โดย วิไล รักต้นตระกูล ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
ชีวิน พ่อหม้าย หนุ่มใหญ่ ผู้บริหารบริษัทเอกชนวัย 55 ปี ผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาท คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่ดูแลลูกสาว 2 คน ที่ผ่านมาด้วยภาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลี้ยงดูบุตรทั้ง 2 คนด้วยตัวคนเดียว และ การดูแลคุณแม่ในวัยชราที่มีอาการป่วยเรื้อรัง ทำให้สถานะทางการเงินในวัยใกล้เกษียณของชีวิน ไม่ค่อยจะดีนัก หลังจากลูกสาวคนที่ 2 เรียนจบปริญญาตรีในปีนี้ และ คุณแม่ก็ได้จากไปด้วยโรคชราก็ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของชีวินลดลง และมีเวลาได้หันกลับมามองอนาคตเกษียณของตนเองได้เต็มที่ แต่ด้วยเหลือเวลาการทำงานอีกแค่ 5 ปี ก็จะต้องเกษียณอายุ เงินเก็บที่มีอยู่ก็มีไม่ได้มากนัก จึงทำให้ชีวินมีความกังวล และต้องการวางแผนการเงินด้านการเกษียณอย่างจริงจังเพื่อตัวเองเสียที หลังทำเพื่อครอบครัวมาตลอดชีวิต ชีวินจึงได้ติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษากับ “อิสระ” นักวางแผนการเงิน ผู้มีสโลแกนประจำตัว ว่าเป็น “นักสร้างอิสรภาพทางการเงินมืออาชีพ” มาเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้กับตนเอง
เบื้องต้น “อิสระ” อธิบายเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้ชีวินฟังดังนี้
การวางแผนก่อนการเกษียณจะประกอบไปด้วยเงิน 3 ก้อนหลักๆ ที่จะต้องเตรียมคือ
1. เงินก้อนแรก เป็นค่ากินอยู่ใช้จ่ายตั้งแต่วันเกษียณจนถึงปั้นปลายชีวิตว่าต้องใช้เงินประมาณเท่าไรถึงจะเพียงพอ เงินก้อนนี้มีความสำคัญและจำเป็นที่ทุกคนจะต้องมี โดยที่จะต้องคิดปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเข้ามาคำนวนด้วย เพื่อความมั่นใจว่าเงินที่เตรียมไว้จะเพียงพอจริงๆ
2. เงินก้อนที่สอง เป็นเงินสำหรับจ่ายค่าดูแลสุขภาพของตนเองในวัยเกษียณ ซึ่งอาจจะเป็นเงินมหาศาลหากเรามีปัญหาด้านสุขภาพมากๆ ในอนาคต ตรงนี้การซื้อประกันสุขภาพเตรียมไว้ตั้งแต่สุขภาพยังแข็งแรง ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและเงินที่จะต้องเตรียมได้ แต่ในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่ก่อนเกษียณ ก็จะไม่สามารถทำประกันสุขภาพเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้ ก็จะต้องเตรียมเงินในส่วนนี้ไว้มากพอสมควร จะมากแค่ไหนก็ขึ้นกับโรงพยาบาลที่ทำการรักษา และ อาจจะมีการใช้สิทธิ์สวัสดิการบัตรทองมาเป็นตัวช่วย กรณีที่มีเงินไม่เพียงพอจะทำการรักษาในระบบโรงพยาบาลเอกชน
3. เงินก้อนที่สาม เป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายสันทนาการ การท่องเที่ยวในวัยเกษียณ เพราะทุกคนก็ต้องการเกษียณอย่างเกษม มีความสุขในบั้นปลายชีวิต ดังนั้นเงินก้อนนี้จึงควรต้องมีไว้ อาจจะมากน้อยต่างกันตาม lifestyle ของแต่ละคน และในคนที่มีความมั่งคั่งสูงและต้องการส่งต่อมรดกก็จะมีสินทรัพย์ต่างๆ ให้กับทายาทก็จะมีการวางแผนส่งต่อมรดกที่จะต้องวางแผนเพิ่มเติมอีกด้วย
อีกสิ่งสำคัญที่เราต้องเตรียมคือ แหล่งรายได้หลังเกษียณ เราอาจจะงงว่าเกษียณแล้วเราจะมีรายได้อย่างไรล่ะ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องวางแผนในระยะยาวว่าเราจะมีรายได้หลังเกษียณเป็นอะไรได้บ้าง โดยหลักการแล้วเมื่อเราเกษียณอายุ การเอาตัวเรา แรงงาน สติปัญญา และ เวลาของเรา ไปทำงานเพื่อแลกกับรายได้เข้ามาที่เรียกว่า active income ก็จะไม่เหมาะสมด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงตามวัย ดังนั้นแหล่งรายได้ที่เป็นลักษณะ passive ที่มีลักษณะรายได้ที่เกิดจากการลงทุนสร้างไว้ในช่วงหนุ่มสาว และให้ดอกผลออกมาเป็นกระแสเงินสดกับเราอย่างต่อเนื่อง โดยที่เราไม่ต้องลงมือทำอยู่ตลอดเวลา จะเป็นอะไรที่เหมาะสมกับวัยเกษียณอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่าง แหล่งรายได้ที่เป็น passive income ให้เห็นภาพชัดขึ้น ดังนี้ เงินบำนาญในระบบราชการ เงินบำนาญจากประกันบำนาญ เงินคืนชราภาพจากประกันสังคม ค่าเช่าคอนโด บ้าน และ ที่ดิน, เงินปันผลจากหุ้นในตลาดและนอกตลาด เงินปันผลจากกองทุนรวม ดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ ดอกเบี้ยจากเงินฝากสหกรณ์ และ อื่นๆ
สมมุติว่าค่ากินอยู่ใช้จ่ายหลังเกษียณ 30,000 บาท/เดือน
หากเราวางแผนเรื่องหลังรายได้หลังเกษียณไว้แล้วเราจะมีรายได้ต่อเดือนดังนี้
แหล่งรายได้หลังเกษียญ | บาท/เดือน |
1. เงินคืนประกันสังคม | 6,375 |
2. เงินบำนาญจากประกันบำนาญ | 10,000 |
3. ค่าเช่าคอนโด | 15,000 |
4. ปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม | 3,000 |
รวมกระแสเงินสด | 34,375 |
ในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าถ้าเราเริ่มวางแผนสร้าง passive income ยิ่งไวแผนเกษียณที่เราวางไว้ก็จะสำเร็จตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะ passive income จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการรองรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของเราได้ ถ้าวางแผนดีๆ passive income ก็จะสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ถึง 100% เลยทีเดียว ดังตัวอย่างที่แสดงด้านบน
ชีวิน ถอนใจเฮือกใหญ่ “ผมก็พอเข้าใจในหลักการนะครับ แต่ก็ยังมีความกังวลว่าในเรื่องของเงินที่จะต้องเตรียมว่าจะมีเพียงพอสำหรับเกษียณหรือเปล่า เพราะ ผมมาเริ่มคิดเรื่องเกษียณตอนอายุเยอะแล้ว”
อิสระจึงบอกว่า “เราลองมาวางแผนกันดูครับพี่ เริ่มช้าก็ยังดีกว่าไม่คิดจะเริ่มทำเลย เพราะถ้ารอจนวันเกษียณก็สายเสียแล้วครับ”
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th