โดย สุทธสินี สุวรรณาพิสิทธิ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
“เตรียมเกษียณ” เป็นเรื่องที่สังคมไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น เหตุเพราะสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วในปี2564 ประชากรมากกว่า20% มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ คนวัยเกษียณมีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเกษียณได้อย่างแท้จริง เพราะเงินออมเกษียณที่เตรียมไว้ มีไม่มากพอ
อีกทั้ง หลายคนหวังพึ่งพาลูกหลานหรือคนในครอบครัว ซึ่งในสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมการใช้ชีวิต คือ เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้การหวังพึ่งพิงยามเกษียณ อาจเป็นปัญหาทางการเงินของหลาย ๆ ครอบครัวในอนาคต
เงินออมเกษียณเป็นเงินออมก้อนใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมเงิน โดยใช้ช่วงชีวิตการทำงานหารายได้ เพื่อรายจ่ายในการดำรงชีวิตแล้ว เงินออม คือ ส่วนสำคัญที่ต้องมีวินัยในการเก็บให้มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยปัจจัยสำคัญ 4 ประการในการออมเงินเพื่อเกษียณ ได้แก่
1.ระยะเวลาในการออม ออมก่อนรวยกว่า พูดง่าย ๆ เริ่มต้นเร็วย่อมดีกว่าเริ่มต้นช้า
2.เงินออมแต่ละงวด จำนวนมากเท่าไรยิ่งดี แต่ทั้งนี้ขึ้นกับรายได้และรายจ่ายของแต่ละบุคคล
3.อัตราผลตอบแทน ยิ่งมากยิ่งเป็นที่ต้องการ แต่ High Risk High Return ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงของเงินต้นก็สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้น การจะนำเงินไปสะสมที่แหล่งออมหรือลงทุนใด ๆ ต้องมีความรู้ในสิ่งนั้น และยิ่งเป็นเงินออมเกษียณยิ่งต้องมั่นใจว่าเงินต้นจะไม่สูญหาย เพราะเงินเกษียณ คือ เงินรับรองคุณภาพชีวิตของตัวเรายามเกษียณ
4. เงินเฟ้อ เป็นปัจจัยที่คาดคะเนไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าเงินที่แท้จริง และทำให้อำนาจการใช้จ่ายลดน้อยลง โดยเงินเฟ้อ ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นซื้อสินค้าและบริการได้เท่าเดิม เช่น ค่าโดยสารรถเมล์จากเดิม 2.50 บาท เพิ่มเป็น 8.50 บาท หรือหมูปิ้งจากไม้ละ 3 บาท เป็น 10 บาท
เงินเฟ้อ คือ ศัตรูสำคัญของเงินออมเกษียณอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเงินออมที่ตั้งใจเตรียมไว้ใช้ยามเกษียณ แปลว่า กว่าจะถึงวันเกษียณ เงินที่ตั้งใจสะสมไว้ใช้เกษียณจะมีมูลค่าลดลง จึงต้องคิดวางแผนเก็บออมเงินเกษียณเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ ณ ปัจจุบัน ด้วยการปรับมูลค่าเงินเฟ้อไว้ด้วยจะเป็นการดี
ระยะเวลากว่าจะถึงเกษียณ (ปี) | ตัวคูณเงินเฟ้อ |
0 – 10 ปี | 1.20 |
11 – 20 ปี | 1.50 |
21 – 30 ปี | 1.80 |
31 – 40 ปี | 2.20 |
หมายเหตุ : ตัวคูณเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่อ้างอิงจากหนังสือ Money101 : เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข ที่คิดจากฐานการเพิ่มของค่าเงินเฟ้อในอดีตของประเทศไทยในช่วงหลังปี 2540
ตัวอย่าง
นายเอ อายุ 35 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 60 ปี เหลือเวลาทำงาน 25 ปี ตัวคูณเงินเฟ้อของนายเอคือ 1.80 หากนายเอ ต้องการเก็บเงินเกษียณ 5,000,000 บาท นายเอต้องเก็บเงินด้วยตัวเลข 5,000,000 *1.80 เท่ากับ 9,000,000 บาท
เมื่อนายเอ เห็นตัวเลขนี้แล้ว ย่อมทำให้นายเอตระหนักถึงความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการออมเงินเกษียณว่าต้องวางแผนการเก็บออมและเริ่มออมอย่างจริงจังเพื่อเป้าหมายในการเกษียณอย่างที่ตนเองต้องการ
เงินเฟ้อ อาจทำให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณต้องลดน้อยลง หากเงินออมเกษียณไม่เพียงพอต่อระยะเวลาในการดำรงชีพเพื่อการเกษียณในปลายทางของชีวิต การเกษียณไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนเพื่อให้เกษียณอย่างมีความสุขคุณพร้อมออมเงินเกษียณกันเมื่อไรดี?
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th