนินงานหุ้นเติบโตที่ยังมีมูลค่าเหมาะสมในสหรัฐฯ (Growth at Reasonable Price)
- นอกจากนี้ยังมี ETF ที่มีธีมเฉพาะอีกมากมาย เช่น Global X Video Games & Esports ETF (HERO US) ติดตามผลดำเนินงานหุ้นทั่วโลกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Video Game และ Esport
- พิจารณาข้อมูลอื่น ๆ
- วิธีการเลือกหลักทรัพย์ของดัชนี (Index Methodology): การเลือกหลักทรัพย์ของดัชนีเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อ ETF ติดตามดัชนีที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัว เช่น เมื่อสนใจลงทุนหุ้นเทคโนโลยีในจีน แต่พบว่ามี ETF 2 ตัวที่มีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ KraneShares CSI China Internet ETF (KWEB US) และ Invesco China Technology ETF (CQQQ US) เมื่อดูเอกสาร Index Methodology ของ ETF ทั้ง 2 ตัวจะพบว่า ETF ทั้งสองตัวมีความแตกต่างกัน เช่น KWEB US จะลงทุนในหุ้นจีนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Internet เท่านั้น แต่ CQQQ US มีการลงทุนในหุ้นจีนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ hardware ด้วย เป็นต้น
- Tracking Error (TE): ควรเลือก ETF ที่มี TE ต่ำ ๆ เพราะว่ายิ่ง TE สูงเท่าไหร่ แปลว่า มีโอกาสที่ผลตอบแทนของ ETF จะเบี่ยงเบนจากดัชนีอ้างอิงมากขึ้นเท่านั้น
- ค่าใช้จ่ายในการจัดการทั้งหมด (Total Expense Ratio (TER)): ควรเลือก ETF ที่มี TER ต่ำๆ
- สภาพคล่อง: นักลงทุนควรพิจารณาขนาดกองทุน ปริมาณซื้อขายต่อวัน ผู้ดูแลสภาพคล่อง ETF (Market Maker) และ Bid-ask spread เพื่อพิจารณาสภาพคล่องของ ETF ด้วย โดยเฉพาะ ETF ในประเทศไทยที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และปริมาณการซื้อขายต่อวันต่ำ โดยถ้าหาก Market Maker ไม่ได้ active ในการเสนอราคาซื้อขาย (Bid-Ask) อาจทำให้ราคาซื้อขาย ETF นั้นไม่ตรงกับมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์อ้างอิง และทำให้เราต้องซื้อ หรือ ขาย ETF นั้นสูงกว่า หรือต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น
เพียงเท่านี้ นักลงทุนก็จะสามารถเลือกลงทุนใน ETF ได้ไม่ยาก ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย มีโอกาสหาสินทรัพย์ที่เติบโตสูง และช่วยกระจายพอร์ตการลงทุนได้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th