โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ นักวางแผนการเงิน CFP®
หากใครที่กำลังก้าวเข้าสู่วัย 30 ที่ยังสนุกกับการทำงาน แต่ยังไม่มีเข็มทิศทั้งในเรื่องของการงาน การเงิน รวมไปถึงจังหวะชีวิตตัวเองให้เหมาะสม วันนี้เราจะขอพา 30 ยังแจ๋วทุกคนไปรู้จัก 4 HOW TO วางแผนการเงินและจัดพอร์ตการลงทุนในวัย 30 ให้มีประสิทธิภาพ เห็นภาพการเงินของตัวเองในอนาคต และไม่กดดันจนเกินไป
1. ทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายก่อน
การทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่สำคัญ โดยทุกคนสามารถสรุปรายการทั้งหมดเป็นรายวัน สัปดาห์ เดือน และปี เพื่อให้เห็นถึงนิสัยการใช้เงินของตัวเอง จากนั้นจึงพิจารณารายจ่ายต่างๆว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือเป็นเพียงความต้องการชั่วคราวกันแน่ ซึ่งสำหรับวัย 30 ที่ยังไม่รู้จักนิสัยการเงินของตัวเอง หรือยังไม่มีเงินเก็บเป็นของตัวเองทั้งๆ ที่มีรายได้สูง การทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายนี้จะช่วยตอบข้อสงสัย และช่วยชี้ช่องให้มีเงินเหลือเก็บเพื่อไปต่อยอดด้านอื่นๆ ได้
2. เข้าใจความอยู่รอดทางการเงินจาก Survival Ratio
ไม่เพียงแต่จะรู้จักนิสัยทางการเงินของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องรู้จักวิธีพิจารณาความอยู่รอดทางการเงินของตัวเองด้วย ซึ่งวัดจาก “อัตราส่วนความอยู่รอด” หรือ “Survival Ratio” มีวิธีการคำนวณ ดังนี้
หลังจากการคำนวณอัตราส่วนความอยู่รอดด้านบนแล้ว เราจะสามารถอ่านผลได้ง่ายๆ โดยใช้เลข 1 เป็นเกณฑ์ ดังนี้
หากได้ผลลัพธ์มีค่าน้อยกว่า 1 = รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
หากได้ผลลัพธ์มีค่าเท่ากับ 1 = รายได้เท่ากับรายจ่ายพอดี
หากได้ผลลัพธ์มีค่ามากกว่า 1 = รายได้มีมากกว่ารายจ่าย
ตัวอย่างเช่น:
นาย Money เป็นลูกจ้างที่มีรายได้หลังหักภาษีอยู่ที่ 1,000,000 บาท/ปี มีรายได้จากสินทรัพย์ในพอร์ตลงทุนหลังหักภาษีอยู่ที่ปีละ 50,000 บาท และมีรายได้จากการปล่อยเช่าคอนโดปีละ 250,000 บาท และนาย Money มีรายจ่ายทั้งหมดอยู่ที่ปีละ 750,000 บาท อัตราส่วนความอยู่รอดของนาย Money = (1,000,000 + 50,000 + 250,000)/ 750,000 = 1.73 เท่า เห็นได้ว่า นาย Money มีอัตราส่วนความอยู่รอดอยู่ที่ 1.73 ซึ่งมีค่ามากกว่า 1 ดังนั้นนาย Money จะสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนได้โดยไม่ต้องปรับรายจ่ายใดๆ
3. รู้จักความมั่งคั่งผ่าน Net Wealth และ Wealth Ratio
ชาววัย 30 ทุกคนยังต้องรู้จัก “ความมั่งคั่งสุทธิ” หรือ “Net Wealth” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการมีทรัพย์สินมากๆ ในความเป็นจริงแล้ว บางครั้งการมีทรัพย์สินที่มาพร้อมกับหนี้สิน หรือบางทรัพย์สินไม่ได้สร้างกระแสเงินสดให้กลับลดโอกาสที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งความมั่งคั่งสุทธิสามารถคำนวณได้จาก
หากทรัพย์สินมีมูลค่ามากกว่าหนี้สิน และมีโอกาสสร้างรายได้ต่อเนื่องได้ ความมั่งคั่งสุทธิก็จะสูงขึ้น และหากยิ่งรวมกำลังในการสร้างรายได้จากแรงงานของตัวเองในขณะที่ยังสามารถทำงานได้อยู่ ความมั่งคั่งสุทธิก็จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถสะสมโอกาสในการมีอิสรภาพทางการเงินได้มากขึ้น
ส่วนการพิจารณาโอกาสที่จะมีอิสรภาพทางการเงินยังสามารถคำนวณได้จาก “Wealth Ratio” หรือ “อัตราส่วนความมั่งคั่ง” ซึ่งการคำนวณคล้ายกับ Survival Ratio แต่ตัดรายได้จากการทำงานออกไป ตามตัวอย่างเดิมของนาย Money จะพบว่า หากไม่มีรายได้จากการทำงานเลย นาย Money จะมีอัตราส่วนความมั่งคั่งเท่ากับ 300,000 / 750,000 = 0.4 แปลว่าหากนาย Money ไม่ได้ทำงานแล้ว และไม่มีรายได้จากการทำงานเลย หรือหาแนวทางการลงทุนใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เท่ากับนาย Money ยังไม่สามารถมีอิสรภาพทางการเงิน เพราะยังต้องพี่งพารายได้จากแรงงานของตัวเองอยู่
4. เริ่มจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม
เพื่อให้ชาววัย 30 ที่ยังมีกำลังในการทำงานได้เข้าถึงอิสรภาพทางการเงินและความมั่งคั่งเพื่อเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ คนวัย 30 ทุกคนสามารถเข้าสู่สนามลงทุนด้วยตัวเองได้จากการรู้จัก 4 ประเภทของสินทรัพย์ลงทุนแบบพื้นฐานก่อน ดังนี้
อย่างไรก็ตามทุกการลงทุนข้างต้นล้วนต้องการการศึกษา และติดตามอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น เพื่อให้ลงทุนได้โดยไม่ยากจนเกินไป มีเวลาสนุกกับการทำงาน และดูแลครอบครัว การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็เป็นเครื่องมือที่ดี ไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการลงทุน และตอบโจทย์การลงทุนที่หลากหลายได้ และยังมีผู้เชี่ยวชาญดูแลตลอดเวลา นักลงทุนเพียงศึกษานโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลตอบแทนของแต่ละกองทุนก็สามารถจัดพอร์ตที่มีสินทรัพย์หลากหลายได้ไม่ยาก
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th