โดย ภก.ธริญญ์รัฐ ปิยะศิริโสฬส AFPT™
ที่ปรึกษาการเงินอิสระ
เผยแพร่ ณ วันที่ 28 มิ.ย. 2566
ปัจจุบันการลงทุนใน “หุ้นกู้” ได้ยินกันบ่อยขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ทำให้บริษัทต่าง ๆ นิยมออกหุ้นกู้มากกว่าการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่อาจมีภาระทางการเงินสูงกว่า ทำให้กลายเป็นช่องทางการลงทุนประเภทหนึ่งที่น่าสนใจของนักลงทุนรายย่อย อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้รอบครอบ ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้น
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ ก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น
เมื่อลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ซื้อจะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ของกิจการ ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นสามัญที่ผู้ซื้อจะมีสถานะเป็น “เจ้าของกิจการ”
โดยผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ซึ่งมักจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน และจะจ่ายไปจนครบอายุของหุ้นกู้นั้น ๆ และรับเงินต้นคืนเมื่อสิ้นงวด
ดังนั้น ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการลงทุนในหุ้นกู้จึงเป็นความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ หมายความว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณาลงทุนในหุ้นกู้นั่นคือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารจะไม่สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ (Credit Risk) ซึ่งในประเทศไทยใช้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้นั้น ๆ (Credit Rating) มาเพื่อให้ผู้ลงทุนพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน
โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยแสดงการเปรียบเทียบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังตารางที่ 1 ซึ่งจากตารางจะได้ว่าจะมีการจัดกลุ่มหุ้นกู้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ
นอกจากนี้ Tris Rating และ Fitch Ratings ได้มีการใช้เครื่องหมายบวก (+) และ ลบ (-) ต่อท้ายอันดับเครดิต เพื่อใช้ขยายขอบเขตของคุณภาพเครดิตที่นิยามเอาไว้มากกว่าเล็กน้อย(+) และ น้อยกว่าเล็กน้อย (-) ตามลําดับ
การเปรียบเทียบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่าง Tris และ Fitch
Tris | Fitch | ความจำกัดความ | หมายเหตุ |
AAA | AAA(tha) | ความน่าเชื่อถือที่สูงสุด และมีความเสี่ยงต่ำ ที่สุด |
กลุ่มตราสารหนี้ที่เหมาะแก่การลงทุน (Investment grade bonds) |
AA | AA(tha) | ความน่าเชื่อถือสูงมาก และมีความเสี่ยงต่ำมาก |
|
A | A(tha) | ความน่าเชื่อถือสูงและมีความเสี่ยงต่ำ | |
BBB | BBB(tha) | ความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับปานกลาง | |
BB | BB(tha) | ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับปานกลาง | กลุ่มตราสารหนี้ที่เหมาะแก่การเก็งกำไร (Speculative grade Bonds) |
B | B(tha) | ความน่าเชื่อถือต่ำมาก | |
C | CCC,CC,C(tha) | มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูงสุด | |
RD(tha) | ผิดนัดชำระหนี้ แต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย | ||
D | D(tha) | ผิดนัดชำระหนี้ และอยู่ระหว่างกระบวนการล้มละลาย |
นอกจากความเสี่ยงทางการผิดนัดชำระหนี้แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมก่อนการลงทุน ได้แก่
ข้อสังเกตเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้คือ จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนไว้ โดยแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ลงทุนทั่วไป และกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งนิยามของลักษณะผู้ลงทุนนั้นเป็นไปตามเกณฑ์นิยามของ ก.ล.ต.
โดยผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการเสนอขายทุกประเภท แต่ผู้ลงทุนทั่วไปจะสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปเท่านั้น ซึ่งหุ้นกู้ที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วจะมีอันดับความน่าเชื่อถือมากกว่า BBB ขึ้นไป อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นกู้นั้น มักจะกำหนดปริมาณเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ ซึ่งตามปกติมักเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท (หน่วยละ 1,000 บาท จำนวน 100 หน่วย) และเป็นทวีคูณของจำนวนเงินขั้นต่ำ
ตัวอย่าง การสรุปลักษณะสำคัญของหุ้นกู้ในการเสนอขายจากเว็บไซต์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นในปัจจุบันสามารถลงทุนได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้นั้น ๆ จากบริษัทผู้ออกตราสาร และช่องทางดิจิตอลซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในการใช้เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ประชาชนชนเป็นการทั่วไป เช่น การจัดจำหน่ายหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ซึ่งมักจะมีการกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียงแค่ 1,000 บาทเท่านั้น สำหรับนักลงทุนที่ต้องการขายหุ้นกู้ออกก่อนครบกำหนดอายุ หรือจองซื้อหุ้นกู้ไม่ทันในตอนแรก ก็สามารถซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรองผ่านสถาบันการเงิน และช่องทางดิจิตัล ได้เช่นเดียวกัน
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการลงทุนในหุ้นกู้ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างในอดีต อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุนในหุ้นกู้ตัวใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากกว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับนั้นคือ การศึกษาถึงลักษณะของธุรกิจ ความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ ของหุ้นกู้ที่ต้องการลงทุนดังที่กล่าวมาในข้างต้น เพราะการลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้รับแม้แต่เงินต้นคืนอีกเลย หรือใช้เวลานานกว่าจะผ่านกระบวนการบังคับคดีเพื่อชดใช้หนี้ หากหุ้นกู้นั้นผิดนัดชำระหนี้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th