โดย ไพจิตร สิงหาโชติ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
ด้วยเหตุผลนานาประการ ที่คนมีครอบครัวจะต้องใช้ความคิดในการวางแผนและจัดการหลายๆ เรื่อง ทั้งภาระหน้าที่การงาน และภาระหน้าที่ในการดูแลคนในครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข และวางแผนอนาคตของตนเองให้สุขสบายยามเกษียณ ล้วนเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงควรใช้ชีวิตในแต่ละช่วงวัย ให้เต็มอิ่มไปด้วยความสุขเสมอ … กับแนวคิดความรุ่มรวยทางจิตใจ
“Abundance Mindset” หรือ “ความรุ่มรวยทางจิตใจ” คือ เคล็ดลับในการสร้างความสุขของคนมีครอบครัว และมีบุตรในช่วงวัยกำลังเติบโต
ความหมายของความรุ่มรวยทางจิตใจ คือ ความรู้สึกอิ่ม ความรู้สึกสมบูรณ์ในตัวเรา ความรู้สึกอิ่มเอมใจ ถึงแม้ว่าไม่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด แต่เป็นความรู้สึกแบบที่ ไม่ขาดแคลน ไม่ต้องโหยหาหรือกอบโกยอีกต่อไป มีจิตใจที่เปิดกว้าง มีความอิ่มตัว จนอยากแบ่ง อยากให้กับคนรอบข้าง ให้ความสุขกับบริวาร …
(คำนิยามโดย นพ.วินัย โบเวจา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดและทางเดินหายใจ)
แนวคิดนี้ผู้เขียนจึงนำมาใช้ในการบริหารชีวิตของตนเอง ให้มีความอิสระ ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นกับสิ่งที่เป็นลบต่อจิตใจ ไม่ยึดติดกับแรงกดดันของสังคม วางเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนกับการสร้างคุณค่าในตนเอง สร้างกัลยาณมิตรรอบตัวที่มีความหมายและพึ่งพากันได้ และมีอิสระทางการเงินในการซื้อความสะดวกสบายให้กับตนเองยามเกษียณ
เริ่มต้นตั้งแต่ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของครอบครัว ต้องยอมรับว่าหากในทุกๆ เดือน รายได้ของครอบครัวมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก นั่นคือเราสามารถจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้เป็นอย่างดี ภาษาที่พูดในครอบครัวก็จะเป็นภาษาดอกไม้ แต่ถ้ากระแสเงินสดสุทธิเป็นลบ ทุกอย่างในครอบครัวก็จะตึงเครียดไปหมด เคล็ดลับในการสร้าง Abundance Mindset ในครอบครัว ประกอบด้วย
จัดแยกประเภทของค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพื่อดูสัดส่วนของการใช้จ่ายเงินที่แท้จริง
กระแสเงินสดสุทธิของครัวเรือน = รายได้ – ค่าใช้จ่ายเพื่อการออม – ค่าใช้จ่ายคงที่ – ค่าใช้จ่ายผันแปร
หากครอบครัวใดมีกระแสเงินสดสุทธิของครัวเรือนเป็นบวก (จะคำนวณเป็นรายเดือน หรือรายปีได้) ย่อมมีความสุขได้ไม่ยาก แต่หากครอบครัวใดมีผลลัพธ์ตรงกันข้าม ก็จะมีเรื่องยุ่งยากให้คิดทบทวนไม่น้อยเลย ทั้งนี้ผู้เขียนอยากให้พิจารณารายได้ และค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อการปรับแผนการใช้จ่ายได้ง่ายที่สุด
เมื่อพิจารณารายการค่าใช้จ่ายข้างต้น จะพบว่า ค่าใช้จ่ายที่ปรับปรุงได้ง่ายที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายผันแปร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว และค่าสันทนาการ ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างความสุขในแต่ละวันของเรา
ทั้งนี้ผู้เขียนก็ไม่ได้ให้ตัดค่าใช้จ่ายนี้ออกโดยสิ้นเชิง แต่คนในครอบครัวต้องมาช่วยกันพิจารณาร่วมกัน เช่น ค่าใช้จ่ายผันแปรที่เป็นค่าสันทนาการ หากคนในครอบครัวมักทานอาหารนอกบ้านเป็นประจำ หรือมีนัดปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ทุกสัปดาห์ ก็อาจจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เหลือเพียงการนัดปาร์ตี้นอกบ้าน 1-2 ครั้งต่อเดือน และเน้นการทำอาหารทานกันเองในครอบครัว ก็เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้ หรือค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว จากที่ต้องเที่ยวแบบหรูๆ ในแต่ละปี ไปท่องเที่ยวทีก็ต้องรูดบัตรเครดิตเต็มวงเงิน ก็ปรับเปลี่ยนเก็บเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการวางแผนท่องเที่ยวแต่ละครั้ง เพื่อไม่เป็นภาระผูกพันกับปัญหาการชำระค่าบัตรเครดิตในระยะยาวของครอบครัว นี่ก็เป็นความอิ่มเอมใจที่สร้างได้จากความรุ่มรวยทางจิตใจได้เช่นกัน
วางแผนค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตรอย่างมีความสุข
สำหรับครอบครัวที่มีบุตร ก็คงหลีกหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตร ตั้งแต่วัยเตรียมอนุบาล วัยอนุบาล ระดับประถม ระดับมัธยม ระดับอุดมศึกษา หรือบางครอบครัววางอนาคตการศึกษาของบุตรถึงการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันการค้นหาข้อมูลค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในแต่ละช่วงวัยของบุตรก็ไม่ใช่เรื่องยากในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น หากการเตรียมค่าใช้จ่ายการศึกษามีระยะยาว 7 – 10 ปี ขึ้นไป ก็ควรพิจารณาบวกอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเข้าไปด้วย ถึงแม้ว่าในระยะสั้นก็ยังมีอัตราเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็มีส่วนต่างบวกลบนิดหน่อย ซึ่งผู้ปกครองที่วางแผนค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ไว้ ก็จะรับมือได้ในช่วงสถานการณ์สั้นๆ นี้ได้อยู่แล้ว
นอกเหนือจากการเก็บออมเงิน หรือลงทุนเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้บุตร ซึ่งพ่อแม่ก็จะพิจารณาเรื่องอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้จากความผันผวนของการลงทุนในแต่ละรูปแบบ อีกแนวทางหนึ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับพ่อแม่คือการออมผ่านการประกันชีวิตสะสมทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้บุตร หากเริ่มทำประกันให้บุตรตั้งแต่อายุ 1 ขวบปีแรก เช่น แบบประกันเพื่อการศึกษา 21/21 โดยมีเงินคืน 10% ในทุกๆ 3 ปี และเมื่อครบสัญญาได้รับเงินคืนอีก 140% ของทุนประกัน
หากพิจารณาที่ทุนประกัน 1 ล้านบาท (บุตรอายุ 1 ขวบ ชำระเบี้ยประกัน 88,350 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 21 ปี เป็นจำนวนเงิน 1,855,350 บาท) โดยมีความคุ้มครองเพิ่มขึ้นในทุกๆ 3 ปีตลอดการศึกษา และมีเงินคืนเป็นทุนการศึกษาให้บุตรในแต่ละช่วงอายุ ทุกๆ 3 ปีจะได้รับเงินคืนจากประกันชีวิตสะสมทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษา 100,000 บาท และเมื่อบุตรอายุ 21 ปี ใกล้เรียนจบระดับอุดมศึกษา มีเงินคืนจากประกันชีวิตสะสมทรัพย์ 1,400,000 บาท รวมเงินคืน 2 ล้านบาท
แผนภาพระยะเวลาความคุ้มครองและการชำระเบี้ยประกัน พร้อมได้รับเงินคืนในแต่ละช่วงอายุ
ซึ่งบุตรสามารถนำไปเป็นทุนตั้งต้นในการเรียนต่อระดับปริญญาโท ในประเทศหรือต่างประเทศได้ หรือจะเริ่มต้นด้วยการเริ่มทำธุรกิจของตนเอง ก็จะมีเงินทุนตั้งต้นหลังจบการศึกษาได้
แม้ตัวอย่างที่นำเสนอข้างต้นอาจจะไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรที่เรียนในหลักสูตรนานาชาติ แต่ก็นับว่าเป็นการเตรียมค่าใช้จ่ายที่แบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้พอสมควร หากเป็นการศึกษาในโรงเรียนของภาครัฐ ก็ยังคงมีเงินเหลือเก็บออมไว้เพื่อเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ของครอบครัว ได้อีกด้วย
ข้อดีของการวางแผนการศึกษาด้วยการประกันชีวิต เป็นการสร้างความรุ่มรวยทางจิตใจให้กับพ่อแม่ที่มีบุตรอยู่ในวัยเรียนนับว่าเป็นการวางแผนความมั่นคงทางการศึกษาให้บุตรได้อย่างแน่นอน ซึ่งหากผู้เอาประกันเป็นผู้ปกครองของบุตรที่อยู่ในวัยเรียน และเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง ผลประโยชน์ที่ได้รับจากความคุ้มครองประกันชีวิต ก็จะช่วยทำให้เป้าหมายการศึกษาของบุตรเป็นจริง หรือยังตกทอดเป็นมรดกให้บุตรหลานได้ อีกทั้งในช่วงระยะเวลาของการชำระเบี้ยประกันยังสามารถนำค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีประจำปีได้
ณ วันที่ลูกจบการศึกษา พ่อแม่พร้อมเกษียณสุข
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายในครอบครัว หรือการวางแผนการศึกษาของบุตร สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การวางแผนเกษียณสำหรับตนเองด้วย ซึ่งหากเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เริ่มวัยทำงาน ก็จะไม่เหนื่อยมากในแต่ละช่วงวัย และมีโอกาสที่เป้าหมายทางการเงินสำหรับการเกษียณจะใกล้ความเป็นจริงแบบเกษียณสุขได้มากกว่า
แนวทางการออมเงินสำหรับการเกษียณ มีให้เราเลือกลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ หากผู้อ่านเป็นพนักงานประจำในองค์กรเอกชน หลายๆ องค์กรจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งพนักงานสามารถเลือกออมเงินสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% และบริษัทสมทบให้อีก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของแต่ละองค์กร โดยพนักงานสามารถเลือกแผนการลงทุนได้หลากหลาย ซึ่งหากนโยบายของบริษัทฯ มีแผนการลงทุนที่ตอบโจทย์ในเรื่องอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่พนักงานรับได้ก็ควรออมเงินสะสมให้สูงสุดเพื่อการเติบโตของกองทุน แต่ถ้าหากนโยบายของบริษัท มุ่งเน้นการลงทุนในแผนที่ปกป้องเงินต้น หรือรับความเสี่ยงได้น้อย พนักงานควรจัดสรรเงินสะสมส่วนหนึ่งไปลงทุนในการออมเงินภาคสมัครใจ เช่น กองทุนรวม (Mutual Fund) SSF RMF เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า ต่อยอดให้เงินออมสำหรับการเกษียณเพิ่มพูนขึ้นได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ผู้เขียนอยากแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ต้องการปกป้องเงินต้นและยังมีรายได้ประจำหลังเกษียณแม้ไม่ได้ทำงานแล้ว ดังนี้
แบบประกันบำนาญ (Annuity Plan)
เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางทางเลือกหนึ่งที่ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า แผนการเงินนี้ช่วยให้ผู้เขียนมีความรุ่มรวยทางจิตใจทุกครั้งที่ได้อ่านความคุ้มครองในกรมธรรม์ประเภทนี้ หากผู้เขียนต้องการรายได้ประจำหลังการเกษียณทุกๆปี ตลอดอายุขัย เป็นเงินปีละ 360,000 บาท (หรือคำนวณเป็นรายได้เดือนละ 30,000 บาท) ซึ่งยังไม่นับรวมกับรายได้ผู้สูงอายุที่ภาครัฐสนับสนุนให้เมื่ออายุครบ 60 ปีขึ้นไป จึงอยากให้ผู้อ่านลองพิจารณาแบบประกันบำนาญที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ตั้งแต่อายุ 55 – 85 ปี ด้วยคาดการณ์ว่าอายุจะยืนยาวและมีรายได้เลี้ยงดูตนเองจนสิ้นอายุขัยตลอด 30 ปีที่ไม่ได้ทำงาน
แบบประกันบำนาญ รับเงินบำนาญเป็นรายได้รายเดือน หรือรายได้ประจำปี หากมีเงินคืนรายงวดเป็น 24% ทุกๆ ปี ณ วันครบรอบปีกรมธรรม์จนครบอายุ 85 ปี และรับรองเงินบำนาญ 20 ปี หากจากไปก่อนวัยอันควร
โดยพิจารณาทุนประกัน 1.5 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยสำหรับเพศชาย อายุ 35 ปี ชำระเบี้ยประกัน 295,000 บาทต่อปี จนครบอายุ 55 ปี และในแต่ละปีสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามวงเงินชำระเบี้ยประกันจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี (เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพ สูงสุด 100,000 บาท) ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองและเงินคืนเป็นรายได้ประจำหลังเกษียณ
ณ ช่วงระยะเวลาที่ชำระเบี้ยประกัน จะได้รับความคุ้มครองชีวิต ตามวงเงินความคุ้มครองแบบคงที่ หรือวงเงินความคุ้มครองเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งมีแบบประกันให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันได้ อีกทั้งยังมีข้อดีในการสร้างความคุ้มครองด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการศึกษาสำหรับคนในครอบครัว
ณ อายุครบ 55 ปี ผู้เอาประกันเริ่มรับบำนาญ จะได้รับเงินรายปีๆ ละ 360,000 บาท ต่อปี หรือรายเดือนๆ ละ 30,000 บาท
เป็นประจำทุกปี จนอายุครบ 85 ปี รวมเป็นเงินบำนาญทั้งสิ้น 11,160,000 บาท หรือหากเสียชีวิตในช่วงก่อนรับบำนาญครบ 20 ปี จะได้รับเงินเป็นจำนวนเดียวซึ่งเท่ากับมูลค่าปัจจุบันของบำนาญที่ยังไม่ได้จ่ายจนครบ 20 ปี
จากตัวอย่างข้างต้น ผู้อ่านสามารถปรับเปลี่ยนทุนประกัน ในการชำระค่าเบี้ยประกันแต่ละปีที่ยังคงสอดคล้องกับรายได้ต่อปีของครอบครัว เพื่อเน้นการบริหารค่าใช้จ่ายที่ให้กระแสเงินสดสุทธิของครัวเรือนเป็นบวกเสมอ และหมั่นทบทวนแผนการเงินเป็นประจำทุก และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของครอบครัว เช่น การมีบุตรเพิ่มเติม หรือการซื้อบ้านใหม่เพื่อรองรับครอบครัวที่ขยายขึ้น
ท้ายที่สุด เพื่อให้ทุกเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างครอบครัว เริ่มวางแผนมีบุตร การศึกษาของบุตร หรือเตรียมตัวเพื่อการเกษียณของตนเอง สามารถสร้างความสุข และความอิ่มเอมใจ อีกทั้งยังส่งต่อไปสู่บุคคลรอบข้างได้จากการวางแผนแบบความรุ่มรวยทางจิตใจ เพื่อทุกเป้าหมายได้สำเร็จเป็นจริงได้ และไม่ลืมความสุขในระหว่างทางเช่นกัน
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th