สวัสดี เพื่อนๆ สมาชิกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยทุกท่านนะครับ หากท่านติดตามข่าวสารกิจกรรมของ สมาคมฯ ผมเชื่อว่าทุกท่านอาจพอได้ทราบว่า เราได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตรแก่สมาชิกใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นไปในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมขอถือโอกาสนี้ต้อนรับสมาชิกใหม่ ทั้งท่านที่เป็นนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT อีกครั้ง นะครับ โดยรอบนี้มีผู้เข้าร่วมรับมอบวุฒิบัตรกันอย่างคึกคัก เป็นจำนวนกว่า 270 ท่าน เพราะเราอั้นกันมากว่าสามปี ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่เพื่อนสมาชิกใหม่ได้มีโอกาสมาพบปะ ทำความรู้จัก และสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ผมขอชื่นชมในความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของทุกท่านอีกครั้งครับ
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของสมาคมฯ นั้น สมาคมฯ จะยังคงทำงานร่วมกับเอเจนซี่ด้านการตลาด เพื่อสานต่อกลยุทธ์การสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP เพื่อต่อยอดและขยายผลเป้าหมายการสร้าง Brand Awareness ของผู้สนใจในวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ที่จะเข้ามาอบรม สอบ และ ขึ้นทะเบียนคุณวุฒิ ส่วนในฝั่งของลูกค้า มีเป้าหมายก่อให้เกิด Call to Action ความต้องการวางแผนการเงินกับนักวางแผนการเงิน CFP โดยในเดือนมิถุนายนนี้ สมาคมฯ จะเริ่มจัดกิจกรรม Workshop วางแผนการเงิน และ Financial Planning Clinic ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สนใจได้รู้จัก และมีประสบการณ์ตรงกับการวางแผนการเงินและนักวางแผนการเงิน CFP
ในส่วนงานด้านการพัฒนาธุรกิจ สมาคมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อดำเนินแผนงานที่จะเป็นประโยชน์โดยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างนักวางแผนการเงิน CFP กับผู้สนใจขอใช้บริการวางแผนการเงิน ซึ่งเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับสมาชิกสมาคมฯ
สุดท้ายนี้ หากเพื่อนๆ สมาชิกมีแนวคิดที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสมาคมฯ และต่อวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ผมยังคงขอเชิญท่านเข้ามา “ร่วมด้วยช่วยกันคิด ร่วมลงแรงช่วยกันทำ” เพื่อช่วยกันผลักดัน พัฒนาและขับเคลื่อนสมาคมฯ วิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ให้ก้าวหน้าต่อไป หรือ สามารถส่งข้อความมาได้ที่ info@tfpa.or.th ตลอดเวลาครับ
วศิน วัฒนวรกิจกุล
นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยจัดการบรรยาย “คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP กับการให้บริการของบุคลากรในธุรกิจประกันชีวิต” ได้รับเกียรติจากผู้บริหารจาก Financial Planning Standards Board (FPSB), Mr. Dante De Gori, CEO และ Mr. Stephen Rotstein, Head of Stakeholder Engagement and Global Partnership เป็นวิทยากรร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP กับการให้บริการวางแผนการเงิน และแชร์ประสบการณ์รูปแบบการให้บริการของตัวแทนประกันชีวิตในประเทศออสเตรเลีย โดยมีคุณวศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย และคุณเรืองศักดิ์ ปัญญาบดีกุล กรรมการการตลาดและพัฒนาธุรกิจ ร่วมต้อนรับ มีสมาชิกจาก Million Dollar Round Table (MDRT) Thailand ร่วมกิจกรรม 58 คน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุม 601-602 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยจัดกิจกรรม Workshop วางแผนการเงินกับนักวางแผนการเงิน CFP® เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนการเงิน และมีประสบการณ์ตรงผ่านเวิร์คช็อปกับนักวางแผนการเงิน CFP ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ การวางแผนการลงทุน การวางแผนประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนเกษียณ มีนักวางแผนการเงิน CFP 31 คน และผู้สนใจ 113 คนเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยได้รับเกียรติจากนักวางแผนการเงิน CFP คุณณรงค์ศักดิ์ พิริยะพงศ์ และคุณศิวัตม์ สิงหสุตกร มาร่วมพูดคุยถึงสาเหตุที่บริษัทประกันปรับเพิ่มเบี้ย และแนะแนวทางสำหรับกรณีที่แผนประกันที่มีปรับเพิ่มค่าเบี้ย และจ่ายเบี้ยไม่ไหว ในรายการ CFP® Professional Talk EP.18 หัวข้อ “เจอปรับเบี้ยประกันจนจ่ายไม่ไหว ทำอย่างไรดี” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ทาง Facebook สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และ SET Thailand และ YouTube สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเสียหายทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าแต่ก่อน หากมองในภาคธุรกิจ เราจะได้ยินข่าวอยู่เนืองๆ ว่ามีสถาบันการเงินขนาดใหญ่บางแห่งที่ต้องล้มละลาย ถูกขาย หรือถูกควบรวม เพียงเพราะตั้งรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จนชวนคิดว่าแล้วในแง่ของการเงินส่วนบุคคลมีอะไรบ้างที่เราควรต้องพิจารณาและให้ความสำคัญมากขึ้น Stress Test หรือการทดสอบภาวะวิกฤต จึงเป็นเรื่องที่มีบทบาทสำคัญ ที่จะทำให้เราได้เห็นว่าหากเกิดสถานการณ์ในเชิงลบที่ส่งแรงกระแทกรุนแรง สร้างความเสียหายขนาดใหญ่แล้ว จะรับมือได้ไหม
ภาคธุรกิจนำเรื่อง Stress Test มาใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะภายหลังเกิดวิกฤติการณ์การเงินโลกเมื่อปี 2551(Global Financial Crisis: GFC) องค์กรกำกับดูแลด้านการเงินระดับโลกอย่าง IMF และ World Bank และธนาคารกลางของแต่ละประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้วางแนวปฏิบัติให้สถาบันการเงินทำ Stress Test เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงหรือจุดเปราะบางที่อาจทำให้เกิดความเสียหายในระดับวิกฤตต่อตัวองค์กรและระบบการเงินโลก ซึ่งแนวคิดนี้ได้ขยายวงออกมายังภาคการเงินส่วนบุคคลด้วย
ในเชิงการวางแผนการเงินส่วนบุคคลนั้น Stress Test ไม่ใช่เพียงการจัดเงินสำรองเพื่อบริหารสภาพคล่องประจำวัน ไม่ใช่จัดสรรพอร์ตการลงทุนเพื่อรองรับความผันผวนจากความเสี่ยงด้านการลงทุนทั่วไป ไม่ใช่การทำประกันเพื่อคุ้มครองชีวิต ทรัพย์สิน ไม่ใช่เพียงแผนการส่งต่อทรัพย์สินให้คนที่อยู่ข้างหลัง แต่เป็นการทดสอบในระดับที่ลึกลงไปเพื่อดูว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในระดับวิกฤตแล้ว แผนการเงินที่ดำเนินอยู่จะยังคงดำเนินต่อไปได้ดีเพียงใด โดยประเมินถึงรูปแบบความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ระดับความรุนแรง รวมถึงกำหนดแนวทางป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายเหล่านั้น
เพื่อให้เข้าใจขั้นตอนของการทำ Stress Test ในระดับการเงินส่วนบุคคลมากขึ้น ผู้เขียนขออ้างอิงวิธีทำ Stress Test ในระดับของการเงินส่วนบุคคลของ Avenger Planner ที่ได้สรุปขั้นตอนการทำ Stress Test ไว้ 5 ขั้นตอนดังนี้
นอกจากงบการเงินแล้วและข้อมูลประกอบแล้ว สมมติฐานทางการเงินที่สมเหตุสมผลของแต่ละบุคคล เช่น อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้/รายจ่าย ไปจนถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าซึ่งจะกระทบกับรายรับ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน ก็เป็นสิ่งที่ควรมี
ตัวอย่างที่ 1
ผู้บริหารระดับกลาง อายุมากกว่า 45 ปี เงินเดือนเดิมมากกว่า 150,000 บาท ภรรยาเป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ทำให้อุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่หดตัว โดยเจ้าตัวประสบเหตุตกงาน และว่างงานเป็นเวลา 3 ปี และหลังจากนั้นจึงหางานใหม่ได้ แต่มีเงินเดือนเพียง 50,000 บาท ซึ่งทำให้
ตัวอย่างที่ 2
ผู้เกษียณอายุ ที่อาศัยรายได้จากเงินออมและกำไรจากการลงทุนเป็นหลัก แต่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทำให้พอร์ตขาดทุนต่อเนื่อง และวิกฤติลากยาวกินเวลา 3 ปี โดยปีแรกขาดทุน -30% ปีต่อไป -15% ปีต่อไป -10% ก่อนที่จะฟื้นตัวในปีถัดไป ซึ่งทำให้
ตัวอย่างที่ 3
ผู้ที่ชื่นชอบการลงทุนในที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องค่อนข้างน้อย ประสบเหตุจำเป็นต้องใช้เงินสดจำนวนมาก เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่และต่อเนื่องให้กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งทำให้
ในขั้นตอนที่ 2 นี้ นักวางแผนการเงินจำเป็นต้องใช้จินตนาการ และใช้มุมมองเชิงลบ โดยไม่คิดว่าเหตุการณ์เลวร้ายไม่น่าเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็ไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคล โดยมองย้อนไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี ซึ่งเราเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากมายและไม่คาดคิด แม้เหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้นโดยตรงกับประเทศไทย แต่ต้องลองสมมติว่าเหตุการณ์ที่พอเป็นไปได้นั้นดันเกิดขึ้นในบ้านเราจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ Test Scenario ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละคนได้มากขึ้น
โดยในขั้นตอนนี้จำเป็นที่ผู้จัดทำ Stress Test จะต้องมีทักษะในการจัดทำงบการเงิน และการทำประมาณการทางการเงิน (financial projection) เพื่อให้สามารถสะท้อนเหตุการณ์ระดับวิกฤตลงไปในงบการเงินได้อย่างถูกต้อง ทั้งในเชิงมูลค่า และในเชิงจังหวะเวลา เช่น
คือขั้นตอนการประมวลผลจากแบบจำลองในขั้นตอนที่ 3 เพื่อดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้น รุนแรงมากน้อยเพียงใด เพราะไม่ใช่ทุกปัญหาที่จะมีความรุนแรงถึงขั้นคอขาดบาดตาย
เมื่อทราบผลกระทบและระดับความรุนแรงของปัญหาแล้ว ก็เป็นขั้นตอนของการหาแนวทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหา เนื่องจากการทำ Stress Test เป็นเพียงการจำลองเหตุการณ์ทำให้มีเวลาในการหาแนวทางแก้ไข ป้องกัน หรือบรรเทาความรุนแรงหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง
สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ Stress Test เป็นเพียงเหตุการณ์สมมติดังนั้นการหาแนวทางป้องกันแก้ไข จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะเจาะจง หรือเป็นสูตรสำเร็จที่เตรียมไว้ใช้ได้ทันที เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจริง คงไม่เหมือนเหตุการณ์จำลองใน Stress Test เสียทีเดียว ดังนั้นแนวทางที่เตรียมไว้จะไม่ใช่ข้อปฏิบัติเป็นข้อๆ แต่เป็นเทคนิคว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ เกิดปัญหาแบบนี้ ควรทำอย่างไร หากอ้างอิงจากตำราการบริหารความเสี่ยง ก็จะมีแนวทางจัดการความเสี่ยงหลักๆ คือ
นักวางแผนการเงินหลายคนอาจมองว่าการทำ Stress Test เป็นเรื่องไกลตัวและยุ่งยาก ยังไม่มีความจำเป็นและการแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าจะแก้ไขได้ตรงประเด็นกว่า แต่กลุ่มผู้เขียนไม่อยากให้ลืมว่าในโลกการเงินทุกวันนี้ล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดาไม่ได้ การทำ Stress Test คือการตั้งหลักเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ในวันที่เกิดวิกฤตจริงๆ นักวางแผนการเงินที่ไวกว่าและเตรียมพร้อมมากกว่าจะสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและบรรเทาปัญหาให้กับผู้รับบริการได้ ในท้ายที่สุดก็จะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากลูกค้าได้ในระยะยาว
หนี้สินเกิดขึ้นจากการมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย พื้นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินคือ การทำให้มีรายได้มากกว่ารายจ่ายและทยอยชำระหนี้คืนจากกระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวก ด้วยวิธีการ 4 รูปแบบคือ 1. เพิ่มรายได้ 2. ลดรายจ่าย 3. ขายสินทรัพย์ และ 4. ปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตามในการบริหารจัดการหนี้สินสำหรับผู้สูงอายุอาจเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ข้อจำกัดในการหางานเพื่อสร้างรายได้ การมีรายจ่ายเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น หรือการไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้จากการไม่มีรายได้ ข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในไตรมาส 3/65 ระบุว่ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีหนี้เสียมากกว่า 1.54 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67.6 คิดเป็นหนี้เสียต่อบัญชีเฉลี่ยประมาณ 77,000 บาท วารสาร TFPA Magazine ฉบับนี้จึงขอนำเสนอประสบการณ์ของนักวางแผนการเงินในการบริหารจัดการหนี้สินของผู้สูงอายุ
ผู้รับคำปรึกษาอายุ 71 ปี ปัจจุบันไม่มีรายได้หลักจากการทำงาน พักอาศัยตัวคนเดียวอยู่ที่คอนโดมิเนียมซึ่งยังมีภาระสินเชื่อ ในช่วงก่อนหน้าผู้รับคำปรึกษาทำงานในบริษัทของครอบครัว ต่อมามีความขัดแย้งกันจึงได้แยกตัวออกมาทำกิจการส่วนตัวแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ในขั้นตอนแรกของการให้คำปรึกษา นักวางแผนการเงินได้รวบรวมข้อมูลทางการเงินดังรายละเอียด
*** ไม่มีหนี้นอกระบบ
ข้อมูลสินทรัพย์ | ผู้รับคำปรึกษามีเงินสดอยู่จำนวนหลักหมื่นบาทเพื่อการดำรงชีวิต และการผ่อนชำระหนี้ที่อยู่อาศัยและชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 2 ใบ มีที่ดินเปล่ามูลค่าประมาณ 900,000 บาท และมีของใช้ส่วนตัวอีกเล็กน้อย |
ข้อมูลรายรับ-รายจ่าย | ไม่มีรายได้หลัก มีกระแสเงินสดรับจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 700 บาท มีรายจ่ายเพื่อการดำรงชีวิตเดือนละ 8,000 บาท |
ข้อมูลด้านสุขภาพ | มีโรคประจำตัว รักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมาอย่างต่อเนื่องด้วยสิทธิประกันสังคม ซึ่งบริษัทของครอบครัวยังจ่ายเงินสะสมเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม (ม.33) ให้ทุกเดือน |
พิจารณาการขอรับเงินบำนาญประกันสังคมเดือนละประมาณ 5,000 บาทตามอายุการเป็นสมาชิก และเปลี่ยนไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาของตนเองได้ที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml และดำเนินการติดต่อสอบถามโรงพยาบาลที่รักษาตัวในปัจจุบันว่ายังสามารถรับผู้ป่วยที่ใช้หลักสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ เพื่อสามารถทำการรักษาที่โรงพยาบาลเดิมอย่างต่อเนื่อง หรือหากต้องเปลี่ยนไปโรงพยาบาลใหม่ก็ควรติดต่อโอนย้ายประวัติการรักษาให้เรียบร้อย จากนั้นพิจารณาทำ งบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ค่าดูแลสุขภาพ และจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้ให้เพียงพอกับส่วนนี้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่ก่อหนี้สินเพิ่มเติม
ในส่วนของคอนโดฯ ปัจจุบันใช้อยู่อาศัย จึงควรพิจารณาหาที่อยู่อาศัยใหม่ เช่น การเช่าที่สอดคล้องกับการหารายได้ หรือพักอาศัยกับญาติพี่น้องเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อได้ที่อยู่อาศัยใหม่แล้วควรทำการขายคอนโดฯ เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เดิม รวมถึงหนี้ส่วนกลาง และหากมีเงินเหลือให้นำมาเก็บไว้เพื่อรอเจรจาชำระหนี้กับเจ้าหนี้อื่น
ในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ หรือการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตามกรณีตัวอย่างข้างต้น หนี้สินส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องทางแพ่ง และการยึด/อายัดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ หรือการฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายเพราะมีหนี้สินจำนวนมาก (บุคคลธรรมดาไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการล้มละลายด้วยตนเอง และส่วนใหญ่เจ้าหนี้จะดำเนินคดีทางแพ่งมากกว่าการฟ้องล้มละลาย) ในส่วนนี้มีบทบัญญัติของกฎหมายในการคุ้มครองให้ลูกหนี้ยังคงมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เช่น เงินค่าเลี้ยงชีพไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน หรือมีทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ ผู้รับคำปรึกษาควรให้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและตรงไปตรงมาในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ขอบข่ายของคดีอยู่ในคดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย ไม่เข้าไปอยู่ในส่วนของคดีอาญาจากการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน หรือการฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือการขัดขวางเจ้าพนักงานบังคับคดีสำหรับการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน
สำหรับกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องคดีเป็นคดีแพ่งต่อศาลและมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะดำเนินการบังคับคดีให้มีการยึด/อายัดทรัพย์สินภายใน 10 ปี และเมื่อเจ้าหนี้ได้ทำกระบวนการบังคับคดีครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึด/อายัดทรัพย์สินได้จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้คืนครบถ้วนตามคำพิพากษา แตกต่างไปจากกระบวนการล้มละลายที่ลูกหนี้สามารถพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ โดยไม่มีหนี้สิน ยกเว้นหนี้หลวง เช่น หนี้กรมสรรพากร หรือหนี้ที่เกิดขึ้นจากการฉ้อโกง หลังจากครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีภายหลังมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย (ระยะเวลาอาจเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี) ดังนั้นในการเจรจาประนีประนอมยอมความ หรือการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ผู้รับคำปรึกษาควรขอคำปรึกษากับหน่วยงานทางกฎหมายที่ให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
ปัญหาหนี้สินมักจะสร้างความเครียดให้แก่ลูกหนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีทางออกจากปัญหาการถูกทวงถามหนี้อยู่เป็นระยะ และการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายด้วยความวิตกกังวล ในการให้คำปรึกษานั้นควรพิจารณาทั้งในด้านสุขภาพใจ สุขภาพกาย และสุขภาพทางการเงินของผู้รับคำปรึกษา สำหรับผู้สูงอายุที่ประสบกับปัญหาหนี้สิน หากยังคงพักอาศัยอยู่กับครอบครัวก็มักจะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากบุคคลในครอบครัวให้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้แบบไม่โดดเดี่ยว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่อยู่อาศัยตัวคนเดียว หรือมีปัญหากับครอบครัวจึงแยกตัวออกมาอยู่อาศัยเอง นักวางแผนการเงินควรคำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้รับคำปรึกษาด้วยการให้กำลังใจ ให้ข้อมูลในการบริหารจัดการทางการเงิน และการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงสนับสนุนแนวทางในการปรับลดทิฐิของผู้รับคำปรึกษา และบุคคลในครอบครัวเพื่อกลับไปสร้างความสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง พูดคุยกันอย่างสุจริตใจให้ต่างฝ่ายได้รับฟังมุมมองของกันและกัน สามารถกลับมาทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้น หรือกลับเข้าทำงานกับธุรกิจของครอบครัว เพื่อจะได้มีรายได้ประจำและรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมในการรักษาพยาบาล รวมไปถึงการให้คำแนะนำในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมของผู้รับคำปรึกษา
หากคุณกำลังมองหาสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอและช่วยเรื่องกระจายความเสี่ยง ตราสารหนี้น่าจะเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ต้องมีในพอร์ตการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะจ่ายผลตอบแทนออกมาในรูปของดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ
ยิ่งในภาวะการลงทุนในปัจจุบันที่อัตราผลตอบแทนในตลาดปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ยิ่งทำให้ตราสารหนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น เทียบกับช่วงปี 2021 ซึ่งอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นเกือบทั่วโลกลงไปอยู่ในระดับใกล้ 0% แต่มาปี 2023 กลับเพิ่มขึ้นมากว่า 4-5% อย่างรวดเร็ว ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้
ETF ตราสารหนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในตราสารหนี้ได้ นอกเหนือไปจากการซื้อตราสารหนี้โดยตรงเป็นรายตัว และผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม Bond ETF มีหลายประเด็นที่ผู้ลงทุนควรทราบ ก่อนตัดสินใจลงทุน
กองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนในตราสารหนี้ และมีการจดทะเบียนให้สามารถซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วราคาของกองทุนจะล้อตามดัชนีตราสารหนี้ที่อ้างอิง ทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ใกล้เคียงกับดัชนีตลาด
แม้ทั้งสองเครื่องมือเป็นการลงทุนในตราสารหนี้เช่นกัน แต่ผลตอบแทนมีความแตกต่างกันทั้งในแง่กระแสเงินสด และส่วนต่างราคา ซึ่งการซื้อตราสารหนี้รายตัวนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะจ่ายดอกเบี้ยชัดเจนทั้งจำนวน ความถี่และอายุของตราสาร และถ้า เริ่มลงทุนตั้งแต่ IPO จนครบกำหนดอายุ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นครบตามที่ตกลงไว้ แต่หากมีการซื้อขายในตลาดรองอาจมีกำไรหรือขาดทุนจากราคาได้ ในขณะที่ Bond ETF ผลตอบแทนที่จ่ายออกมาขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของตราสารที่กองทุนไปลงทุน ขณะที่ราคาของ ETF สามารถปรับขึ้นลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ฉะนั้นผู้ลงทุนอาจขาดทุนจากราคาได้
อย่างไรก็ตามการลงทุนผ่าน ETF ได้เปรียบในแง่การกระจายการลงทุน เนื่องจากกองทุนจะกระจายลงในตราสารหนี้หลากหลายหลักทรัพย์ การลงทุนใน ETF ใช้เงินลงทุนน้อยและยังมีสภาพคล่องที่สูงกว่า สามารถซื้อขายได้บนกระดานหลักทรัพย์ เมื่อเทียบกับการเลือกซื้อเป็นรายตัวที่ต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำสูงและใช้เวลากว่าจะหาคู่ซื้อขายได้อีกด้วย
ในด้านค่าใช้จ่าย การลงทุนในตราสารหนี้รายตัวผ่านตลาดแรกไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการซื้อขายผ่านตลาดรองเท่านั้น ซึ่งต้นทุนสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับมูลค่าการซื้อขายและการต่อรองในครั้งนั้น ส่วนค่าใช้จ่ายของ Bond ETF มีค่าบริหารจัดการกองทุน และค่าดำเนินการอื่นๆที่เก็บจากกองทุน ส่วนค่าธรรมเนียมการซื้อขายนั้นขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่ผู้ลงทุนใช้
Bond ETF และกองทุนตราสารหนี้ เป็นกองทุนรวมเหมือนกันเพียงแต่อีทีเอฟเป็นกองทุนที่สามารถซื้อขายในกระดานหลักทรัพย์จึงทำให้ได้รับราคาระหว่างวันทันที ส่วนกองทุนรวมทั่วไปจะได้ราคา ณ สิ้นวัน
ส่วนใหญ่แล้ว Bond ETF มักมีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับล้อตามดัชนีตราสารหนี้ ต่างจากกองทุนตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีนโยบายลงทุนแบบเชิงรุก ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมของ Bond ETF ต่ำกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้
ในด้านผลตอบแทนและความเสี่ยง ผลตอบแทนในรูปกระแสเงินสดและส่วนต่างราคาของทั้งสองเครื่องมือมีความคล้ายคลึงกันขึ้นอยู่ตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุน ส่งผลให้เงินที่จ่ายแก่ผู้ลงทุนในแต่ละงวดไม่แน่นอน ทั้งนี้ Bond ETF มีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากส่วนต่างของราคาซื้อขายในตลาดกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่อาจสูงหรือต่ำกว่า จากสภาพคล่องของการซื้อขาย ความคาดหวัง และอารมณ์ของผู้ลงทุน
การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลว่าจะตราสารจะครบกำหนดอายุเพราะกองทุนจะนำเงินที่ครบไปลงทุนต่อให้ แต่ก็ทำให้ผลตอบแทนที่รับไม่แน่นอนเหมือนกรณีถือตราสารหนี้รายตัวที่ได้รับเงินคืนแน่นอนในวันที่ครบกำหนดสัญญา
เฉพาะกองทุน BND และ AGG ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งสองกองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูง และมีกระจายการลงทุนมากกว่า 10,000 ตราสาร ปัจจุบันขนาดทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 5 พ.ค. 2566 มีขนาดรวมกันสูงถึง 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เนื่องจาก Bond ETF เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ฉะนั้นผู้ลงทุนควรทำควรเข้าใจความเสี่ยงของตราสารหนี้แต่ละประเภท ทั้งอันดับเครดิต อายุ ทิศทางอัตราผลตอบแทน และเงื่อนไขเฉพาะของตราสารหนี้อย่างละเอียด อย่างกรณีตราสารหนี้ ตราสาร Basel III (Additional Tier 1) ของสถาบันการเงินที่ถูก write down/off ตามเงื่อนไขที่มีระบุไว้ ซึ่งนักลงทุนจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย
สุดท้ายนี้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ผ่านเครื่องมือลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือลงทุนผสมกันระหว่างแต่ละรูปแบบก็ได้เช่นกัน ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุน ความเสี่ยงที่รับได้ และระยะเวลาการลงทุน
ช่วงต้นปี 66 ที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นกับสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นข่าวดังในโลกการลงทุน วารสารรายไตรมาส TFPA Magazine ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA มาเล่าถึงสิ่งที่นักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT ควรรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวกัน
โดยผู้ลงทุนหลายคนอาจสับสนกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่เคยออกโดยธนาคารพาณิชย์ของไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นกู้เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ประเภท AT2 (Basel III Additional Tier 2) หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ซึ่งมีลักษณะและความเสี่ยงที่แตกต่างจาก AT1 ตามรูปด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม แม้ในอนาคตอาจมีสถาบันการเงินไทยออกหุ้นกู้ประเภท AT1 แต่ความเสี่ยงก็อาจต่างจากหุ้นกู้ประเภท AT1 ของ Credit Suisse เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของประเทศไทย มีการกำหนดเงื่อนไขในการปลดหนี้หรือตัดหนี้เป็นสูญของตราสาร Basel III ว่าจะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการลดทุนของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น และการปลดหนี้ตามตราสารดังกล่าวต้องไม่มากไปกว่า อัตราส่วนของการลดทุนของธนาคาร ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ถือตราสารเสียหายมากไปกว่าผู้ถือหุ้น
กรณีของหุ้นกู้ STARK ดร. สมจินต์มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความตระหนักมากกว่าตระหนก เพราะข้อมูลที่ปรากฏคือ bond yield โดยรวมยังเคลื่อนไหวในระดับปกติทั่วไป แน่นอนว่า yield ของหุ้นกู้ STARK ได้เพิ่มสูงขึ้น (ราคาต่ำลง) แต่ yield ของหุ้นกู้อื่นๆ ไม่ได้พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเหมือนอย่างอดีตเมื่อเกิดความตระหนกในตลาดตราสารหนี้ แต่กรณีนี้ก็ทำให้นักลงทุนในหุ้นกู้ได้กลับมาตระหนักถึงความเสี่ยงในหุ้นกู้พอสมควร และมองเป็นความเสี่ยงรายตัว ไม่ใช่ปัญหาของตลาด ซึ่งพฤติกรรมของนักลงทุนหุ้นกู้ไทยคือ นิยมลงทุนแบบ buy and hold ก็คือ ถือลงทุนยาวรอรับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนมากกว่าเทรดซื้อขาย
จากข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทย เราพบว่าสัดส่วนมูลค่าที่ขายได้จริงเทียบกับมูลค่าเสนอขายช่วง ม.ค. - เม.ย. 66 สำหรับหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เช่น ความน่าเชื่อถือระดับ AAA, AA, A ยังคงเสนอขายได้เต็มจำนวน เป็นที่ต้องการของนักลงทุน แต่จะมีลดลงบ้างในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือรองลงไป และขายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดสำหรับหุ้นกู้ประเภท nonrated ซึ่งก็เกิดจากความตระหนักของนักลงทุนนั่นเอง
ดร. สมจินต์มองว่าในมุมของการวางแผนการเงินการกระจายความเสี่ยงยังคงจำเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่การลงทุนสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้เองก็จำเป็นต้องมีการกระจายการลงทุนเช่นกัน นอกเหนือจากการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานแล้ว credit quality และอันดับ credit rating ก็เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจได้ ซึ่ง credit rating ก็สะท้อนถึงโอกาสของความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงการปรับลดอันดับก็เป็นสิ่งยืนยันถึงโอกาสความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย
ในเรื่องการกระจายความเสี่ยง ซึ่งถ้าเราดูสัดส่วนนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้แต่ละกลุ่มก็จะเห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564-2565) มีสัดส่วนนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงเพิ่มมากขึ้น โดยเทคโนโลยีต่างๆ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลและกระบวนการซื้อหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น เช่น แอปเป๋าตัง ที่ทำให้นักลงทุนเข้าถึงหุ้นกู้ดิจิทัลได้ง่ายมาก ขณะเดียวกันหุ้นกู้แบบทั่วไปก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเช่นกันผ่านช่องทางเทคโนโลยีของธนาคาร และตัวแทนขายแต่ละราย
ดร. สมจินต์มองว่าสำหรับนักลงทุนโดยตรงที่ไม่สามารถกระจายความเสี่ยงได้เพียงพอ ก็สามารถใช้กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมตราสารหนี้กลุ่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด นักลงทุนคุ้นเคยที่สุดในบ้านเราจะเป็นกองทุนกลุ่มตลาดเงิน(Money Market Fund) เพื่อใช้บริหารสภาพคล่อง หรือเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นๆ ที่ค่อนข้าง conservative ผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบจึงต่ำกว่าการไปลงทุนตราสารหนี้เองโดยตรงใน corporate bond ทำให้ผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งหันไปเลือกลงทุนในหุ้นกู้โดยตรงเพื่อ “search for yield” โดยยอมรับระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นทั้งในแง่อันดับเครดิต และในแง่การกระจายความเสี่ยงด้วย ดร. สมจินต์จึงชวนคิดว่านักวางแผนการเงินอาจสามารถช่วยกันค้นหาและให้ข้อมูล กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลางขึ้นไปที่มีการลงทุนในหุ้นกู้ที่เป็น Investment Grade ในระดับรองลงมาแต่ยังอยู่ในระดับที่ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ยอมรับได้เวลาที่ลงทุนตรงเอง ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ของผู้จัดการกองทุนและมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม เป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนในลักษณะ Medium risk, Medium return ให้ผู้ลงทุนใช้จัดทัพลงทุนแทน หรือใช้ร่วมกับการลงทุนตรงได้
ปัจจุบันนักลงทุนมีช่องทางหาความรู้ต่างๆ มากขึ้นจากระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานกลางอย่างสมาคมตราสารหนี้ สถาบันการเงินต่างๆ โดย ThaiBMA เชื่อในเรื่องของความรู้ มีการจัดอบรมความรู้ในหลากหลายระดับทั้ง online training และ offline training ต่างๆ รองรับกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการหาความรู้ หรือผู้ต้องการความรู้เชิงลึกในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาหาข้อมูลในเว็บไซต์สมาคมได้
การเข้าใจวัตถุประสงค์การลงทุนของผู้รับคำปรึกษารวมถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อจัดทัพหรือสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนคือเป็นพื้นฐานสำคัญของนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT ทุกคน โดยตราสารหนี้เป็นหนึ่งในประเภทสินทรัพย์ (Asset Class) ที่สำคัญในการนำไปจัดทัพการลงทุนเพื่อให้ผู้รับปรึกษาสามารถบรรลุเป้าหมายได้ทั้งระยะกลางและระยะยาว
สรุป 5 ประเด็นหลัก ของพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566) ฉบับปรับปรุงล่าสุด เกี่ยวกับเงินลงทุนของสมาชิก กบข. เปิดโอกาสให้สมาชิกสะสมเงินได้มากขึ้น เลือกแผนการลงทุนได้หลากหลายขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ และในกรณีที่สมาชิกไม่ได้ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุนให้ถือว่าสมาชิกยินยอมให้กองทุนนำเงินของสมาชิกไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก โดยสรุปประเด็นหลัก เทียบกับ พรบ. ฉบับเดิม ดังนี้