โดย กฤษณา เพียรโอภาส ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™, IP
ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา นับแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นักลงทุนคงได้รับรู้ข่าวสารการลงทุน หรือก็อาจเป็นหนึ่งใน “ผู้ประสบภัย” ในสถานการณ์นี้ด้วย นั่นคือ พอร์ตลงทุนไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ถึงแม้ว่าจะได้มีการวางแผนการจัดสรรเม็ดเงินให้กระจายไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงตามหลักทฤษฎีแล้วก็ตาม
ย้อนกลับไปในช่วงที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ใช้มาตรการ QE สินทรัพย์ลงทุนยังสร้างผลตอบแทนอย่างน่าประทับใจ หรือถึงแม้โลกจะเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด สินทรัพย์ลงทุนหรือธุรกิจบางกลุ่มก็ได้รับประโยชน์เต็มที่ บางธุรกิจก็แจ้งเกิดท่ามกลางวิกฤติโควิด ขณะเดียวกันก็มีหลายธุรกิจที่ไปไม่รอด
ต่อมาเมื่อมีปัจจัยแทรก อย่างสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาของกลุ่มสินทรัพย์โภคภัณฑ์ (Commodities) อย่าง น้ำมัน พลังงาน อาหาร สินค้าเกษตรต่างๆเกิดภาวะขาดแคลน อุปทานไม่เพียงพอกับอุปสงค์ ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนการดำเนินการ ต่างก็ดันให้ราคาสินทรัพย์กลุ่มนี้ปรับตัวพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง หลังจากที่ราคาน้ำมันเคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อสิบปีก่อน ก็ได้กลายเป็นตัวเร่งภาวะเงินเฟ้อให้ทวีความรุนแรงลามไปทั่วโลก
จากวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องค่อยๆ คลายไปทีละปม แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ธนาคารกลางหลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งการทำ QT ลดสภาพคล่อง ดูดเม็ดเงินออกจากตลาด เพื่อสยบเงินเฟ้อ
เมื่อยาแรงขนานใหม่เริ่มออกฤทธิ์และกระตุ้นเป็นระลอกๆ เป็นผลให้ตลาดปรับฐานลงมา (Market Correction) สลับกับการที่ตลาดดีดกลับแรง (Technical Rebound) ในช่วงสั้นๆ ตามเหตุการณ์สำคัญของตลาด อาทิ การประชุมธนาคารกลางของประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก (FOMC, ECB, BoE, BoJ) การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ (Core CPI, PPI, GDP, Jobless Claim) จนเหล่านักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก กังวลและคาดการณ์ถึงเรื่องเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
สภาพการณ์ที่เกิดนี้ อาการหนักได้ระบาดไปแทบทุกสินทรัพย์ จากที่บวกแรงๆ อาการดีขึ้นเหมือนจะทุเลาลง แต่เมื่อมีอาการแทรกซ้อนกลับทำให้ทรุดหรือติดลบ ผลที่ตามมา คือ มูลค่าพอร์ตลงทุนหดหายไป และยิ่งหากมีการลงทุนในบรรดาสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) มูลค่าพอร์ตลงทุนอาจหายไปมากขึ้น
อาการความเหวี่ยง ไม่ว่า จะติดลบหนักๆ หรือบวกแรงๆ ที่เกิดขึ้น เรียกว่า ความผันผวน (Volatility) ซึ่งเกิดจากความเสี่ยงตลาด (Market Risk) หรือ Beta เนื่องจากภาวะสงคราม/การเมือง จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือจากปัจจัยหลายประการร่วมกัน
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บลจ. หลายแห่งออกกองทุนประเภท Absolute Return เพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกลงทุน โดยกองทุนประเภทนี้ มักลงทุนในสินทรัพย์ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือตราสารอนุพันธ์ เพื่อมุ่งเน้นการพยายามที่จะสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกในทุกสภาวะตลาด รวมทั้งจำกัดการขาดทุน และมีความผันผวนในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับความผันผวนของตลาดโดยรวม ช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตลงได้ แม้ในสภาวะตลาดขาลง (Down Trend) หรือสภาวะตลาดทรงตัว (Sideway) โดยจะเน้นใช้กลยุทธ์แบบ Long-Short โดยมีสถานะซื้อ (Long Position) สินทรัพย์ที่คาดการณ์ว่าราคาจะสูงขึ้นในอนาคต พร้อม ๆ กับการมีสถานะขาย (Short Position) สินทรัพย์ที่คาดการณ์ว่าราคาจะร่วงลงในอนาคต รวมไปถึงการใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาด
ดังนั้น ผลตอบแทนส่วนใหญ่ของกองทุน Absolute Return นั้น จะมาจากฝีมือการเลือกสินทรัพย์ของผู้จัดการกองทุน (Alpha) มากกว่าจากอิทธิพลจากสภาพตลาด (Beta) โดยรวม และนี่เองคือเหตุผลที่ทำให้กองทุนประเภทนี้ ไม่มี เกณฑ์อ้างอิง (Benchmark) มาใช้ในการเปรียบเทียบ
กราฟรายสัปดาห์ เปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาด COVID-19 [2019 – ปัจจุบัน Dec 2022]จะสังเกตได้จากกราฟในช่วงเวลาต่างๆ เมื่อเวลาตลาดเกิดความผันผวน กล่าวคือ ถ้าตลาดปรับตัวร่วงลงแรง (ลูกศรเล็กสีดำ) ผลตอบแทนของกองทุนจะมีทิศทางเป็นบวก (ลูกศรเล็กสีเขียว) และผลตอบแทนเป็นบวกโดยภาพรวมในระยะยาว (ลูกศรประสีเขียวอ่อน)
การลงทุนในรูปแบบ Absolute Return นี้ ไม่ใช่ว่าจะมีข้อดีแต่เพียงด้านเดียว ทว่าข้อควรระวังในการลงทุนก็ยังคงต้องมีอยู่ แม้กองทุนประเภทนี้จะมีลักษณะที่พยายามสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวก โดยที่ความสัมพันธ์กับตลาดในระดับที่ต่ำ (Low Correlation) หรือแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับตลาดเลย (No Correlation) กล่าวคือ ในยามที่ตลาดขึ้น (ลูกศรเล็กสีฟ้า) บางช่วงเวลาก็อาจทำให้ผลตอบแทนของกองทุนอาจเป็นไปได้ทั้งบวก (ลูกศรเล็กสีเขียว) และ/หรือติดลบ (ลูกศรเล็กสีแดง) ได้
นอกจากนี้ ในบางช่วงเวลาผลตอบแทนอาจเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับตลาดโดยภาพรวม (ลูกศรประสีส้ม) ได้ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือการคัดสรรและการคาดการณ์ถึงอนาคตในแต่ละสินทรัพย์ของผู้จัดการกองทุนว่าจะสามารถบริหารกองทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกได้มากน้อยในระดับใด โดยสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงนั้น มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง ผิดไปจากที่ผู้จัดการกองทุนได้วิเคราะห์คาดการณ์ไว้ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การลงทุนประเภทนี้ก็ยังคงน่าสนใจและเหมาะสมไว้ใช้เป็นทางเลือกในการกระจายพอร์ต หากภาวะแห่งความผันผวนยังคงมีอยู่ต่อไปเช่นนี้
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ กองทุน Absolute Return จัดเป็นการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน (Complex Product Investment) โอกาสที่นักลงทุนอาจจะสูญเสียเงินต้นได้บางส่วนหรือทั้งหมด อันเนื่องจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงเทียบกับการคาดการณ์ในช่วงระยะเวลานั้นๆ ดังนั้น นักลงทุนต้องได้รับคำแนะนำในการลงทุนจากผู้แนะนำการลงทุนที่ถือใบอนุญาต License ต่างๆ ดังนี้
“IP: Investment Planner” (ใบอนุญาตผู้วางแผนการลงทุน สามารถแนะนำได้ทุกผลิตภัณฑ์)
และ/หรือ “IC Complex 1” (ผู้แนะนำการลงทุน ประเภทตราสารซับซ้อนประเภท 1) ซึ่งแนะนำได้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์
หรือ “IC Complex 2” (ผู้แนะนำการลงทุน ประเภทตราสารซับซ้อนประเภท 2) เป็นอย่างน้อย
หลังจากได้รับคำแนะนำแล้ว นักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจและรับทราบถึงความเสี่ยงประการต่างๆ ของกองทุนประเภทซับซ้อนเหล่านี้ก่อนการตัดสินใจลงทุนจริงด้วย
โดยสรุป การใช้กองทุนประเภท Absolute Return Fund ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อนำมาใช้ปรับลดความเสี่ยงพอร์ต ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนมากๆ (High Volatility) ที่ตลาดภาพรวมยังคงมีแนวโน้มเป็นขาลง (Down Trend) หรือวิ่งออกข้างไม่ไปไหน (Sideway) เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง และถือลงทุนส่วนนี้ไม่ควรมีสัดส่วนที่มากเกินไปนัก โดยอาจจะกำหนดสัดส่วนลงทุนในกองทุน Absolute Return Fund เพียงไม่เกิน 10% ของพอร์ต เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงของภาพรวมพอร์ตในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งตามสถานการณ์ตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น
และ โปรดระลึกไว้เสมอว่า หากตลาดกระทิงกลับมา การลงทุนในรูปแบบ Absolute Return Fund อาจจะให้ผลตอบแทนในระดับที่น้อยกว่าตลาด นั่นหมายถึงเราอาจจะได้เวลาปรับพอร์ตกันอีกครั้ง
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th