โดย กนกวรรณ แซ่หลิน ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
ในยุคที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้เงินของเราก็จะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ หลายคนจึงหันมาให้ความสนใจการลงทุนมากขึ้น เลือกจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และมักจะคาดหวังผลตอบแทนที่สูงๆ เพื่อนำพาให้ไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน ที่เป็นความฝันของนักลงทุนหลายๆคน แต่ในโลกของการลงทุนบางครั้งก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดไว้เสมอ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการลงทุนและผลตอบแทน ถ้าสถานการณ์การลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาด แทนที่จะได้กำไรกลับขาดทุน หรือผลตอบแทนที่ได้จริงน้อยกว่าที่คาดไว้ ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และความฝันที่จะมีอิสรภาพทางการเงินนั้น ก็จะยิ่งห่างไกลออกไปมากขึ้น
ทางที่ดี เราควรมีการวางแผนการลงทุน บริหารกระจายความเสี่ยง ติดตาม และปรับพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ เพื่อให้การลงทุนนั้นยังอยู่ในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่ต้องการ และบรรลุเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งใจไว้ได้ในที่สุด ซึ่งในการปรับพอร์ตลงทุนเพื่อให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้น สามารถทำได้ด้วย 5 วิธีนี้
หุ้น เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนย่อมสูงด้วย คนที่รับความเสี่ยงได้น้อยใช่ว่าจะต้องลงทุนในพันธบัตรอย่างเดียว แม้ว่าหุ้นจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่าพันธบัตร แต่ถ้าในพอร์ตลงทุนมีการลงทุนทั้งพันธบัตรและหุ้นด้วย หากเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของหุ้นมากขึ้น โอกาสที่ผลตอบแทนที่ได้ย่อมสูงกว่าแน่นอนในระยะยาว ซึ่งน่าดึงดูดมากกว่าการลงทุนในพันธบัตรอย่างเดียว ทั้งนี้ต้องระวังอย่าปรับเพิ่มสัดส่วนของหุ้นมากจนเกินไป จนทำให้ความเสี่ยงโดยรวมเกินความสามารถที่รับได้ แบบนี้ก็คงไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก
แม้ว่าหุ้นของบริษัทขนาดเล็กมักจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่าหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากงบในการจัดตั้งบริษัทน้อยกว่า พนักงานน้อยกว่า การดำเนินงานขนาดธุรกิจเล็กกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การที่หุ้นขนาดเล็กต้องการขยายกิจการจาก 100 ล้านไปสู่ 200 ล้าน (อัตราเติบโต100%) ก็ย่อมทำได้ง่ายกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่ต้องการขยายกิจการจาก 1,000 ล้านไปสู่ 2,000 ล้านในอัตราการเติบโตเดียวกัน บริษัทขนาดเล็กจึงมีประสิทธิภาพและมีโอกาสขยายกิจการแบบก้าวกระโดดได้มากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น พอร์ตลงทุนที่มีสัดส่วนของหุ้นบริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลางมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ มักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพอร์ตลงทุนที่มีหุ้นขนาดใหญ่อย่างเดียว วิธีนี้จะเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น เนื่องจากบริษัทขนาดเล็กมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โอกาสที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ย่อมง่ายและรวดเร็ว บางบริษัทนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ในตลาด เป็นที่ได้รับความสนใจ ส่งผลต่อยอดขายและกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นหากลงทุนหุ้นของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีโอกาสในการเติบโตสูง และสามารถถือหุ้นเหล่านั้นในระยะกลางถึงยาวได้ ผลตอบแทนที่ได้รับย่อมมีโอกาสสูงขึ้นด้วย หากนักลงทุนกลุ่มที่มีทุนสูงเห็นถึงศักยภาพในการเติบโต จะนำมาซึ่งเม็ดเงินที่ไหลเข้ามา ร่วมลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าและราคาของหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
สิ่งที่จะมีผลโดยตรงกับผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน คือ ต้นทุนการลงทุน ซึ่งหนึ่งในต้นทุนนั้น คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการ การจัดการแบบเชิงรุก (Active) จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแบบเชิงรับ (Passive) อย่างมีนัยสำคัญ เช่น เงินลงทุน 1,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมการจัดการแบบเชิงรุก 1.2% (12,000 บาท) แบบเชิงรับ 0.4% (4,000 บาท) จะเห็นได้ว่าแบบเชิงรุกกับเชิงรับต่างกันเกือบ 3 เท่า ซึ่งกองทุนดัชนีล้วนจัดการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive) ทั้งสิ้น หากบริษัท/หุ้นที่กองทุนเลือกลงทุนนั้นไม่ต่างกัน การเลือกลงทุนแบบเชิงรับจะช่วยลดต้นทุนการลงทุน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่จะได้ให้มากขึ้นด้วย
การลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทที่มีลักษณะต่างกันในสัดส่วนที่เหมาะสม จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น ช่วยลดความผันผวนของพอร์ต เวลาขาดทุนจะได้ไม่เจ็บหนัก และยังช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนได้ เนื่องจากประเภทสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ต่ำ เมื่อเกิดสถานการณ์ใดขึ้น มูลค่าสินทรัพย์ตัวหนึ่งลดลง แต่อีกตัวจะเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าเราลงทุน 100,000 บาทในหุ้นอย่างเดียว ถ้าหุ้นขาดทุน 10% เท่ากับว่า เราจะขาดทุน 10,000 บาท แต่ถ้าเราแบ่งกระจายเงินลงทุนเป็นหุ้น 50,000 บาท ตราสารหนี้ 30,000 บาท ทองคำ 20,000 บาท ต่อมาตลาดเกิดความผันผวนทำให้หุ้นขาดทุน 10% (-5,000) ตราสารหนี้กำไร 5% (+1,500) ทองคำกำไร 10% (+2,000) โดยรวมแล้วทำให้ขาดทุนจริงๆเพียงแค่ 1,500 บาทเท่านั้นเอง จะเห็นได้ว่าการกระจายการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนและประคองผลตอบแทนให้เป็นไปตามที่คาดหวังได้
เมื่อลงทุนไปได้ระยะหนึ่ง สัดส่วนการลงทุนของพอร์ตจะเปลี่ยนไป เนื่องจากสินทรัพย์ที่ลงทุนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามสภาวะของตลาด ระดับความเสี่ยงของพอร์ตก็จะเปลี่ยนไปด้วย เช่น วางแผนลงทุนสัดส่วนหุ้นต่อพันธบัตร 50/50 ผ่านไป 1 ปีหุ้นเติบโตขึ้นทำให้สัดส่วนเปลี่ยนเป็น 60/40 เราจำเป็นต้องมีการปรับสมดุลของพอร์ต ทำให้สัดส่วนการลงทุนกลับมาเป็น 50/50 เหมือนเดิม เพื่อให้พอร์ตอยู่ในระดับความเสี่ยงเดิม และยังสามารถสร้างผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ได้ด้วย ในการปรับสมดุลของพอร์ต (Rebalancing) สามารถทำได้ด้วย 3 วิธี คือ
5 วิธีดังกล่าวนี้เป็นวิธีง่ายๆที่นักลงทุนทุกคนสามารถทำได้ และสามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุนได้ไม่มากก็น้อย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลตอบแทน คือสิ่งที่นักลงทุนทุกคนคาดหวังจากการลงทุน และมักจะมองหาวิธีต่างๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สูงที่สุดเท่าที่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าผลตอบแทนเลย คือ เป้าหมายการลงทุน หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ระยะเวลาที่ต้องการลงทุน รู้ระดับความเสี่ยงที่รับได้ และผลตอบแทนที่ต้องการ บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องมองหาผลตอบแทนที่สูงที่สุด เพียงแค่บริหารพอร์ตลงทุนไม่ให้เสี่ยงเกินไป ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และปรับพอร์ตลงทุนให้สร้างผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวังไว้ เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้เช่นกัน
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th