โดย ฉัตรี ชุติสุนทรากุล นักวางแผนการเงิน CFP®
มีนักลงทุนหลายคนอาจเข้าใจว่าถ้าไม่ซื้อกองทุนรวมที่เปิดขายวันแรก หรือที่เรียกว่า กองทุน IPO อาจจะสายเกินไป คำตอบคือ การลงทุนไม่มีคำว่าสายเกินไป ขอเพียงแค่ศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ ถามตัวเองให้ดี ๆ เพราะหากกระโดดเข้าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าอาจได้รับความเสียหาย
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงและทำให้แผนการลงทุนบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุน IPO ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยอันดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่า กองทุนที่จะซื้อ “ใช่ที่ต้องการหรือไม่” เช่น ต้องการลงทุนหุ้นก็ต้องซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ต้องการลงทุนตราสารหนี้ก็ต้องซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น
โดยข้อมูลที่นักลงทุนสามารถศึกษาได้เบื้องต้น คือ เอกสารที่เรียกว่า Fund Fact Sheet หรือหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะให้ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่ควรทราบเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ๆ เพื่อนำมาใช้พิจารณาว่าการลงทุนในกองทุน IPO ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนหรือไม่ มีดังนี้
Theme การลงทุน หรือกรอบในการคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุน เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มตราสารหนี้ กลุ่มตลาดกำลังพัฒนา เป็นต้น โดยนำมาพิจารณาว่า Theme ดังกล่าวอยู่ในความสนใจของตัวเองหรือไม่ แตกต่างหรือเหมือนกับกองทุนรวมที่มีอยู่แล้วในพอร์ตอย่างไร จากนั้นก็อ่านข้อมูลสินทรัพย์ลงทุนนั้น ๆ ว่ามีแนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างไร
นโยบายการลงทุน โดยศึกษาว่ากองทุน IPO นั้นลงทุนในสินทรัพย์อะไร เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว (Master Fund) หรือหลายกอง และมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเท่าไร กลุ่มสินทรัพย์ที่กองทุนจะถืออยู่ในพอร์ตมีอะไรบ้าง ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์ข้อมูลของสินทรัพย์ลงทุนได้อย่างถูกต้อง รวมถึงติดตามการดำเนินงานของกองทุนเมื่อลงทุนไปแล้ว
กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกหรือเชิงรับ หากเป็นกองทุนเชิงรุก (Active Fund) คือ กองทุนที่ต้องการเอาชนะตลาดหรือดัชนีชี้วัด (Benchmark) ด้วยการหาสินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด โดยใช้ทักษะฝีมือของผู้จัดการกองทุนมาเป็นตัวตัดสิน ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้ง่ายตามสภาวะของตลาดในขณะนั้น ๆ ส่วนกองทุนเชิงรับหรือกองทุนอิงดัชนี (Index Fund) เป้าหมาย คือ พยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ให้มากที่สุด
ระดับความเสี่ยงของกองทุน ควรนำมาเปรียบเทียบว่ามากหรือน้อยกว่าระดับความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้ ด้วยการทำแบบประเมินความเสี่ยง หมายความว่า ก่อนซื้อกองทุน IPO ต้องรู้ระดับความเสี่ยงของตัวเองก่อน เช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงก็สามารถลงทุนกองทุนหุ้นได้ แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำก็ควรเน้นลงทุนกองทุนตราสารหนี้
ผลตอบแทนย้อนหลังเทียบกับ Benchmark เนื่องจากกองทุน IPO เป็นการระดมทุนไปลงทุนสินทรัพย์ลงทุนที่มีอยู่แล้วในตลาด โดยสามารถดูผลตอบแทนย้อนหลังของสินทรัพย์ลงทุนนั้น ๆ จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะมีการแสดงผลตอบแทนย้อนหลัง
ข้อมูลประกอบอื่น ๆ เช่น เป็นกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่ เป็นกองทุนเปิดทั่วไปหรือกองทุนปิด มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือไม่ หรือหากไปลงทุนต่างประเทศ ลงทุนด้วยสกุลเงินอะไร และมีการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ เป็นต้น
ข้อดีของการซื้อกองทุน IPO
ข้อเสียกองทุน IPO
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าราคากองทุน IPO 10 บาทต่อหน่วย “เป็นราคาที่ถูก” เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันที่ซื้อขายอยู่ในตลาดแล้วและมีราคามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ต่อหน่วยที่สูงกว่า 10 บาท ซึ่งความเป็นจริงเมื่อกองทุน IPO ดำเนินงานมาเรื่อย ๆ ราคา NAV ต่อหน่วยอาจสูงหรือต่ำกว่า 10 บาทต่อหน่วยก็ได้ โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ NAV นั้นมีหลากหลาย เช่น คุณภาพของสินทรัพย์ลงทุน ความสามารถของผู้จัดการกองทุน หนี้สินและค่าใช้จ่าย หรือการจ่ายเงินปันผล
ดังนั้น การซื้อกองทุน IPO ไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ง่าย เพราะต้องศึกษาข้อมูลไม่ต่างจากการซื้อกองทุนที่ขายอยู่ในตลาด เพราะการตัดสินใจซื้อกองทุนสักกองก็ต้องเลือกให้ถี่ถ้วน เพราะถ้าเลือกกองผิดตั้งแต่เริ่มต้น อาจทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมรวนเรได้
ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th