COVER STORY: สรุปสาระสำคัญจากงานสัมมนาออนไลน์ TFPA Wealth Management Forum 2021
How To: บทบาทนักวางแผนการเงินสำหรับสังคมผู้สูงอายุ
Q&A: อย่ารีบจ่ายคืนหนี้ เพราะหนี้...เพราะหนี้มีประโยชน์เหลือเกิน
Infographic: จำนวนปีที่ทำงานต่อปีเกษียณของผู้ชายและผู้หญิงในเอเชียในปี 2562
ตารางสอบหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP® ปี 2565
รับชมย้อนหลังเวิร์คชอปออนไลน์ เรียนเทรดออปชั่นที่บ้าน
นับเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ทั่วโลกต่างได้รู้จักและเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งยังคงดำเนินอยู่และยังไม่มีใครทราบว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ถึงกระนั้นเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส รวมถึงการก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อรองรับกับปัญหาที่อาจเกิดซ้ำในอนาคต
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยร่วมกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน และยินดีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ดำเนินการสำรวจผ่านนักวางแผนการเงิน CFP ถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อลูกค้าและการให้บริการของนักวางแผนการเงิน CFP โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น มีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการวางแผนการเงินเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักวางแผนการเงิน CFP ทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย FPSB (Financial Planning Standards Board) เกี่ยวกับการให้บริการวางแผนการเงินในอนาคต (Future of Financial Planning Practice)
จากข้อมูลดังกล่าวสมาคมฯ ได้นำมาศึกษาและต่อยอดเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มลูกค้า (Target Group) เพิ่มมากขึ้น โดยว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกผ่านการสัมภาษณ์กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรรมการ นักวางแผนการเงิน CFP รวมถึงผู้ใช้หรือมีประสบการณ์ในการใช้บริการวางแผนการเงินจากนักวางแผนการเงิน CFP เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ และประเมินแผนการตลาดทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งคาดว่าเราจะได้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนกันในช่วงปีหน้า
ในมิติของการขับเคลื่อนสมาคมฯ นั้น นอกจากแผนการตลาดที่ดีแล้ว ความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันและแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยสมาคมฯ ได้เชิญทีมนักวางแผนการเงิน CFP อาสาในโครงการ Membership Engagement Project มาร่วมด้วยช่วยกันคิด จัดทำ และนำเสนอรายละเอียดแผนงานทั้ง 7 โครงการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมศักยภาพนักวางแผนการเงิน ธุรกิจการวางแผนการเงิน รวมถึงการเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP ต่อคณะกรรมการสมาคมฯ ซึ่งทุกแผนงานนั้นล้วนเป็นแผนงานที่ดี มีประโยชน์ และน่าสนใจ โดยปัจจุบัน สมาคมฯ ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการปรับปรุงเว็บไซต์สมาคมฯ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับทีมงานในโครงการดังกล่าว ในส่วนของโครงการอื่นๆ นั้น คณะกรรมการฯ จะทะยอยพิจารณา เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
สุดท้ายนี้ เนื่องในศุภวาระขึ้นปีใหม่ 2565 ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผมขอเป็นตัวแทนคณะกรรมการสมาคมฯ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโปรดบันดาลประทานพรให้กับสมาชิกทุกท่านและครอบครัว
พบเจอแต่ความสุข ความเจริญ สมปรารถนาทุกประการครับ
วศิน วัฒนวรกิจกุล
นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ผลสำรวจภาคสนาม “สถานะทางการเงินของประชาชนในภาวะวิกฤต”
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยเสนอผลสำรวจภาคสนาม “สถานะทางการเงินของประชาชนในภาวะวิกฤต” ซึ่งสมาคมฯ ได้ร่วมกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพลสำรจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการเงินในประเด็นต่างๆ และการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เช่น ความมั่นคงทางการเงินก่อนและหลังวิกฤตโควิด 19 ความเครียดเรื่องการเงินและผลกระทบ แหล่งเงินได้หากมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย พฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเงินที่ต้องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหากสามารถย้อนเวลากลับไปได้ และความสนใจเรื่องการวางแผนการเงิน เป็นต้น โดยได้ดำเนินโครงการวิจัยทั้งเชปริมาณ (Quantitative Research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ครอบคลุมประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,205 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 14 กรกฎาคม 2564 ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงิน ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสมและมีความพร้อมทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน อ่านรายละเอียด News Release ผลสำรวจภาคสนาม “สถานะทางการเงินของประชาชนในภาวะวิกฤต” ได้ที่ https://bit.ly/3DTF5Wf
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยได้รับเกียรติจากนักวางแผนการเงิน CFP® คุณสาธิต บวรสันติสุทธิ์ และคุณชัชฎา สิงห์ชูวงศ์ มาร่วมสนทนาในรายการ CFP® Professional Talk EP.7 ในหัวข้อ “วางแผนภาษีฟรีแลนซ์” พูดคุยถึงข้อควรรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องภาษี และการวางแผนการเงินและการวางแผนเกษียณด้วยการวางแผนภาษี สำหรับฟรีแลนซ์ และผู้ที่เป็นทั้งมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ทาง Facebook สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และ SET Thailand และ YouTube สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 สมาคมนักวางแผนการเงินไทยจัดสอบหลักสูตรการวางแผนการเงิน ข้อสอบฉบับที่ 4 ส่วนที่ 2 ข้อสอบแผนการเงิน ณ Victor Club @ FYI Center โดยได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างเคร่งครัด มีผู้เข้าสอบจำนวน 106 ราย
สรุปโดย เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
คุณวศิน มองว่าวิกฤตโควิด 19 เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ โดย ธปท. คาดการณ์ว่าปีนี้ ประเทศไทยจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.7 ขณะที่เศรษฐกิจโลก สามารถเติบโตได้ในระดับร้อยละ 5.9 การวัดคุณภาพความเป็นอยู่อย่างหนึ่งคือ ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ที่แม้ว่าปัจจุบันระดับหนี้ยังคงเดิม แต่ด้วยปัญหารายได้ที่ลดลงจากวิกฤตการณ์โควิด ทำให้มีความเสี่ยงของการผิดนัดชำระมากขึ้นและกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กระทบต่อระบบการเงินโดยรวม แม้หนี้ครัวเรือนของไทยร้อยละ 47 เป็นหนี้บ้านและหนี้รถ เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน แต่ในแง่บุคคล สิ่งเหล่านี้เป็นหลักประกันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หากเกิดการยึดเพื่อชำระหนี้ก็จะกระทบความเป็นอยู่ ดังนั้นการมีแผนการเงินส่วนบุคคลเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวจึงมีความสำคัญ
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยได้ทำการสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศถึงผลกระทบจากโควิดต่อการเงินกว่า 1,200 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 82 บอกว่าก่อนโควิดระดับความมั่นคงทางการเงินอยู่ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิดกลับพบว่าร้อยละ 60 ได้รับผลกระทบด้านการเงินในระดับมากถึงมากที่สุด และกว่าร้อยละ 60 มีความเครียดด้านการเงินจากรายได้ที่ลดลง แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิดต่อสถานะการเงินอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ปัญหาด้านสุขภาพจิตและประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงก็เป็นปัญหาจากความเครียดเรื่องการเงินเช่นกัน มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่คิดว่าหลังโควิดจะมีสถานะการเงินมั่นคงในระดับมากถึงมากที่สุด การสำรวจยังพบว่าเกินกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามยังไม่มีการวางแผนการเงินหรือใช้บริการดังกล่าว
อีกหนึ่งการสำรวจของสมาคมนักวางแผนการเงินไทยผ่านนักวางแผนการเงิน CFP ไทย พบว่าผู้ใช้บริการของนักวางแผนการเงิน CFP ร้อยละ 62 ไม่มีผลกระทบหรือได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตได้ชัดเจน และในช่วง 2 ปีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง มีผู้ใช้บริการวางแผนการเงินถึง 1 ใน 3 ที่เห็นความสำคัญ และขอให้นักวางแผนการเงินช่วยทบทวนและปรับแผนการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์นอกเหนือจากรายปีที่ทำประจำ และกว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าผู้รับบริการมีความมั่งคั่งโดยรวมที่เพิ่มขึ้นและมีจำนวนผู้รับบริการก็มากขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤต สอดคล้องกับการสำรวจนักวางแผนการเงิน CFP ทั่วโลกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 80 ของนักวางแผนการเงิน CFP เชื่อว่า ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ความต้องการด้านการวางแผนการเงินจะมากขึ้น นับได้ว่าวิกฤตโควิดเป็นแรงกระตุ้นให้คนสนใจการวางแผนการเงินมากขึ้น และเป็นโอกาสของนักวางแผนการเงินและสถาบันการเงินในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สงครามการค้า และวิกฤตโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อๆ กันมาและต่อเนื่อง การคาดการณ์อนาคตทำได้ยากขึ้น ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ที่จะพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นคือ คำว่า VUCA* ที่อธิบายว่าโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีความผันผวนสูง ซับซ้อนและคลุมเครือ และเมื่อเกิดวิกฤตโควิด ทำให้เกิดคำถามว่านิยาม VUCA ยังใช้อธิบายโลกในปัจจุบันได้หรือไม่ จนกระทั่ง Jamais Cascio นักพฤติกรรมศาสตร์ชาวอเมริกา ได้พยายามอธิบายโลกหลังวิกฤตโควิด ด้วยคำศัพท์ว่า BANI** ที่อธิบายว่าโลกจากนี้ไปจะมีความเปราะบางสูง เต็มไปด้วยความกังวลจากความผันผวน คาดการณ์ได้ยาก ไม่มีรูปแบบชัดเจน และยากที่จะเข้าใจ
ไม่ว่าจะ VUCA หรือ BANI ต่างแสดงให้เห็นว่าในอนาคต เราไม่สามารถควบคุมบังคับสิ่งต่างๆ รวมถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้เหมือนดังอดีต สิ่งที่ทำได้คือ พยายามวางแผนและเตรียมการไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับเรา หรือกระทบให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้
“Risk is manageable, uncertainty is NOT.” น่าจะเป็นคำกล่าวที่เหมาะสมกับปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิตและการเงิน ถ้าเราไม่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีพอ ก็อาจได้รับผลกระทบ
วิกฤตโควิด ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองการเงินหลายอย่าง ทั้งแนวคิด ทัศนคติ จากเป้าหมายเรื่องผลตอบแทน ได้ขยายมาสู่การบริหารความเสี่ยงของทรัพย์สินและสุขภาพมากขึ้น และเป็นที่มาของ theme สัมมนาในครั้งนี้
.........................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................
*VUCA ย่อมาจาก Volatility ความผันผวน หรือสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Uncertainty ความไม่แน่นอน หรือเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ยาก Complexity ความซับซ้อน และ Ambiguity ความคลุมเครือและขาดความชัดเจน
**BANI ย่อมาจาก Brittle (ความเปราะบาง) การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นรวดเร็ว และมีความเปราะบางถูกแทนที่ได้ง่าย (Disrupt) Anxious (ความกังวล) จากนี้ไปมนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกังวลกับความไม่แน่นอน Nonlinear (คาดเดาได้ยาก) จากนี้ไปโลกจะคาดเดาได้ยาก แผนงานต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่สามารถจัดทำแบบระยะยาวได้อีกต่อไป และ Incomprehensible (ความไม่เข้าใจ) ในอนาคตจะเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน การทำความเข้าใจเป็นเรื่องยากในอนาคต
รับชมเทปการบรรยายที่ https://www.youtube.com/watch?v=MzqkMOo3vAw
สรุปโดย ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
เบี้ยประกันภัยรับตรงของประกันชีวิตหากเทียบระหว่างไตรมาส 2 ปี 2564 และ 2563 เติบโตขึ้นถึง 3.26% โดยกรมธรรม์ที่เติบโตสูงที่สุดคือ กรมธรรม์ควบคู่การลงทุน ได้แก่ Universal-Life และ Unit–Linked ที่สูงขึ้นถึง 106.21% และ 94.07% ตามลำดับ โดยในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนกรมธรรม์ใหม่โดยรวมลดลง 14.75% แต่ Universal-Life และ Unit–Linked กลับมีจำนวนกรมธรรม์ใหม่เพิ่มขึ้น 296.04% และ 87.28% ตามลำดับ ในขณะที่กำไรของธุรกิจประกันชีวิตลดลง 9.26%
โดยปกติบริษัทประกันชีวิตจะนำเบี้ยประกันที่ได้รับไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นสามัญ ฯลฯ ในสัดส่วนน้อยมาก แต่เน้นนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเป็นหลัก จากข้อมูล ณ Q2/2564 ธุรกิจประกันชีวิตมีการลงทุนใน เงินฝาก พันธบัตร และหุ้นกู้ รวมกันถึง 79.9% และมีเงินกองทุนตามความเสี่ยงของธุรกิจประกันชีวิต หรือ CAR (Capital Adequacy Ratio) ณ Q2/2564 อยู่ที่ 323% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เพราะมาตรฐานทั่วไปอยู่ที่เพียง 120%-140% เท่านั้น สะท้อนถึงความมั่นคงของธุรกิจประกันชีวิตในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามประเทศไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ (Aged -society) โดยในช่วงปี 2505-2525 เป็นช่วงที่มีประชากรไทยเกิดใหม่เกิน 1 ล้านคน ซึ่งในปี 2565 จะเป็นปีที่คนที่เกิดในปี 2505 กำลังอายุครบ 60 ปี ประกอบกับอัตราการตายที่ต่ำกว่าอัตราการเกิดใหม่ เช่น ปี 2562 อัตราการตายอยู่ที่ 0.78% ส่วนอัตราการเกิดใหม่อยู่ที่ 1.0% ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ หรือคนที่อายุมากกว่า 60 ปี สูงถึง 11 ล้านคน หรือประมาณ 18% โดยในปี 2573 และ 2583 คาดว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 25% และมากกว่า 30% ตามลำดับ อีกทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุของประเทศไทยถูกจัดลำดับอยู่ในลำดับ 3 ของโลก ทำให้อนาคตภาพการใช้สถานพยาบาลของไทยอาจเปลี่ยนไป เช่น จากเดิมปัจจุบันอาจเห็นรุ่นลูกวัยกลางคนพาคุณพ่อวัย 65 ปีไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล กลายเป็นว่าอาจเห็นคุณปู่วัย 90 ปี ไปโรงพยาบาลเป็นเพื่อนกันกับคุณพ่อวัย 65 ปี เพื่อตรวจสุขภาพแทนก็ได้ ซึ่งการให้บริการผู้สูงอายุมักต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์มากกว่าคนหนุ่มสาวถึง 3-4 เท่าเลย
จากสัดส่วนการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตที่เน้นตราสารหนี้เป็นหลัก ในขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยในช่วง 10 ปีมีแนวโน้มลดลง เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงต้นทุนของบริษัทประกันชีวิตที่สูงขึ้น เพราะบริษัทประกันชีวิตมีพันธะต้องเตรียมเงินคืนหรือเงินครบสัญญาที่ต้องจ่ายคืนแก่ผู้เอาประกันตามสัญญา อีกทั้งแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นส่งผลให้มีโอกาสที่ยอดเบิกเคลมในอนาคตสูงขึ้นด้วย โดยจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นทำให้ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำมีมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยจึงอาจยังคงต่ำอยู่ต่อไป แม้ในระยะสั้นดอกเบี้ยอาจมีการขยับขึ้นบ้างจากเงินเฟ้อก็ตาม โดยประเทศต่างๆ ก็เริ่มมีการประกาศเปลี่ยนแปลงนิยามอายุเกษียณแล้ว เช่น อังกฤษและญี่ปุ่นได้มีการประกาศนิยามเกษียณเป็นอายุ 68 ปี ประเทศไทยจึงมีโอกาสเช่นกัน โดยการประกาศเปลี่ยนแปลงนิยามอายุเกษียณ มักมีการประกาศล่วงหน้าก่อนมีผล 3-4 ปี
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ของไทยอยู่ที่ 7.0% 7.5% และ 8.0% ในปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 ตามลำดับ ดังนั้นหากจะวางแผนรับมือค่าใช้จ่ายสุขภาพควรใช้ Medical Inflation ที่อัตรา 8% ต่อปี ในการคำนวณ หรือคิดคร่าวๆ ว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะแพงขึ้นเป็น 2 เท่าทุก 10 ปี เช่น ค่าใช้จ่ายปัจจุบัน 10,000 บาท จะกลายเป็น 20,000 บาท 40,000 บาท และ 80,000 บาท ในอีก 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีข้างหน้า เป็นต้น แต่ Medical Inflation ของไทยยังถือว่าต่ำกว่าภาพรวมของเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 9% ต่อปี ส่วนตะวันออกกลางและอินเดียอยู่ที่ 10% ต่อปี และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 15%-17% ต่อปี ส่งผลให้แนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ของไทยมีโอกาสเติบโตขึ้น โดยโรงพยาบาล Grade A ได้เริ่มมีการลงทุนเพื่อรองรับ Medical Tourism ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ส่วนปัจจุบันโรงพยาบาล Grade B ก็ได้เริ่มลงทุนเรื่องนี้แล้ว จากที่เล่ามา ประกันสุขภาพจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจากค่าใช้จ่าย 10,000 บาท จะกลายเป็น 80,000 บาท ใน 30 ปี ซึ่งในอนาคตอีก 10 ปี การเข้าถึงโรงพยาบาลอาจกลายเป็นสินค้าหรือบริการฟุ่มเฟือย
ประกอบกับคนทั่วไปให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 และประสบการณ์คนรอบข้างที่เข้าโรงพยาบาล ซึ่งประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตแม้ไม่ได้เจาะจงคุ้มครองเฉพาะกรณี COVID-19 แต่ก็ครอบคลุมถึงด้วย ที่ผ่านมายอดเคลมประกันสุขภาพก็ไม่ได้สูงเกินกว่าระดับที่รับได้ และยังได้รับการให้ความสำคัญจากคนส่วนใหญ่มากขึ้นด้วย
สำหรับประกันชีวิต มีผลประโยชน์กรณีมีชีวิตอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) ส่วนการันตีผลประโยชน์ของเงินคืน หรือ Coupon และ (2) ส่วนไม่การันตีผลประโยชน์ของเงินคืน หรือ Dividend ซึ่งที่ผ่านมาประกันชีวิตส่วนใหญ่มักเน้นให้ผลประโยชน์เฉพาะส่วนของ Coupon เท่านั้น แต่เมื่อแนวโน้มดอกเบี้ยต่ำลง ผลประโยชน์ส่วนของ Coupon ที่บริษัทจะการันตีให้ได้ก็ต่ำลง ทำให้แบบประกันที่ออกใหม่ต้องมีการปรับตัว เช่น
อย่างไรก็ตามเมื่อประกันสุขภาพมีโอกาสเติบโตขึ้น สิ่งที่บริษัทประกันชีวิตต้องให้ความสำคัญคือ การป้องกันการเบิกเคลมเกินจำเป็นหรือโดยไม่สุจริต เช่น ป้องกันการ Anti-selection ที่ผู้เอาประกันเจตนาปกปิดข้อมูลหรือไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงแก่บริษัทประกันชีวิต หรือ Moral Hazard ที่เป็นการกระทำที่แฝงด้วยเจตนา ไม่ว่าจากผู้เอาประกันหรือผู้เกี่ยวข้อง (เช่น ตัวแทนประกันชีวิต) ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากการทำประกัน เป็นต้น
ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง ธุรกิจประกันชีวิตจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป แต่อย่าลืมว่า ความต้องการด้านความมั่งคั่งควรเน้นตอบโจทย์ด้วยการลงทุน ส่วนความต้องการด้านความมั่นคงยังคงควรเน้นตอบโจทย์ด้วยประกัน ซึ่งแม้ว่าประกันชีวิตควบการลงทุนอย่าง Unit-Linked จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถแทนที่ทางเลือกการลงทุนอย่างกองทุนรวมได้ โดยรูปแบบการลงทุนผ่าน Unit-Linked บริษัทประกันชีวิตยังควรมีหน้าที่คัดกรองกองทุนมาให้ผู้เอาประกัน ไม่ควรมีกองทุนมาให้ผู้เอาประกันเลือกหลากหลายจนเกินไป
ในส่วนของ Insurtech ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ที่สำคัญ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลของแบบประกันได้มากขึ้น กระบวนการขายง่ายขึ้น รวมไปถึงกระบวนการเบิกเคลมที่สะดวกขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลากรและกระบวนการต่างๆ เช่น คอลเซ็นเตอร์ ตัวแทนประกัน และขั้นตอนเซ็นสัญญา เป็นต้น ซึ่งในอนาคตช่องทางการขายประกันจะไม่ได้เน้นผ่านตัวแทนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผสมผสานกันในหลายช่องทาง
ที่สำคัญต่อจากนี้ไปบริษัทประกันชีวิตจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจเพียงลำพังได้ แต่ต้องร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เช่น Health Tracker หรือ Smartwatch ธุรกิจยา โรงพยาบาล และแพทย์ผู้รักษาและวินิจฉัย เป็นต้น อีกทั้งมาตรฐานสากลเกี่ยวกับรายงานทางการเงิน หรือมาตรฐาน IFRS ก็จะส่งผลให้อนาคตการรับรู้รายได้ของบริษัทประกันชีวิตจะไม่ได้มาจากค่าเบี้ยประกันซึ่งมีส่วนผสมที่ต่างกันในแต่ละแบบประกัน แต่จะรับรู้รายได้จากค่าธรรมเนียมแทน
รับชมเทปการบรรยายที่ https://www.youtube.com/watch?v=gzknsDM0wQs
สรุปโดย พิญา ซุ่นทรัพย์ CFP®
จากบทเรียนในอดีต และสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ อะไรคือปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
คุณชูฉัตร: ปัจจุบันไม่เพียงแต่ธุรกิจประกันจะถูก disrupt ธุรกิจข้างเคียงเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจประกันก็ต้องปรับตัวให้ทัน อย่างการออกแบบกรมธรรม์ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ การจัดการสินไหม การจ่ายเคลมสินไหมเมื่อเกิดปัญหาแก่ผู้เอาประกันภัย หากไม่มีการปรับตัวอาจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้
ต้องยอมรับว่าการปรับตัวมีต้นทุนในช่วงแรกสูง แต่ต้นทุนจะค่อยๆ ลดลง อย่างตอนนี้เริ่มเห็นบริษัทเอา AI มาใช้ ในการนำเสนอสินค้าที่สอดคล้องกับผู้เอาประกันแล้ว
คปภ. เองเรายึด 4 หลัก ได้แก่ เสถียรภาพ ความสามารถในการเเข่งขัน ธรรมาภิบาล และการจัดการความเสี่ยง โดยสองเรื่องแรกต้องสร้างความสมดุล การผ่อนคลายในช่วงโควิด-19 อะไรไม่ใช้แล้ว ล้าสมัยก็ยกเลิกไป ใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น ส่วนคู่หลัง ธุรกิจประกันอยู่บนความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากลูกค้า สัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า ต้องได้รับการดูเเลอย่างเต็มที่
คปภ. เข้ามากำกับและส่งเสริมไปคู่กัน ในขณะที่ฝั่งธุรกิจก็ต้องปรับตัวไปพร้อมกัน
คุณสาระ: เรื่อง disrupt เกิดขึ้นมาสักพักแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด แต่โดยรวมแล้วค่อนข้างส่งผลเชิงบวกกับประกันด้วยซ้ำ
บริษัทใหญ่แม้จะมีความได้เปรียบอยู่บ้างในเรื่องของเงินทุน แต่มักยึดติดกับ legacy ของตัวเอง เลยทำให้ปรับตัวช้า เดิมเราพยายามสร้างสินค้าออกไปขาย เลยคิดว่าที่ทำอยู่นั้นถูกต้อง การจะปรับตัวเลยมีประเด็น อีกเรื่องคือ mindset ของคน บริษัทใหญ่มีพนักงานเป็นพันคนไม่รวมตัวแทนในระบบอีกร่วมสองแสนคน นายหน้าอีกประมาณเเสนคน
เร็วช้าอยู่ที่คนมากกว่า คนที่เริ่มใหม่ พวก startup หรือคนที่มี legacy น้อย ค่อนข้างง่ายเวลาลงระบบใหม่ เร็วกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้องมีเม็ดเงินด้วยเช่นกัน
บริษัทใหญ่มีเงินทุน และสามารถปรับตัวได้เร็ว เราได้เห็นสถาบันการเงินผันตัวมาเป็นบริษัทเทคโนโลยี ประกันชีวิตเองก็สามารถเดินในเส้นทางนี้ได้เช่นกัน
ตอนนี้คปภ. เปิดให้ทำ VC ได้แล้ว สามารถลงทุนในฟินเทค เฮลธ์เทค อินชัวร์เทค หรือฟู้ดเทคได้ ฉะนั้นธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กก็จะไปทางนี้ได้
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เวลาจะตัดสินใจซื้อ มันมีปัจจัยอะไรที่เขาจะซื้อ เดี๋ยวนี้เราอยู่บ้าน เราเล่นมือถือ เราหาข้อมูล เราเปรียบเทียบ ก่อนจะตัดสินใจซื้อประกัน ปัจจัยอะไรเราต้องศึกษา
ส่วนสถานการณ์ดอกเบี้ยระดับต่ำ บริษัทประกันชีวิตเราขึ้นอยู่กับตราสารหนี้คิดเป็น 80% ของพอร์ต ซึ่ง Yield curve ก็ลงมาเรื่อยๆ จาก 3% ลงมาเหลือ 1% พอเจอโควิดลงมาต่ำกว่า 1% ถามว่ามีผลกระทบกับประกันไหม มีแน่นอนโดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องของสภาวะดอกเบี้ยมากๆ จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง
อีกเรื่องคือ aging society ไทยเราเองคนอายุ 60 เกือบจะแตะ 20% อีกสิบปี อาจจะแตะ 28-30% ซึ่งจะมองเป็นโอกาสก็ได้ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง แล้วเราตอบโจทย์ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่บริษัทต้องศึกษา รวมไปถึงกฎหมาย ผู้กำกับดูแล รวมไปถึงสรรพากรก็ต้องเอื้อด้วย
ลูกค้าสมัยใหม่ไม่มี Brand loyalty อะไรที่ง่าย ที่ไหน เวลาใดก็ได้ และเป็นแบบที่ใช่ ต้องทำเป็น personalize ถึงจะตอบโจทย์ได้แท้จริง แต่ทำอย่างไรที่นักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT จะสามารถนำเสนอแบบ Personalize และต้องให้คำแนะนำที่ไม่ใช้การเน้นขายอีกต่อไป เพราะสินค้าประกันไม่ใช่แค่หนึ่งคนหนึ่งกรมธรรม์ เราเป็น partner for life ได้
คุณอานนท์: ย้อนไปประเด็น disrupt เรามักจะมองไปที่เทคโนโลยี แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องของโลกอยู่แล้ว เพียงแต่โควิดเป็นตัวเร่ง อยากให้มองไปไกลกว่านั้น เราจะตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างไร
ประกันรถ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยทางทะเล ประกันเหล่านี้คุ้มครองความเสี่ยงยุคตั้งแต่ก่อสร้างประกันภัยมาเลย เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเหมือนคนรุ่นเก่า อะไรล่ะที่เป็นความเสี่ยงของเขา
ธุรกิจวินาศภัยเราต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้ขายกรมธรรม์มาเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับทุกภาคส่วน ความเสี่ยงของคนไม่ได้อยู่เฉพาะความเสี่ยงที่กล่าวไปเท่านั้น มันเปลี่ยนไปมาก เราต้องออกแบบประกันขึ้นมาเฉพาะ โดยคิดแบบ outside in อะไรคือสิ่งที่ลูกค้ามองว่าเป็นความเสี่ยง เช่น ผมออกไปเป็นวิทยากร แล้วมันมีเรื่อง liability มากๆ แต่ผมหาซื้อประกันคุ้มครองเรื่องนี้ไม่ได้
ผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่เหมือนยุคเก่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราจะถูก disrupt โดยคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เทคโนโลยี ดูจากลูกๆ ไม่มีใครมี brand loyalty เลย ก่อนจะซื้อเขาต้องปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ส่วนรุ่นเก่าเห็นหน้าคนขายก็ซื้อแล้ว
คปภ. เองตอนโควิดมา เดิมต้องขายความคุ้มครองเป็นปี แต่เดี๋ยวนี้ขายเป็นวัน เป็นเดือนก็ได้ ความต้องการมันเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว แต่กว่าจะอนุมัติได้อาจจะไม่ทันแล้วเพราะปีหนึ่งมีคำขอหลายพัน อนาคตอาจจะหลายหมื่น ผู้กำกับดูแลก็ต้องเปลี่ยนตาม
ถ้าเราไม่หมุนตามผู้บริโภคให้ทัน เราอาจจะเจ๊งได้ เดี๋ยวนี้คนอายุยืน สินทรัพย์ยังอยู่ในมือคนชรา แต่อีกสิบปียี่สิบปี คนกลุ่มนี้จากไปหมด เงินตกไปอยู่กับคนรุ่นลูก รุ่นหลาน เขาเปลี่ยนแน่ ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม เราไม่ใช่แค่เหนื่อย แต่จะไม่รอด
บอกได้เลยว่าไม่มีใครโง่กว่าใคร ใหญ่กว่าใคร คนที่ปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน คนนั้นรอด อย่างประกันโควิด ปี 63 ขาย 9 ล้านกรมธรรม์ กลายเป็น 16 ล้านกรมธรรม์ ในปี 64 เกือบทั้งหมดขายผ่านระบบ online เเละที่สำคัญเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง ถึงคนมีรายได้น้อย จะเห็นว่าโลกเรามันเปลี่ยนแปลง ต้องปรับตัวจะอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว
การพัฒนาสินค้าในระยะต่อไป เทร็นด์จะลงไปในกลุ่มที่ย่อยมากๆ หรือไม่ เช่น ประกันรถยนต์ เป็น pay as you go ใครเดินทางไกล เสี่ยงกว่า ก็จ่ายเบี้ยเยอะกว่า มีโอกาสเกิดหรือไม่
คุณสาระ: วันนี้ต้องเข้าถึงคนไทยให้ได้มากที่สุด แบบประกันควรมีความหลากหลายขนาด อาจจะเป็นแบบ bite size ที่ตอบโจทย์ความคุ้มครองด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายด้านที่ไม่ถูกแตะ เช่น คนที่เป็นโรคอยู่แล้ว เดิมทำประกันไม่ได้ ซึ่งถ้าเราสามารถประเมินราคากับความเสี่ยงบุคคลเหล่านั้นได้ ก็จะสามารถออกแบบประกันที่เป็น Personalize ได้
โลกปัจจุบันเราใช้ข้อมูล big data มาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับการยินยอม บริษัทประกันสามารถเอาข้อมูลมาประเมินได้ว่า มีความเสี่ยงต่ำจริงๆ แม้จะเป็นโรค ก็อาจจะทำแบบประกันที่ตอบโจทย์เขาได้เช่นกัน สำคัญคือ ต้องมีข้อมูลถึงจะทำได้
คุณอานนท์: สมมติผมมีรถสิบคัน เดิมเราต้องทำประกันรถทุกคัน ถ้าผมทำประกันให้ตัวผม ขับคันไหนคุ้มครองคันนั้น แบบนี้ก็ได้ เราต้องลืมรูปแบบเก่าไปเลย ถ้าเราจะ disrupt ตัวเอง แต่ปัจจุบันยังไม่มี ต้องฝากให้ทาง คปภ. พิจารณา และตามให้ทัน ถ้าอะไรที่จะอนุมัติไม่ทัน แล้วมันไม่ได้กระทบโครงสร้างของความเสี่ยง ก็ปล่อยเสรีไปเลย เป็นต้น
เดิมกลุ่มที่มีรายได้น้อย เบี้ยต่ำกว่าพันบาท คนขายไม่คุ้ม แต่โควิดขายได้ตั้งแต่ 99 บาท เพราะแทบไม่มีต้นทุนเลย โอนเงินก็ไม่เสียค่าโอน กระดาษก็ไม่ต้องใช้ โลกใหม่เปลี่ยนไปหมด เล็กก็ได้ ใหญ่ก็ได้
คุณชูฉัตร: สมัยปี 63 ที่ประกันโควิดขายได้เป็นจำนวนมาก คปภ. ถือว่าตอนนั้นเป็น wake-up call บริษัทจะเล็กใหญ่ ก็ออกประกันโควิดได้ เราเลยตั้งศูนย์ CIT (Center of insure tech) เอาสตาร์ตอัปมารวมกลุ่มกับเจ้าหน้าที่คปภ. ร่วมกันพัฒนาว่าจะทำอย่างไรถึงจะทันกับภาคธุรกิจได้ ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้เดี๋ยวนี้มาขอเรื่องยูนิตลิงค์มากขึ้น หรือแม้กระทั่ง ประกันรถที่ติดตัวคนขับเหมือนในต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ คปภ.ก็ต้องพัฒนาตามไปด้วยเช่นกัน
มีกลไกอะไรที่จะช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องประกันสุขภาพ ที่ลูกค้าเปรียบเทียบไม่ค่อยได้ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง มีทางเลือกไหม ที่ทำประกันสุขภาพแล้วถูกกว่าตัวแทนหรือนายหน้าเสนอมา
คุณชูฉัตร: ประกันสุขภาพได้รับความนิยมอย่างมาก มีอัตราการเติบโตในระดับสอง digit ปัจจุบันมีเบี้ยประกันเป็นแสนล้านบาท และมีผู้เอาประกันเป็นนับล้านราย ซึ่งเราเองก็คิดต่อว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ดีขึ้นไปอีก
เรื่องหนึ่งที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ประกันสุขภาพ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ปกปิดข้อมูลเข้ามา บริษัทห้ามยกเลิกกรมธรรม์
ถามว่าเบี้ยจะถูกลงได้อย่างไร ทางหนึ่งก็คือ บริษัทประกันภัยอาจจะกำหนดให้ผมมีส่วนร่วมจ่ายในเคลมที่เกิดขึ้น เพื่อลดความถี่ในการเคลมได้ เช่น 20%-30% แล้วลดเบี้ยประกันลง และยังการันตีว่าจะคุ้มครองต่อไป ซึ่งตอบโจทย์ยุค aging society ด้วย
คุณสาระ
คปภ. เองตอนนี้ก็เปิด sandbox มาให้บริษัทประกันเริ่มออกเเบบประกันที่เล่นกับเรื่องโรค เช่น เบาหวาน ซึ่งปกติแล้วคนที่เป็น ซื้อประกันไม่ได้ถ้าค่าน้ำตาลสะสมสูง เลยมีบริษัทที่ออกประกันสุขภาพที่คนป่วยเป็นเบาหวานสามารถทำได้ โดยที่ ค่าน้ำตาลยิ่งสูง เบี้ยก็จะปรับเพิ่ม ซึ่งถ้าเขามีการดูเเลสุขภาพ ค่าน้ำตาลลดลง เบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย จะเห็นว่ามีความ personalize มากขึ้น
เรื่องราคาขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่องทางไหน ส่วนสินค้าพยายามมีแบบให้ครบในทุกกลุ่ม เรากำลังอยู่ในโลกของดิจิทัล เราจะพยายามทำทุกอย่างให้เป็นดิจิทัล ไม่ใช้คน แต่ต้องยอมรับว่าบางแบบมันยังเป็น one for all ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ซื้อง่ายเข้าใจง่ายแต่ไม่จบ เป็นโจทย์ที่อุตสาหกรรม และคปภ. ต้องทำงานร่วมกันต่อไป
คุณอานนท์: ผมมองว่าประกันชีวิตและวินาศภัยใช้หลักเฉลี่ยภัยได้ แต่สุขภาพไม่เหมือนกัน เราต้องมองหลายๆ มุม
ประกันสุขภาพในปัจจุบันผมเชื่อว่าก็ไม่น่าจะรอด รัฐไทยข้อดีคือ รักประชาชนมาก ดูเเลผู้บริโภคจนแทบจะยืนบนขาตัวเองไม่ได้ รัฐต้องมาปกป้องคุ้มครอง อุ้มชูหมด ตั้งแต่จ่ายเงิน ดูเเลทุกอย่าง มุมมองนี้อาจจะผิดก็ได้ เพราะถ้าเราสปอยลูกเรา ลูกก็จะไม่แข็งแรง
คนไทยเองยังไม่สนใจปัญหาที่จะเกิดในวันข้างหน้า ดังนั้นต้องมาวางแผนกันไปว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เรื่องสุขภาพเราจะอยู่กันอย่างไร
การคิดเบี้ยประกันสุขภาพแบบใหม่มีการคิดเป็นพอร์ต ปรับตามอายุ อาชีพ แบบนี้ภาคธุรกิจ เวลาพิจารณาเบี้ยจะมากขึ้นไหม เพราะมีทั้งคนที่ป่วยและสุขภาพดี แล้วคนสุขภาพดีจะทำอย่างไรเพราะต้องจ่ายแพงกว่าที่ควร
คุณสาระ: ในการทำเบี้ยสุขภาพ หลักการ เรามีการเก็บสถิติ แต่ตอนนี้เรายังไม่มีการเก็บเเบบ mobility เหมือนที่ต่างประเทศใช้ เวลาทำเบี้ยของประกันชีวิต จะคำนวณเป็นพอร์ต หรือบางทีเป็นช่วงอายุ ทุก 5 ปี แบบขั้นบันได การประเมินเบี้ยแบบนี้ เราจะเอาคนที่สุขภาพดี และคนป่วยมารวมกัน ซึ่งมองว่าการทำแบบนี้ไม่ได้เสียหาย แต่ควรมีส่วนเพิ่มขึ้นมา เช่น หากมีการเคลมสูงมากๆ มันควรจะมีการปรับเบี้ยเพิ่มแบบเป็น individual ได้ด้วย หรือหากมีการเคลมสูงมาก เสนอให้เป็น copay
อีกอันคือ ปรับเป็บรายบุคคลจากพฤติกรรมการเคลม โดยการปรับจะต้องเป็นการปรับที่สมเหตุสมผลด้วย แต่ปัจจุบันการจะปรับเพิ่มเบี้ยได้ จะต้องทำให้แบบนั้นๆ เกิด loss ratio ถึงจะขอปรับได้ ซึ่งแบบนี้บริษัทประกันจะยืนอยู่ได้อย่างไร หลายหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันเก็บข้อมูลกลาง เช่น การรักษาพยาบาล ค่ายา บริษัทประกันก็จะสามารเอาค่าใช้จ่ายตรงนี้มาพิจารณาได้
บริษัทประกันเองก็มีการออกแบบมาให้เหมาะสำหรับลูกค้าที่มีสิทธิ์ค่ารักษาเบื้องต้น โดยเคลมสวัสดิการพื้นฐานก่อนแล้วมาเคลมต่อกับประกันที่เป็น on top อีกที และเมื่อไม่มีสวัสดิการแล้ว ก็มาค่อยจ่ายเต็มตั้งแต่บาทแรกได้
บ้านเราจะสามารถออกแบบประกัน Long Term Care เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัยได้หรือไม่
คุณชูฉัตร: เรื่อง LTC มีปัญหาหลักๆ อยู่สองเรื่องคือ ขาดข้อมูลสถิติในบางตัว ตอนนี้ข้อมูลค่ารักษา ค่าบริการมีแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ยังไม่ชัดเจน และอีกประเด็นที่สำคัญคือ ประกันรูปแบบนี้มักจะไม่ค่อยกำไร ตั้งแต่ทำงานมายังไม่มีบริษัทไหนยื่นมาขอออกเเบบประกัน LTC เลย
อย่างประกันบำนาญ มีการเก็บเงินตั้งแต่วัยหนุ่มหรือวัยกลางคนที่ยังมีกำลัง แล้วไปใช้ในช่วงสูงอายุ น่าจะใก้ลเคียงกับ LTC บ้าง อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของกรมธรรม์บำนาญอาจจะยังไม่จูงใจผู้เอาประกันมากพอ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางอย่างบ้างเพื่อจูงใจให้ผู้เอาประกันหันมาซื้อประกันประเภทนี้มากขึ้น
ปัจจุบันมีเบี้ยประกันบำนาญแค่เพียง 1.43% เท่านั้น เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมด ในเมื่อ LTC ยังไม่เกิด มาผลักดันให้บำนาญเกิดก่อนดีกว่า
คุณสาระ: ประกันบำนาญยากมากที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งเรื่องอัตราผลตอบแทนในระดับต่ำ และอัตราการสำรองในระดับสูง เช่น เบี้ย 100 บาท ต้องสำรอง 65 บาท นอกจากนี้ ส่วนเกินของ 65 บาท ยังต้องนำไปคำนวณภาษีอีก จึงเลยทำให้ออกแบบบำนาญที่ตอบโจทย์การเกษียณไม่ได้
คปภ. เอง ต้องจับมือกับภาคธุรกิจ กับสมาคมประกันชีวิตไทยเพื่อพูดคุยกับภาครัฐ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าแบบบำนาญ การสำรองตามคณิตศาสตร์ จะทำให้แบบบำนาญออกมาได้
ประกันยูนิตลิงค์ก็สามารถมานำเสนอในรูปแบบของบำนาญ หรือโคเวอร์เรื่องเบี้ยสุขภาพด้วยได้ ในยามเกษียณไม่มีรายได้แล้ว มีตัวแทนประกันที่สามารถให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุนนำเสนอในรูปแบบนี้ แต่ต้องนำเสนอเรื่องที่ครบ โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยง
ที่จริงแล้วบำนาญ สามารถออกแบบให้มี feature ร่วมกับเนอร์สซิ่งโฮม หรือ พวก independent living ได้ เช่น พอเกษียณมี lumpsum ออกมาก้อนหนึ่ง ส่งไปที่ independent living เลย อีกส่วนจ่ายเป็นเงินเกษียณรายเดือนให้ผม จะจ่ายกี่เปอร์เซนต์ก็ว่ากันไป ฉะนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิต ทำแบบนี้ได้ประกันชีวิต จะเติมเต็มช่องโหว่ และตอบโจทย์ของสังคมผู้สูงอายุของไทยได้
ฉะนั้นต้องย้อนกลับมาที่ขั้นแรกว่าต้องทำให้บำนาญ กลายเป็นบำนาญก่อน ไม่ต้องพูดเรื่องสิทธิเรื่องลดหย่อนภาษี เพราะแบบปัจจุบันไม่เป็นจริงในเรื่องของการใช้ชีวิตได้เลย แบบประกันที่ดีเราต้องศึกษาไปที่ pain point ชีวิตของคนว่าต้องการอะไร
บำนาญไม่ใช่ประกันชีวิต ไม่ควรเอาเรื่องของทุนประกันชีวิตต้องมีสูงมาก ไม่งั้นจะกินเม็ดเงินที่ไปจ่ายเงินบำนาญในอนาคต
ประกันบำนาญเป็นรูปแบบการบังคับออม ดังนั้นมูลค่าเงินสดมีอยู่แล้ว เราทำเหมือน RMF ไม่ใช่ว่าทำไปแล้วมาขอ CV เอา Surrender value ออกไปได้ สุดท้ายบำนาญก็ไม่เหลือ
ถ้าเรามองเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย คนที่ขายในลักษณะ offline กลัวจะถูก disrupt มีข้อแนะนำอย่างไรบ้างเกี่ยวกับช่องทางการจัดจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้
คุณอานนท์: ผมว่าทุกคนต้องปรับตัว วินาศภัยเดิม ช่องทางหลักเป็นตัวแทนที่ผูกอยู่กับหนึ่งหรือสองบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทเดียว ช่วงหลังตัวแทนแทบจะหายไป เพราะจดโบรกเกอร์กันหมด เนื่องจากไม่ต้องมาผูกกับบริษัท พอเปลี่ยนไปแบบนั้น คนที่จะดูเเลประชาชนเวลามีปัญหาก็คือภาครัฐเท่านั้น เพราะเขาไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทแล้ว
จริงๆ เราคุยกันมานานเรื่อง individual broker จนตอนนี้มีเป็นเเสนแล้ว ประกันชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นตัวแทนอยู่ เพราะตัวสัญญาซับซ้อนและระยะยาวกว่า
ส่วนวินาศภัย ตัวแทนเปลี่ยนไปเป็นนายหน้ากันเยอะแล้ว ไม่ผูกกับบริษัทใดเลย เป็นหน้าที่ คปภ. ที่ต้องเข้ามากำกับดูแล คนกลุ่มนี้ต้องการความเป็นอิสระ ความผูกพันมันหายไป เดิมจะขายอะไรตรง เราห่วงตัวแทนว่าจะกระทบการทำหน้าที่ ตอนนี้ค่อยๆ หายไป ความผูกพันกับบริษัทเลยน้อย ส่วนสินค้าที่ขายผ่านออนไลน์ เบี้ยประกันต่ำๆ คนขายก็ไม่คุ้ม ตลาดเลยยังเป็นคนละกลุ่มอยู่
ตัวกลางที่เป็นนายหน้า ท่านก็ต้องพัฒนาศักยภาพของท่าน ในเรื่องความรู้ ต้องเป็นนายหน้าที่ใช้ดิจิทัลได้ ไม่ต้องติดอยู่กับบริษัทใด นายหน้าใหญ่ๆ เดี๋ยวนี้ก็เป็นดิจิทัลแล้วทั้งนั้น ต้องปรับตัวเพื่อให้ตัวเองรอด เพียงแต่ว่าเล็กๆ จะทำอย่างไร ท่านต้องเลือกทางของท่านเอง ที่จะไม่ต้องการผูกกับบริษัทใดโดยเฉพาะ
คุณสาระ: ขอเสริมคุณอานนท์ อันดับแรกคือ segment ก่อน ถ้าวันนี้โลกของดิจิทัลเข้ามา ประกันไซส์เล็ก สามารถผ่านขั้นตอนออนไลน์ทั้งหมด ยังพอมีโอกาส อีกส่วนที่ไม่มีคนเข้ามามากคือ mass market สำหรับธุรกิจประกันชีวิต ถามว่าจะมีคนมาตัดตัวกลางไหม ผมเชื่อว่าจะเป็นภาพ Hybridge มากว่า คนต้องการความเป็นเฉพาะตัวมากขึ้น
วันหนึ่งจะมีเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ได้ภายใต้พื้นฐานของ data แต่ด้วยธุรกิจทั้งชีวิต และวินาศภัย มีเรื่องของ trust ที่ยังคงต้องการเห็นหน้า ได้คุยกับคน ยิ่งเป็นเฉพาะบุคคลที่มีความซับซ้อน
ผมเห็นภาพของตัวแทนหรือนายหน้าใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในการนำเสนอ ต้องขอบคุณ คปภ. ตั้งแต่มีโควิด เราทำ digital face to face ผมว่าเป็นอะไรที่ช่วยมากเพราะทำให้คนประกัน ยังคงสามารถนำเสนอกรมธรรม์และยังได้เห็นหน้า นี่คือความเชื่อใจ ต่อให้โควิดยังอยู่ หรือลดลงไปเรื่อยๆ หลักการที่ คปภ. ให้มา ถ้าผมอยู่เชียงใหม่ ยังขายคนที่อยู่ภูเก็ตได้เลย นอกจากนี้ยังสามารถทำเรื่องของ customer engagement ก็ได้ ในความผูกพันเพราะประกันไม่ใช่แค่การขาย แต่เป็นการให้คำแนะนำด้วย
ผมเห็นด้วยกับคุณอานนท์ เรื่อง independent broker มาจริง ผมเห็นเทรนด์ของตัวแทน จากเดิมที่มีตัวแทนสามเเสนคนช่วงก่อนโควิด ตอนนี้เหลือสองแสนกว่าคน ด้วยสาเหตุต่างๆ และผมเห็นคนที่เป็นนายหน้ามากขึ้น
ถามว่าแปลกไหม ไม่แปลกเลยเพราะต่างประเทศก็เป็น การทำหน้าที่ของนายหน้าคือ advise ลูกค้า ก็อาจจะมีสินค้าจากหลายๆ บริษัทประกันชีวิตเข้ามา วันนี้เราคุยกันในฐานะสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้เจอกับนักวางแผนการเงิน CFP จาก 26 ประเทศที่มาประชุมร่วมกัน ก็เห็นภาพว่าทิศทางเริ่มจะเป็นอย่างนี้ขึ้นมา เพียงแต่ว่าเรื่องการกำกับดูเเล ต้องมีคนเข้ามากำกับที่ชัดด้วย แน่นอนว่าเรามีใบอนุญาตที่ขึ้นกับคปภ. กลต. แล้วก็ตาม เเต่ว่าในการให้คำแนะนำต่างๆ หรือการที่ทำแบบอิสระหากมีการกระทำที่ผิดขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะไม่เหมือนตัวเเทน ที่ความรับผิดชอบอยู่ที่บริษัท เป็นโจทย์หนึ่งที่ต้องมาคิดดูว่าจะถูกกำกับ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภคอย่างไร
ทิ้งท้ายฝากให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคล การสร้างหลักประกัน การสร้างความมั่งคั่งเพื่อตัวเขาเองและครอบครัว
คุณชูฉัตร: ขอฝากประเด็นที่มาเเรง เรื่องประกันสุขภาพเพราะอายุยืนขึ้น ค่ารักษาแพงขึ้น มีโรคใหม่ๆ ต่อให้เรามีการวางแผนการเงินมาดีก็ยังมีโอกาสหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะฉะนั้นกรมธรรม์สุขภาพเป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้
คุณอานนท์: คนไทยต้องเรียนรู้การออม คนที่อยู่ในระบบจะต้องออมผ่านระบบประกันสังคม ข้าราชการก็มีบำเหน็จบำนาญ แต่คนที่ทำอิสระหรือ เกษตรกร จะออมด้วยตัวเองหรือผ่านประกันชีวิตก็ได้
อยากให้คนไทยรู้จักเรียนรู้ที่จะออม เวลาคนไทยออกกฎอะไร มันเหมือนเป็นไซโล คปภ. อยากให้บริษัทมีความมั่นคง เวลาออกสินค้าอะไรก็ให้สำรองเยอะๆ สรรพากรก็อยากเก็บภาษี เอกชนจะอยู่อย่างไร เบี้ยก็จะแพงขึ้น คิดว่าคปภ. ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการคุยกับสรรพากร
คนทำอาชีพอิสระ เกษตรกรพวกนี้เป็นรายได้ปานกลางลงมา กลุ่มพวกนี้ รัฐบาลก็พยายามตั้งกองทุนการออม เวลารัฐรับไปทำอะไร ต้องยอมรับว่าพัฒนาช้า
ยกตัวอย่าง พรบ. คุ้มครองผู้ประกันภัยจากรถที่ทำตอนปี 2537 ช่วงใหม่ๆ เบี้ยประกันรถยนต์ 1,200 บาท คุ้มครอง 50,000 บาท พออยู่ในมือเอกชน พอมีทางการควบคุม พัฒนาระบบ มีการบริหารจัดการ ปัจจุบันเบี้ย 1,200 บาทหรือ 600 บาทคุ้มครองจาก 50,000 บาท เป็น 5 แสนบาท ที่ทำได้เพราะพวกเราภาคธุรกิจร่วมกันทำ
พวกโครงการ private public partnership อะไรที่เกี่ยวกับการออมผมเชียร์ อยากให้มาใช้ธุรกิจประกันชีวิต บริษัทใหญ่ๆ ยังเป็นของคนไทยอยู่ น่าจะให้ธุรกิจทำและส่งเสริมเรื่องภาษี และสำรองให้มีความมั่นคง ผมเห็นด้วยอย่างมาก ผมไม่อยากให้รัฐเอาไปทำเองทุกเรื่องเพราะระยะยาวพัฒนาการมันจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก
คุณสาระ: ในฐานะที่เราเป็นนักวางแผนการเงิน เรามีส่วนร่วมที่จะช่วยอะไรได้เยอะ ถึงเเม้เราจะมีจำนวนคนไม่มาก แต่ผมว่าเรายังสามารถทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำได้ ผมว่าประเทศไทยมีประเด็นเรื่องการออม มนุษย์เงินเดือนแม้จะมีการออมภาคบังคับแต่ท้ายที่สุดก็อาจจะอายุยืนโดยที่เงินออมไม่พอ คงไม่มีใครอยากจะเป็นภาระให้กับครอบครัวหรือสังคม ฉะนั้นเรื่อง Financial literacy และ insurance literacy จึงสำคัญ ผมเห็นทุกองค์กรทำหมด แต่ไม่เคยมีบูรณาการ และไม่มีความต่อเนื่อง
เรื่องประกันสังคมเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอนาคตต้องมีการเปลี่ยนแปลง อย่าง cap ที่ 15,000 บาท ก็ควรจะต้องเปลี่ยน ทั้งเงินเฟ้อ ความต้องการต่างๆ เมื่อผมเกษียณ หากมีแค่ประกันสังคมคงอยู่ไม่ไหว เอาแค่เรื่องบำนาญ ยังไม่รวมถึงเรื่องสุขภาพ ผมเห็นด้วยเรื่องกองทุนบำนาญแห่งชาติที่เป็นภาคบังคับ ถ้าเกิดขึ้นได้ก็จะทำให้มีเงินออมเกษียณเพิ่มขึ้น
ถ้าคปภ. เปิดให้ทำประกันในรูปบำนาญได้ง่ายขึ้น ก็จะมีตัวช่วยขึ้นมา ส่วนประกันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
กลับมาที่นักวางแผนการเงิน นายหน้า ตัวแทน เราต้องเปลี่ยน mindset วันนี้ไม่ใช่โลกของการขาย แต่เป็นโลกของการให้ advice ฉะนั้นคำถามที่ว่า ช่องทางตัวกลางจะหายไปไหม บอกได้เลยว่าหายแน่ถ้าไม่มีการพัฒนา เราต้องเอาข้อมูล เอาเทคโนโลยีมาใช้ และเป็นผู้ฟังที่ดี จะสามารถที่จะตอบโจทย์ให้แต่ละตัวบุคคลได้ และหยิบสินค้าที่ตรงกับความต้องการ จะทำให้ทุกคน win-win ได้ และจะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่และมีความแข็งเเกร่งมากขึ้น
ถ้าเราไม่เปลี่ยนก็จะถูกโลกบังคับให้เราเปลี่ยน
รับชมเทปการเสวนาที่ https://www.youtube.com/watch?v=2WaEZnCarDM
สรุปโดย ดร. ชาติย มีสุขโข CFP®
กองทุนประกันสังคมก่อตั้งโดยภาครัฐ โดยมีสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดูแลสมาชิก ซึ่งเงินในกองทุนมาจากผู้ประกันตน รัฐบาล และนายจ้างร่วมกัน ขณะนี้กองทุนมีขนาดใหญ่ หลักการของกองทุนประกันสังคมคือ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข”
มีภารกิจดูแลผู้ประกันตน ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกันคือ
กองทุนประกันสังคม
กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
แต่ก็ยังมีโรคและบริการที่ไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลตามสิทธิ ได้แก่ การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ยกเว้นการให้สารเมทาโดนเพื่อบำบัดรักษาผู้ประกันตนที่ติดยาเสพติดเฉพาะในกลุ่มฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่น การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง (ตัวยาบางตัวยังไม่ผ่านการรับรอง) การรักษาภาวะมีบุตรยาก การตรวจรักษาโรคใดๆ ที่เกินกว่าความจำเป็นในการรักษาโรคนั้นๆ การเปลี่ยนเพศ การผสมเทียม ทันตกรรม (ยกเว้น การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าตัดฟันคุด ใส่ฟันเทียชนิดถอดได้) และแว่นตา ทั้งนี้ กรณีจงใจให้ตนเองประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือตาย ก็ยังใช้สิทธิประกันสังคมได้
ขั้นตอนปฏิบัติกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ขอใบรับรองแพทย์ไปเบิกที่สำนักงานประกันสังคม โดยการเจ็บป่วย ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการเบิก กรณีที่ป่วยหนัก ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิ เมื่อแจ้งแล้วหากย้ายได้โรงพยาบาลตามสิทธิจะนำรถมารับไปรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากย้ายไม่ได้ 72 ชม. แรก นำไปเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคม โดยหลัง 72 ชม. โรงพยาบาลตามสิทธิจะรับผิดชอบทั้งหมด วิธีการเบิก “หากเลือกได้ ให้เข้าโรงพยาบาลรัฐบาล” หากเป็นผู้ป่วยนอก สำนักงานประกันสังคม รับผิดชอบค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริงทั้งหมด หากเป็นผู้ป่วยใน สำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 72 ชม. แรก ค่าห้องและค่าอาหารไม่เกิน 700 บาทต่อวัน
หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน “กรณีเป็นผู้ป่วยนอก” สำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบค่ารักษาตามประกาศฯ กำหนด ประกอบด้วย
“กรณีผู้ป่วยใน” ประกอบด้วย
“ค่าพาหนะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” สำนักงานประกันสังคมจะออกค่าใช้จ่ายให้ในกรณีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิประกันสังคม
กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
หากมีสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนกว่าจะพ้นวิกฤต แต่ไม่เกิน 72 ชม.
กรณีบำบัดทดแทนไต
ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์กรณีบำบัดทดแทนไต โดยจ่ายให้สถานพยาบาลในความตกลง
กรณีทันตกรรม
สิทธิได้รับบริการถอนฟัน (รวมถึงการผ่าฟันคุด) อุดและขูดหินปูน ปีละไม่เกิน 900 บาท (ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด) ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน อายุการใช้งานอย่างน้อย 5 ปี 1-5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,300 บาท มากกว่า 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,500 บาท ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก อายุการใช้งานอย่างน้อย 5 ปี ทั้งปากล่างหรือบน เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 2,400 บาท ทั้งปากล่างและบน เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 4,400 บาท
ประกันสังคมยังคุ้มครองไปถึงเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน (ตามใบรับรองแพทย์) 30 วันแรก รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กรณีทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ ซึ่ง
ในส่วนของค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลรัฐ ผู้ป่วยนอกเบิกคืนได้ทั้งหมด หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยนอกเบิกได้เดือนละไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน ผู้ป่วยในเบิกได้เดือนละไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือน รวมไปถึงค่าพาหนะ 500 บาทต่อเดือน หากเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์
กรณีชราภาพ
มี 2 รูปแบบคือ เงินบำเหน็จชราภาพ (เงินก้อนครั้งเดียว) และเงินบำนาญชราภาพ (ได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต)
เงื่อนไขการเกิดสิทธิคือ เมื่อมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หากจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเป็น “เงินบำเหน็จชราภาพ” ถ้าส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินสมทบเฉพาะในส่วนของตนเอง หากส่งเงินสมทบมากกว่า 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสมทบ เงินออมในส่วนของตนเอง และในส่วนของนายจ้าง อีกทั้งดอกเบี้ยประมาณ 3-4%
ในกรณีรับ “เงินบำนาญชราภาพ” หมายถึง ผู้ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม โดยข้อมูลจะอยู่ในระบบของสำนักงานประกันสังคม ผู้ใดที่จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน มีอายุ 55 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หากจ่ายเงิน 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือน สุดท้ายของการทำงาน ซึ่งจะเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน หากส่งเงินสมทบเยอะจะได้อัตราบำนาญเพิ่มขึ้นตาม
กรณีมีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพแล้วกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตน
ให้งดรับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนที่กลับเข้าเป็นผู้ประกันตน ต่อมาความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพดังนี้ หากจ่ายเงินสมทบคราวหลังไม่ถึง 12 เดือน ได้รับเงินบำนาญรายเดือนในอัตราเดิมก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนคราวหลัง และหากจ่ายเงินสมทบคราวหลังมากกว่า 12 เดือน ได้รับเงินบำนาญรายเดือนในอัตราใหม่ โดยปรับเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ของเงินสมทบทุก 12 เดือน ที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
กรณีมีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพและเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพในเวลาเดียวกัน
จะได้เป็นเงินจากกรณีทุพพลภาพและจะได้เป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ไม่ได้เป็นเงินบำนาญ โดย “เงินบำนาญสามารถเปลี่ยนเป็นเงินบำเหน็จได้” กรณีที่ผู้มีสิทธิรับเงินถึงแก่ความตาย จะกลายเป็นเงินบำเหน็จให้แก่ทายาท
เงินบำนาญ จะได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิตโดยผ่านธนาคาร หากผู้รับเงินบำนาญตาย การรับเงินจะถูกระงับในเดือนถัดไป หากตายภายใน 60 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ 10 เท่า ของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้าย
“สิทธิประโยชน์หลังจากการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และ มาตรา 39” จะได้รับการคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย ยกเว้น กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ
การยื่นขอรับสิทธิสามารถยื่นได้ภายใน 2 ปี ผู้มีสิทธิรับเงินชราภาพ สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ กรณีมีสิทธิรับบำนาญชราภาพแล้ว แต่ตนเองยังต้องการรับการรักษาเพราะเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มีโรงพยาบาลตามสิทธิ ยังอยากจะใช้สิทธิประกันสังคม สามารถซื้อประกันหลังจากรับบำนาญเฉพาะผู้มีสิทธิรับบำนาญเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันเงินบำนาญก็ยังไม่หยุดจ่าย แต่ต้องจ่ายเงินสมทบ จะให้ความคุ้มครองในกรณี เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย
ในอนาคตจะนำ 3 อย่างนี้ไปเป็นแนวทางในการแก้ไข นั่นก็คือ ขอคืน (เงินบำนาญได้บางส่วน) ขอกู้ (นำเงินบำนาญไปค้ำประกันกับธนาคาร) ขอเลือก (บำเหน็จหรือบำนาญได้)
รับชมเทปการบรรยายที่ https://www.youtube.com/watch?v=cm3rsqPLTS0
สรุปโดย ธชธร สมใจวงษ์ CFP®
สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหนึ่งในสิทธิทางด้านสวัสดิการสุขภาพของคนไทย ซึ่งครอบคลุมประชากรถึงประมาณ 48 ล้านคน
สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติคืออะไร
ถือเป็นสิทธิตามกฎหมายขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ซึ่งตั้งแต่เมื่อแรกเกิดก็จะได้รับสิทธินี้โดยอัตโนมัติ ยกเว้นในกรณีที่เป็นบุตรข้าราชการ ก็จะได้รับสิทธิของระบบราชการ ไปจนถึงอายุ 20 ปี จากนั้นจึงกลับมาใช้สิทธินี้โดยอัตโนมัติ ที่ผ่านมาเรามักจะคุ้นกันในอีกชื่อเรียกนั่นคือ สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรค งบประมาณของสิทธิการรักษาทั้งหมด 100 % มาจากภาษี
ใครบ้างที่ได้รับสิทธินี้
ผู้ที่ได้รับสิทธินี้คือ คนสัญชาติไทยที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน และไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือสิทธิประกันสังคม
ในทางปฏิบัติเมื่อใดที่ข้าราชการลาออก หรือคนทำงานเอกชนออกจากงานแล้วไม่ส่งประกันสังคมติดต่อเกิน 6 เดือน ก็จะกลับมาได้รับสิทธินี้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำเรื่องสมัคร เนื่องจากในปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการอ้างอิงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการแบ่งปันฐานข้อมูลระหว่างกันโดยอัตโนมัติทุกเดือน ซึ่งหากสถานพยาบาลเดิมที่เลือกไว้ อยู่ในระบบของสปสช. อยู่ด้วยแล้ว ก็จะมีการปรับตามมาด้วย
ขั้นตอนการใช้สิทธิ
เริ่มจากการลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ โดยใช้หลักการ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” หากอาศัยอยู่บริเวณใด ก็ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่ตั้งอยู่บริเวณนั้น ซึ่งจะเป็นสถานที่รักษาลำดับแรก และหากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องไปใช้สิทธิการรักษาจริง ก็ใช้การแสดงบัตรประชาชนเพื่อเข้ารับการรักษา หากหน่วยบริการนั้นๆ ไม่สามารถรักษาได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่มีความสามารถในการรักษาสูงขึ้น ซึ่งทั้งกรณีผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน รวมถึงกรณีที่ต้องมีการส่งต่อ จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับคนพิการ โดยปกติสามารถเข้ารับบริการตามสถานบริการประจำเป็นหลัก แต่หากมีความจำเป็น จะสามารถไปรับบริการสาธารสุข ณ หน่วยบริการอื่นของรัฐตามที่สะดวก โดยไม่ต้องรอให้มีการส่งตัว
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่สะดวกที่สุดตามความจำเป็น
ส่วนกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจนถึงแก่ชีวิต ซึ่งในทางการแพทย์คือ ความเจ็บป่วยที่มีต่ออวัยวะสามส่วนสำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตคือ สมอง ทางเดินหายใจ และหัวใจ สามารถเข้ารักษาที่สถานพยาบาลใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ซึ่งสปสช. จะดูแลการรักษาให้ภายใน 72 ชม. แรก และหลังจากนั้น หน่วยงานที่ดูแลสิทธิการรักษาของแต่ละบุคคลในแต่ละระบบจะรับผู้ป่วยเข้าไปรักษาตามที่รับผิดชอบ
บริการอื่นๆ นอกจากการรักษาพยาบาล
สำหรับบริการอื่นๆ นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์ที่ช่วยในการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โดยแบ่งออกสำหรับประชาชนกลุ่มวัยต่างๆ อย่างครอบคลุม เช่น ตั้งแต่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงอายุ
ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จะเริ่มตั้งแต่การทดสอบการตั้งครรถ์ การอัลตราซาวด์เพื่อตรวจครรภ์ ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะต่างๆ การให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็กโฟลิก และไอโอดีน การประเมินสุขภาพจิต ตรวจหลังคลอดและคุมกำเนิด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สมุดบันทึกสุขภาพ โดยการคลอดบุตร สามารถใช้สิทธิได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
ในกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 0-5 ปี มีสิทธิในการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค ตับอักเสบบี บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน โปลิโอ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า หัดเยอรมัน คางทูม ไข้หวัดใหญ่และไข้สมองอักเสบ ตรวจเลือดคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ (โรคเอ๋อ) ภาวะซีด การติดเชื้อเอชไอวี ติดตามการเจริญเติบโต ตรวจคัดกรองพัฒนาการ ตรวจช่องปากและฟัน เคลือบฟลูออไรด์ การให้ยาไทรอกซินป้องกันภาวะพร่องไทรอยด์ ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก ยาต้านไวรัสเอชไอวี สมุดบันทึกสุขภาพ/บันทึกพัฒนาการ และแว่นตาหากมีภาวะสายตาผิดปกติ
ในกลุ่มเด็กโต และวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี มีสิทธิในการได้รับการฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ฉีดวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก (สำหรับนักเรียนหญิง ป.5) ติดตามการเจริญเติบโต ตรวจเลือด คัดกรองภาวะซีด เอชไอวี ตรวจช่องปากและฟันตรวจ วัดความดันโลหิต ตรวจคัดกรองสายตาและการได้ยิน คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่/สุรา/สารเสพติด เคลือบฟลูออไรด์และหลุมร่องฟัน การให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก แว่นตาหากมีภาวะสายตาผิดปกติ (สำหรับนักเรียน ป.1) การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคุมกำเนิด การให้คำปรึกษาแนะนำ
กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี มีสิทธิในการได้รับฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน เอชไอวี คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่/สุรา/สารเสพติด คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (อายุ 50-70 ปี) เคลือบฟลูออไรด์ การให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การคุมกำเนิด การให้ความรู้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง การให้คำปรึกษาแนะนำ
การตรวจ การวินิจฉัย การรักษาจะครอบคลุมตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด จนถึงการรักษาโรคร้ายแรง โรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ
การบริการทันตกรรม ได้แก่ การอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน ผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมสำหรับเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก
บริการแพทย์แผนไทย ตามที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้แก่ ยาสมุนไพรหรือยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษาและทับหม้อเกลือ ฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด การอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา
รวมถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการตามเกณฑ์ที่สปสช. กำหนด
สิทธิการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็ง ตามที่แพทย์สั่ง และการรักษาทั้งอาการทั่วไป และการรักษาเฉพาะทาง เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด โดยการวินิจฉัยของแพทย์และการตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วย รวมถึงการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน (Palliative care)
สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องใช้สิทธิที่หน่วยบริการตามสิทธิโดยสามารถลงทะเบียน และรับบริการทดแทนไตที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ได้แก่ การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
บริการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวี สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และต้องการทราบสถานการณ์ติดเชื้อ สามารถรับคำปรึกษา และตรวจเลือดหาการติดเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง/คน/ปี หากเป็นผู้ติดเชื้อ จะได้รับการประเมินเพื่อเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และติดตามการรักษา รวมถึงการให้ยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูง การตรวจคัดกรอง และการตรวจยืนยันหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีและการคัดกรองวัณโรคตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
การรักษาที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครอง
บริการที่ไม่อยู่ในการคุ้มครองคือ การรักษาภาวะมีบุตรยาก การผสมเทียม การผ่าตัดแปลงเพศ การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง อุบัติเหตุการประสบภัยจากรถ และอยู่ในความคุ้มครองว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เฉพาะส่วนที่บริษัทหรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดตามกฎหมาย การปลูกถ่ายอวัยวะ
ในกรณีที่ไปรับการรักษาแล้วได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล มีสิทธิที่จะทำเรื่องขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นได้ สูงสุด 400,000 บาท โดยต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ทราบความเสียหาย
จะเห็นได้ว่า สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิที่ครอบคลุมทั้งการรักษาความเจ็บป่วย รวมไปถึงการดูแลสุขภาพในเชิงการป้องกัน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น
รับชมเทปการบรรยายที่ https://www.youtube.com/watch?v=Q_j4TA1EeYY
สรุปโดย งามจิตร สิงหบุตร CFP®
Session นี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ภาพรวมของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ข้อควรรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ และถาม-ตอบ
I. ภาพรวมของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
สวัสดิการข้าราชการคือ ผลประโยชน์ตอบแทนที่นอกเหนือจากเงินเดือน ค่าจ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เข้ารับราชการ โดยการจ่ายเงินจากมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันกับข้าราชการทุกคน และคำนึงถึงภาระทางการคลัง ซึ่งได้รับจัดสรรจากการจัดเก็บภาษี
ทั้งนี้ ระบบการจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล แบ่งเป็น ผู้ป่วยนอก (OPD) และ ผู้ป่วยใน (IPD) ซึ่งทั้งสองแบบใช้หลักการในการจ่ายสวัสดิการดังนี้
ผู้มีสิทธิรับสวัสดิการสำหรับข้าราชการรวม 4.6 ล้านคน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้มีสิทธิโดยตรง หมายถึง ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พนักงานมหาวิทยาลัย ประมาณ 2.2 ล้านคน และกลุ่มผู้มีสิทธิแฝง หมายถึง บุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิโดยตรง ประมาณ 2.4 ล้านคน
จากสถิติพบว่า ผลการเบิกจ่ายมีปริมาณสูงขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2562 มีการเบิกจ่ายประมาณ 74,000 ล้านบาท ทั้งนี้ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปีมาจาก ค่ารักษาพยาบาลประเภท OPD ส่วนการเบิกจ่าย IPD มีรายจ่ายที่ค่อนข้างคงที่ หรือเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าการเบิกค่ารักษาพยาบาลของ OPD
II. ข้อควรรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์
สิทธิประโยชน์ครอบคลุม
ทั้งนี้ ในกรณีการเบิกค่ารักษาพยาบาลแบ่งเป็น
คุณรชตะ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันสุขภาพในประเทศไทยว่า หากเลือกได้ อยากให้การบริหารประกันสุขภาพไม่ซ้ำซ้อนกับประกันหลักที่ทางภาครัฐมีให้กับประชาชนหรือข้าราชการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ใช้บริการและภาคธุรกิจที่ให้บริการ เช่น ธุรกิจประกันที่สามารถขยาย scope ของแผนประกัน รวมถึงโรงพยาบาลจะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีราคาสูงมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาดูแลผู้ป่วย
III. ถาม-ตอบ
Q: กรณีที่ญาติของข้าราชการกำลังเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยใน แล้วข้าราชการท่านนั้นเสียชีวิต ญาติของข้าราชการจะยังได้รับสิทธิการรักษาอยู่หรือไม่ และจะได้รับถึงเมื่อใด
A: ญาติจะยังได้รับการดูแลรักษาจากกรมบัญชีกลางในการเจ็บป่วยครั้งนั้น
Q: กรณีผู้มีสิทธิต้องการนัดหมายล่วงหน้ากับ รพ เอกชน มีขั้นตอนยุ่งยากหรือไม่ และมีหน่วยงานใดดูแล
A: ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่รพ. นั้นต้องเป็นคู่สัญญากับกรมบัญชีกลาง และระบุโรคที่ให้บริการ โดยรพ.จะรับทราบขั้นตอนการเบิกจ่ายอยู่แล้ว ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิโดยการแสดงบัตรประชาชน และติดต่อกับฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของรพ. หลังจากนั้นรพ. จะดำเนินการให้ทั้งหมดคล้ายกับการเคลมประกันทั่วไป
Q: ข้าราชการเกษียณ กรณีมีการใช้เกินสิทธิ มีหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือหรือไม่
A: ไม่มีหน่วยงานใดดูแลเรื่องนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือข้าราชการเกษียณ ใช้หลักสวัสดิการเดียวกันคือ ผู้ใช้สิทธิจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกินสิทธิ
Q: นอกเหนือจากการเสริมความงามแล้ว มีอะไรอีกบ้างที่ไม่ครอบคลุมในสวัสดิการการรักษาพยาบาล
A: สวัสดิการการรักษาส่วนใหญ่จะครอบคลุมทุกโรคอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามจะมีการรักษาบางอย่างเป็นการรักษาโดยใช้ High technology หรือ innovative medicines เช่น ในปัจจุบันการผ่าตัดหัวใจแบบไม่ต้องผ่าหน้าอก โดยการใช้สายสวน ปัจจุบันยังไม่นำเข้าสู่ระบบ ซึ่งในอนาคตอาจมีการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมวิธีการใหม่ๆ นี้ด้วย
Q: ทำไมสวัสดิการรักษาพยาบาลได้สิทธิ์แค่ราชการ ทั้งๆ ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นผู้มีรายได้ทุกคน ทำไมไม่เปลี่ยนเงื่อนไข จากแค่ราชการเป็นประชาชนทุกคนที่เสียภาษี ได้สิทธินี้เท่าเทียมกัน หรือรวมกับสปสช.
A: ปัจจุบันคนไทยทุกคนได้รับสิทธิในการดูแลด้านสุขภาพทุกคน เพียงแต่ต่างหน่วยงานที่ดูแล สิทธิราชการ กรมบัญชีกลางดูแล สิทธิประกันสังคมสำนักงานประกันสังคมดูแล สิทธิบัตรทองสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแล
Q: เคยมี Forecast ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มในอนาคตหรือไม่ จะมีโอกาสเกิดวิกฤตการเงินของภาครัฐจากสาเหตุการเบิกสวัสดิการนี้ขนาดไหน รัฐมีการเตรียมการอย่างไร
A: กรมบัญชีกลางให้ความสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมและกำกับการเบิกจ่ายเงิน และมีการประมาณการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอัตราการเพิ่มของค่ารักษาพยาบาลอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ประกอบกับสิทธิราชการมีผู้สูงอายุเยอะจึงมีค่าใช้จ่ายที่สูง
Q: TDRGs ใช้ตั้งแต่เมื่อไร และมีการประเมินว่าทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้นหรือไม่ มีแนวโน้มที่จะขยายไปใช้กับประกันสังคมด้วยหรือไม่ และในส่วนของรพ. ที่เข้าร่วมโครงการ TDRGs มี feedback อย่างไร
A: กรมบัญชีกลางใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่ปี 2550 และปัจจุบันทุกกองทุนมีการใช้ TDRGs กำกับค่าใช้จ่าย สำหรับการตอบรับของสถานพยาบาลนั้นมีความหลากหลายแต่สิ่งสำคัญคือ เราไม่สามารถจ่ายเงินในรูปแบบเดิมที่ไร้การกำกับได้
Q: จากการเบิกจ่ายสำหรับข้าราชการ ข้าราชการควรทำประกันสุขภาพเพิ่มหรือไม่ มีตัวอย่างอะไรที่เบิกไม่ได้บ้าง เช่น ยาคีโมหรือ targeted therapy สำหรับโรคมะเร็ง
A: โดยภาพรวมข้าราชการส่วนใหญ่จะมีการซื้อประกันอยู่แล้ว ด้วยสาเหตุของการนำไปลดหย่อนภาษีโดยที่จะเป็นประกันชีวิตร่วมกับประกันสุขภาพ ส่วนการซื้อประกันสุขภาพนั้น ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะพิจารณาจากกำลังทรัพย์ที่ตนมี
Q: ชอบ 2nd dollar concept ภาครัฐเองมีนโยบายที่จะสนับสนุนแนวทางนี้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่
A: เนื่องจากตลาดการประกันเป็นตลาดเสรี รัฐใช้กลไกกฎหมายเพียงแค่กำกับตามบทบาทของคปภ. หากจะพิจารณาในมิติ healthcare มีการหารือร่วมกัน แต่ยังไม่ตกผลึกมากพอที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ในมุมมองของวิทยากร จึงเป็นโอกาสในทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการที่สนใจอาจดำเนินการได้
รับชมเทปการบรรยายที่ https://www.youtube.com/watch?v=xfKTozmuwX0
สรุปโดย นโรโดม วาณิชฤดี CFP®
Q: ประกันชีวิตและประกันสุขภาพมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนสำหรับคนวัยเกษียณ
คุณสาธิต: ในฐานะที่เป็นผู้เกษียณอายุแล้ว เห็นว่าประกันชีวิตและประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะช่วงอายุในวัยเกษียณถือเป็น 1 ใน 3 ของช่วงชีวิต ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าคนวัยเกษียณมีความกังวลต่อเรื่องสุขภาพสูงถึงร้อยละ 60 ขณะที่ความกังวลเรื่องฐานะการเงินและอนาคตของลูกหลานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น โดยโจทย์สำคัญของวัยเกษียณคือ การบริหารรายรับและรายจ่ายให้เพียงพอไปตลอดชีวิต อีกทั้งยังมีความท้าทายจากอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวขึ้น ดังนั้น การดูแลไม่ให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป การไม่นำเงินเก็บหรือเงินลงทุนออกมาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการดูแลให้รายรับหลังเกษียณเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นความท้าทายสำคัญมากในการบริหารรายรับรายจ่ายของคนวัยเกษียณ ซึ่งในส่วนนี้ เราสามารถใช้ประกันสุขภาพและประกันแบบบำนาญเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงได้
Q: ประกันสุขภาพมีกี่แบบ แบบไหนเหมาะกับคนวัยเกษียณ จะเลือก ม.39 หรือ สปสช. ดีกว่ากัน
คุณนโรโดม: โดยทั่วไปเรามีทางเลือกในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ 3 ทางด้วยกัน ได้แก่ การจ่ายค่ารักษาด้วยตัวเอง การใช้สิทธิระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และทำประกันสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งเราสามารถเลือกที่จะผสมผสานแนวทางทั้ง 3 ที่เหมาะกับตัวเองได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง
สำหรับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถแบ่งรูปแบบของสิทธิการรักษาได้เป็น 3 แบบ ได้แก่ หนึ่ง สิทธิข้าราชการ สำหรับข้าราชการที่เกษียณอายุแบบบำนาญ[1] สอง สิทธิตามระบบประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ สาม สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งการตัดสินใจว่าควรเลือกใช้สิทธิใดนั้น ก็ควรเปรียบเทียบและชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบ เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ตัวอย่างเช่น สำหรับข้าราชการ ควรเปรียบเทียบความครอบคลุมของสิทธิการรักษาพยาบาลระหว่าง สิทธิข้าราชการในกรณีที่เลือกรับเงินเกษียณแบบบำนาญ กับ สิทธิบัตรทองที่เลือกรับเงินเกษียณแบบบำเหน็จ ดังปรากฏในตารางที่ 1
[1] กรณีเป็นข้าราชการเกษียณอายุที่ขอรับเงินบำเหน็จจะเข้าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติหรือระบบบัตรทอง
สำหรับสมาชิกประกันสังคม หากหลังเกษียณแล้วยังคงต้องการรับสิทธิการรักษาตามระบบประกันสังคมต่อเนื่อง นอกจากจะต้องเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล เช่น การเลือกโรงพยาบาล การจำกัดลักษณะของโรคที่สามารถรับการรักษาได้ ความคุ้มครองกรณีรักษาตัวต่อเนื่อง การทำทันตกรรม ประเภทของยา รวมถึงค่าห้องและค่าอาหาร ดังปรากฏในตารางที่ 2 แล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิทธิการรับเงินชราภาพหลังเกษียณอายุดังแสดงในตารางที่ 3 ด้วย
สำหรับกรณีประกันสุขภาพส่วนบุคคลนั้น คุณนโรโดมกล่าวว่า เราสามารถ่วนบุคคลนั้น ะดูกหากเป็กบบบำเหนี่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดงิน แบ่งประเภทของประกันสุขภาพได้เป็นสองลักษณะคือ แบ่งตามประเภทของบริษัทประกันภัย ได้แก่ บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย และแบ่งตามผลประโยชน์ความคุ้มครอง ได้แก่ (1) ผลประโยชน์คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีทั้งแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบแยกกำหนดวงเงินจำกัดตามหมวดค่าใช้จ่ายต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง (การกำหนดวงเงินรักษาพยาบาลในแต่ละรายการอย่างชัดเจน) และแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่าย โดยกำหนดวงเงินจำกัดสำหรับการรักษาทั้งปี ซึ่งเบี้ยประกันจะสูงกว่าแบบแรก (2) ชดเชยรายได้กรณีต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และ (3) จ่ายเป็นเงินก้อนเมื่อตรวจพบโรคร้ายแรง ดังนั้น ในการตัดสินใจเลือกแบบประกันสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน หากเรามีข้อจำกัดในการจ่ายเบี้ยประกัน เราอาจพิจารณาใช้สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ร่วมด้วย
Q: หลักคิดว่า ประกันชีวิต ประกันสุขภาพสำหรับคนวัยเกษียณ ควรมีอย่างไร เท่าไรถึงจะพอ
คุณแววตา: ให้มุมมองถึงความจำเป็นที่ต้องวางแผนประกันชีวิตและสุขภาพหลังเกษียณว่ามีสาเหตุ 3 ได้แก่ หนึ่ง อายุขัยที่ยืนขึ้น การแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น สอง แม้ว่าสวัสดิการของรัฐจะครอบคลุมมากขึ้น แต่อาจไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร โดยข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลของประชากรไทย 66 ล้านคน ณ ปี 2564 พบว่าประชาชนมีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 63 สิทธิประกันสังคมร้อยละ 35 และสิทธิกบข. ร้อยละ 2 และ สาม ประกันสุขภาพมีทางเลือกมากขึ้น แต่เบี้ยประกันค่อนข้างสูง ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 ที่พบว่าคนไทยกว่าร้อยละ 19 มีเงินไม่เพียงพอสำหรับเกษียณ และข้อมูลของมูลนิธิสถาบันพัฒนาและวิจัยผู้สูงอายุไทยปี 2564 ที่พบว่าผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 96 อาศัยอยู่บ้านหลังเดิมอย่างยากลำบากและได้รับเพียงสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น
นอกจากนี้ คุณแววตาได้ให้หลักคิดในการตรวจสอบความเพียงพอของสวัสดิการรักษาพยาบาลดังนี้ 1) ตรวจสอบสวัสดิการของตัวเอง ณ ปัจจุบัน และ ณ วันเกษียณอายุ ว่าเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ 2) คาดการณ์ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณและเบี้ยประกันสุขภาพที่รวมเงินเฟ้อ ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ (ประเมินจากค่าเบี้ยหลังเกษียณอายุ) และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม (Out of Pocket) เช่น ค่าอาหารเสริม เป็นต้น และ 3) การวางแผนการเงิน โดยควรแยกระหว่างพอร์ตสำหรับการเกษียณอายุและพอร์ตสำหรับการดูแลสุขภาพระยะยาว
Q: สาระสำคัญของมาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่หรือ New Health Standards มีอะไรบ้าง และหากยังไม่มีประกันสุขภาพ ควรซื้อแบบเก่าหรือแบบใหม่และมีคำแนะนำสำหรับแบบเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างไรบ้าง
คุณสาธิต: ให้ความเห็นว่า มาตรฐานประกันสุขภาพปี 2549 และปี 2564 มีข้อดี ข้อจำกัดแตกต่างกัน และให้ข้อมูลเปรียบเทียบในประเด็นดังนี้
ทั้งนี้ คุณสาธิตให้ข้อคิดว่า เราสามารถเปลี่ยนค่ารักษาพยาบาลที่ไม่รู้เงินรู้เวลา ให้เป็น ค่าใช้จ่ายที่รู้เงินรู้เวลา ด้วยการทำประกันสุขภาพ
Q: ควรเลือกซื้อความคุ้มครองสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย
คุณนโรโดม: ให้ข้อมูลว่าในอดีตผลประโยชน์ความคุ้มครองของประกันสุขภาพที่ซื้อกับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่หลังจากมาตรฐานการประกันภัยสุขภาพใหม่ (มาตรฐานปี 2564) มีผลบังคับใช้ ประกันสุขภาพที่ซื้อกับบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยจะมีวิธีการกำหนดความคุ้มครองเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างคือ วงเงิน ระยะเวลาความคุ้มครอง เป็นต้น
ดังนั้นหากเน้นเรื่องประกันสุขภาพ การซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยจะไม่มีความแตกต่างกัน แต่จะมีสิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ 1) การซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิต จะต้องซื้อแนบกับกรมธรรม์หลัก แต่หากซื้อจากบริษัทประกันวินาศภัยไม่จำเป็นต้องซื้อกรมธรรม์หลัก ดังนั้น ให้พิจารณาถึงความต้องการว่าต้องการความคุ้มครองจากกรมธรรม์หลักด้วยหรือไม่ 2) ปกติการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพทั้งที่ซื้อกับบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย จะเป็นแบบเบี้ยรายปี และมีการปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ไม่แตกต่างกัน แต่จะมีสัญญาประกันสุขภาพบางแบบที่ซื้อแนบกับกรมธรรม์ยูนิตลิงค์ของบริษัทประกันชีวิต ที่เบี้ยจะเป็นเบี้ยคงที่ ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ 3) ความมั่นคงของบริษัท แต่ละบริษัทมีอัตราการปรับเบี้ยที่แตกต่างกัน บริษัทที่มีความมั่นคง มีลูกค้าจำนวนมาก จึงมีการ share ความเสี่ยงมาก รวมถึงบริษัทที่มีเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์สินไหมต่าง ๆ ที่รัดกุม ทำให้ loss ratio ต่ำ โอกาสที่เบี้ยประกันสุขภาพจะถูกปรับเพิ่มขึ้นจากค่าประสบการณ์ในการเคลมสินไหมก็จะน้อยกว่า
Q: ปัญหาของการประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่เจอกับลูกค้าวัยเกษียณมีอะไรบ้าง มีวิธีแก้อย่างไร
ดร. ชาติชาย: ได้เล่าเคสตัวอย่างของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เกษียณอายุแล้ว และยังคงมีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอยู่ แต่เมื่ออายุมากขึ้น มีโรคคนชราหลายโรค การรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐอาจจะไม่รวดเร็วพอ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยลูกจำเป็นต้องแบกรับภาระจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้เนื่องจากเบิกจากสวัสดิการไม่ได้ และภายหลังเมื่อเสียชีวิตลง ก็ทำให้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของคู่สมรสสิ้นสุดลงด้วย จากกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าคนวัยเกษียณควรวางแผนทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากสิทธิสวัสดิการของตนเองที่มีอยู่เพื่อไม่ให้กระทบกับบุคคลอื่น
คุณแววตา: ได้ยกตัวอย่างเคสของลูกค้าที่ได้ซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่ลืมคิดว่าในอนาคตเบี้ยประกันจะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ ณ วันเกษียณจำเป็นต้องปรับลดความคุ้มครองลงเพื่อให้ยังคงจ่ายเบี้ยได้ต่อ หรือหากจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ก็จำเป็นต้องใช้สวัสดิการภาครัฐ ซึ่งอาจมีประเด็นเรื่องความสะดวกสบาย หรือความรวดเร็วในการรักษาพยาบาลที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วยnนอกจากนี้ ยังได้ยกเคสตัวอย่างของลูกค้าที่ได้รับสิทธิประกันสุขภาพกลุ่มจากที่ทำงาน และตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพภายหลังจากไม่ได้ทำงานแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้แล้วเนื่องจากอายุมากและมีปัญหาสุขภาพ สุดท้ายแล้วจำเป็นต้องเก็บเงินเพื่อรักษาตนเอง (Self-insured)
Q: ในมุมของการวางแผนการเงิน การทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพช่วยตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณอย่างไรบ้าง
คุณสาธิต: มองว่าประกันชีวิตสามารถช่วยตอบโจทย์การวางแผนมรดกได้ 4 ประเด็นคือ 1) ถูกคนคือ ผู้เอาประกันสามารถระบุผู้รับผลประโยชน์ตามที่ตั้งใจได้ บริษัทประกันชีวิตจ่ายสินไหมให้กับผู้รับผลประโยชน์ แตกต่างจากการทำพินัยกรรมที่อาจมีปัญหาการฟ้องร้องได้ 2) ถูกเงินคือ สามารถกำหนดทุนประกันภัยเป็นจำนวนเงินตามที่ต้องการให้กับผู้รับผลประโยชน์ 3) ถูกเวลาคือ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตลง บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายสินไหมให้ผู้รับผลประโยชน์ทันที ซึ่งต่างจากกรณีพินัยกรรมที่ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งปีหรือมากกว่านั้นหากมีการฟ้องร้อง และ 4) ถูกต้นทุนคือ เงินสินไหมไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก มรดกคือทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตก่อนวันเสียชีวิต แต่สำหรับประกันชีวิต จะมีทรัพย์สินเกิดขึ้นหลังจากเสียชีวิตแล้ว ดังนั้นประกันชีวิตไม่ถือเป็นมรดก
คุณนโรโดม: ให้ข้อมูลว่าประกันชีวิตและประกันสุขภาพช่วยตอบโจทย์การวางแผนภาษีใน 2 ด้านคือ 1) การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพสามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท (และรวมคำนวณอยู่ในยอดลดหย่อนประกันชีวิต 100,000 บาท) เบี้ยประกันบำนาญสามารถลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ กอช. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และ 2) ช่วยเตรียมเงินสำหรับจ่ายภาษีการรับมรดก โดยทายาทสามารถนำค่าสินไหมจากประกันชีวิตมาใช้เสียภาษีการรับมรดก แทนการจำหน่ายทรัพย์มรดกออกไป
คุณแววตา: ให้มุมมองว่าประกันชีวิตช่วยตอบโจทย์การวางแผนคุ้มครองชีวิตและการบริหารเงินในแง่เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคุ้มครองชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต และยังช่วยให้สามารถบริหารเงินออม หรือพอร์ตการลงทุนสำหรับวัยเกษียณให้เติบโตและงอกเงย มีฐานะที่มั่นคงได้โดยไม่ทำให้เป้าหมายการออมเงินเพื่อการเกษียณถูกกระทบเมื่อมีเหตุเจ็บป่วยไม่สบาย หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ดร. ชาติชาย: ให้ความเห็นว่าแค่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องเริ่มต้นทำประกันสุขภาพด้วย รวมทั้งควรต้องหมั่นอัพเดทความรู้เพิ่มเติม เช่น มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ เป็นต้น นั่นคือ รู้ เริ่ม และรักษาแผนประกันสุขภาพนั้นไว้ นอกจากนั้น ดร. ชาติชายยังให้ความเห็นว่าควรมีพอร์ตการลงทุนแยกสำหรับการดูแลสุขภาพ เพิ่มเพื่อเป็นส่วนเสริมจากสวัสดิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่แล้วด้วย
รับชมเทปการเสวนาที่ https://www.youtube.com/watch?v=4Eqn8n0ZJW4
ณัฐพงษ์ อภินันท์กูล CFP®
กองทุนรวมกองแรกของไทย คือกองทุนอะไร และมูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ (NAV) จะเป็นเท่าไหร่ในปัจจุบัน สำหรับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมกองทุนรวมคงตอบได้ว่า กองทุนรวมกองแรกของไทยคือ “โครงการกองทุนสินภิญโญ” จัดตั้งโดยบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัด (ปัจจุบัน บลจ. เอ็มเอฟซี) แต่ NAV เป็นเท่าไหร่นั้นคงตอบไม่ได้ เพราะโครงการกองทุนสินภิญโญเป็นกองทุนปิดที่ลงทุนในหุ้นมีอายุ 10 ปีตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2520 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2530 แต่หากว่ากองทุนนี้เป็นกองทุนเปิด ด้วยการอ้างอิงผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คำนวณได้ว่ากองทุนนี้จะมี NAV 1,002.52 บาท (x 100) (ผลคำนวณผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นของตลาดหุ้นไทยปี ต้นปี 2520 – สิ้นปี 2563 ร้อยละ 11.04 ต่อปีเป็นเวลา 44 ปี รวมเงินปันผล ไม่หักค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายอื่นของกองทุน)
อย่างไรก็ดีกองทุนรวมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีกองทุนไหนที่มี NAV ถึง 1,000 บาท เนื่องจากจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีระยะเวลายาวนานพอในการสร้างผลตอบแทนระดับ x 100 จากการค้นหาข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2564 พบว่ามี 4 กองทุนที่มี NAV ถึง 100 บาท หรือ x10 คือ กองทุน KAEQ (สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน) กองทุน ABG กองทุน BERMF และกองทุน ERMF ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคมมี NAV 125.402 บาท 108.3694 บาท 96.1603 บาท และ 90.6221 ตามลำดับ (กองทุน BERMF และ ERMF เคยมี NAV เกิน 100 บาทในช่วงปี 2560 – 2562) กองทุนทั้ง 4 กองนี้สามารถทำผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ยสูงกว่าดัชนีอ้างอิงตามดังตาราง
กองทุนเหล่านี้นอกจากสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแล้วยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการในการได้รับพลังของดอกเบี้ยทบต้นคือ การจัดตั้งมายาวนานประมาณ 20 ปีเพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับ x10 อย่างไรก็ดีเรามักจะพบกับปัญหาว่าผู้ลงทุนบางท่านต้องการซื้อกองทุนที่มี NAV 10 บาทมากกว่ากองทุนที่มี NAV 100 บาท เพราะรู้สึกว่ากองทุน 10 บาทถูกกว่ากองทุน 100 บาท และรู้สึกว่า NAV 10 บาทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 15 บาทได้ง่ายกว่ากองทุนที่มี NAV 100 บาทไปเป็น 150 บาท ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการสร้างผลตอบแทนร้อยละ 50 เท่ากันที่มา Setsmart ข้อมูลผลตอบแทน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564
Absolute Term VS Percentage Term
การพิจารณาผลตอบแทนเป็นจำนวนบาท (absolute term) และการพิจารณาผลตอบแทนเป็นร้อยละ (% - percentage term) ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาในมุมมองของผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบ เช่น การเก็บเงินที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้นจาก 1 แสนเป็น 1 ล้านนั้น จะรู้สึกว่าทำได้ง่ายกว่าการเก็บเงิน 3 ล้านให้เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้าน เนื่องจากการเก็บเงิน 1 แสนเป็น 1 ล้านใช้เงินเพิ่มอีก 9 แสนบาท แต่หากการเก็บเงิน 3 ล้านให้เป็น 30 ล้านนั้น ยังต้องใช้เงินอีกถึง 27 ล้านบาทเลยทีเดียว หรือหากพิจารณาในตลาดหุ้น การแตกพาร์ให้ราคาต่อหุ้นต่ำลงก็เป็นแรงกระตุ้นเชิงจิตวิทยาว่าจะมีรายย่อยเข้ามาซื้อขายมากขึ้น และทำให้เชื่อว่าหุ้นที่มีราคา 20 – 30 บาทปรับตัวขึ้นเป็นเท่าตัวได้ง่ายกว่าหุ้นที่มีราคา 200 – 300 บาท แต่หากเป็นมุมมองของผลตอบแทนเป็นร้อยละแล้ว เงิน 1 แสนเป็น 1 ล้านคือ การเพิ่มขึ้น 10 เท่า ไม่แตกต่างกับการที่เงิน 3 ล้านเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านด้วยการเพิ่มขึ้น 10 เท่าเช่นกัน
ให้ความสำคัญกับการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุน
ดังนั้นสำหรับ NAV ของกองทุนรวมแล้วราคาต่อหน่วยเป็นเพียงสิ่งสมมติขึ้นเพื่อแบ่งสัดส่วนหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนแต่ละรายได้รับตามจำนวนเงินลงทุนของตัวเองเท่านั้น การดูเพียง NAV เพียงอย่างเดียวนั้นไม่อาจบอกได้ว่ากองทุนเหล่านั้นมีราคาถูก หรือมีราคาแพงแต่อย่างใด สิ่งที่นักวางแผนการเงินควรอธิบายให้ผู้รับคำปรึกษาได้รับทราบคือ การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่กองทุนเหล่านี้ลงทุนว่ามีราคาถูกหรือแพง และมีโอกาสของการเติบโตในอนาคตเป็นอย่างไร หากกองทุนที่ผู้รับคำปรึกษาสนใจมีการลงทุนในสินทรัพย์เดียวกันและมีค่าธรรมเนียมเท่ากัน NAV ที่แตกต่างกันจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้น 2 กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในดัชนี SET 50 เหมือนกันทั้ง 2 กองทุน กองทุน A มี NAV 100 บาท กองทุน B มี NAV 10 บาท หากเราลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาทเท่ากัน การลงทุนในกองทุน A จะได้หน่วยลงทุน 10,000 หน่วย และกองทุน B จะได้ 100,000 หน่วย (NAV เป็นตัวหารให้ได้หน่วยลงทุนเท่านั้น – ตัวอย่างที่แสดงไม่ได้คำนวณค่าธรรมเนียมในการขายหน่วยลงทุน) หากว่าดัชนี SET 50 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 NAV ของกองทุน A และ B จะเพิ่มขึ้นเป็น 105 และ 10.5 บาทตามลำดับ เงินลงทุนในกองทุนทั้งสองกองจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,050,000 บาทเท่ากัน ดังนั้น NAV สูงหรือต่ำมิได้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าผลตอบแทนในอนาคตจะเป็นอย่างไร การคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นเป็นการพิจารณาสินทรัพย์ที่กองทุนเหล่านั้นไปลงทุนว่ามีการประเมินมูลค่าอยู่ในระดับใดเพื่อบอกว่ามีราคาถูกหรือแพง และพิจารณาถึงการเติบโตในอนาคต
การสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
สำหรับบางคนอาจมีความเห็นว่าตัวเลข NAV ของกองทุนก็อาจพอบอกอะไรได้บ้าง เช่น กองทุนที่มี NAV ต่ำกว่าราคาพาร์ (ต่ำกว่า 10 บาท) แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เข้าลงทุนตั้งแต่ IPO ยังคงขาดทุนอยู่ (ยกเว้นกลุ่มกองทุน ETF บางกอง เช่น TDEX (SET50 ETF) ที่มีราคาพาร์เท่ากับดัชนี SET50 หารด้วย 100 ในวันจดทะเบียนกองทุน (5.68 บาท) เพื่อให้ราคาซื้อขายมีความใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง) ส่วนกองทุนรวมที่มี NAV มากกว่า 10 บาทก็จะเป็นกองทุนที่มีประวัติการสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในแก่นักลงทุนดังเช่นกองทุนหุ้น 4 กองทุนที่มี NAV สูงกว่า 100 บาท ที่ยกเป็นตัวอย่างไว้ข้างต้น ก็เป็นการสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นระดับ x10 ภายในเวลา 20 ปีเลยทีเดียว จึงพอคาดการณ์ได้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีบางกองทุนที่มี NAV 1,000 บาท (x100) อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกกองทุนที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีอ้างอิง เพราะการมีนโยบายการลงทุนแบบ active management นั้นย่อมทำให้กองทุนมีผลตอบแทนสูงกว่าหรือต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงได้ทั้งสองทาง จึงยังมีอีกหลายกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ไม่ดีนักในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ทั้งนี้ผู้เขียนมิได้หมายความว่ามีเพียง 4 กองทุนนี้เท่านั้นที่ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีอ้างอิงในระยะยาว อาจมีบางกองทุนที่จัดตั้งในช่วงเวลาเดียวกัน แต่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอให้แก่นักลงทุนจึงส่งผลให้ NAV ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 100 บาท ผู้ลงทุนควรต้องพิจารณานโยบายการลงทุน และความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานประกอบด้วย
หนึ่งในกลุ่มกองทุนที่มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวคือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุน RMF ที่มีการเสนอขายเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2544 และมีการเสนอขายจำนวนมากขึ้นในปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ จะพบกว่ากองทุนที่มีอายุเกือบ 20 ปีเหล่านี้สามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาวตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ดัง ตัวอย่างกองทุน RMF ที่จัดตั้งในช่วงแรกและมีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน
จากตารางเห็นได้ว่ากลุ่มกองทุน RMF ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี มี NAV อยู่ในช่วง 80 – 90 กว่า บาทเหล่านี้ สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นอย่างดีนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแนว VI เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกองทุน RMF ตามบทความใน Website thaivi.org ปี 2560 ว่า “ …ผมก็ลงทุนใน RMF ทุกปี จนถึงวันนี้เป็นเวลา 16 ปี เงินที่ผมลงทุนคิดรวมกันเท่ากับ 2,680,000 บาท แต่สินทรัพย์สุทธิหรือเม็ดเงินที่อยู่ในกองทุนที่ผมจะถอนออกมาใช้ได้คือ 6,557,545 บาท หรือมีเงินเพิ่มขึ้นเกือบ 4 ล้านบาท ผลตอบแทนที่กองทุนทำได้ตามที่รายงานโดยผู้จัดการกองทุนคือประมาณปีละ 14.4% แบบทบต้น เงินก้อนแรกที่ผมลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 8 เท่าตัว …. ประสบการณ์ของการลงทุนใน RMF และ LTF ของผมนั้น ผมคิดว่าไม่มีอะไรพิเศษและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนอื่นๆ” เป็นการย้ำเตือนว่าการได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับนี้นั้น สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน แม้ว่าเราไม่ต้องการลดหย่อนภาษี ก็สามารถใช้กองทุนหุ้นปกติในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวได้ 20 ปีที่ผ่านมากองทุนเหล่านี้เติบโตจาก 10 บาท เป็น 100 บาท (x10) และหากยังสามารถรักษาการเติบโตในระดับเดียวกันกองทุนเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะมี NAV ระดับ 1,000 บาท (x100) ได้ในอีก 20 กว่าปีข้างหน้า หรือกองทุนใหม่ที่มี NAV 10 บาทก็สามารถเติบโตเป็น 100 บาทได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลตอบแทนที่นำมาแสดงเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาว ผู้ลงทุนต้องสามารถรับความผันผวนของการติดลบประมาณร้อยละ 40 – 50 ที่เกิดขึ้นในบางปีด้วยเช่นกัน ในช่วงท้ายของบทความ ดร.นิเวศน์ได้ให้มุมมองว่า “ …แน่นอน อนาคตอาจจะไม่เหมือนกับอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนใน LTF และ RMF ของผมในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอีก 16 ปีข้างหน้า บางทีมันอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกในตลาดหุ้นไทยแต่มันก็อาจจะเกิดในตลาดของประเทศอื่นก็ได้ ไม่มีใครรู้ การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงเสมอ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์สอนเราว่าในระยะยาวแล้ว หุ้นเองกลับมีความเสี่ยงน้อยลงและโอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตราสารการเงินอื่นนั้นมีน้อยมากๆ” สำหรับบทความนี้ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า 10 เท่าในรอบถัดไปอย่าพลาดกันนะครับที่มา Setsmart ข้อมูลผลตอบแทน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ข้อมูล NAV วันที่ 20 ต.ค. 2564
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกับกองทุนรวมและการลงทุนเอง
การลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดี เช่น ใช้เงินลงทุนน้อย กระจายความเสี่ยง มีมืออาชีพบริหารจัดการ และมีการควบคุมดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ข้อเสียคือ ไม่สามารถเลือกการลงทุนที่ตัวเองชอบได้อย่างเต็มที่ เลือกได้เพียงนโยบายโดยรวม และมีค่าธรรมเนียมในการจัดการ John C. Bogle ผู้ก่อตั้ง The Vanguard Group เคยแสดงการเปรียบเทียบว่า สำหรับการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นเวลา 50 ปี หากว่าผลตอบแทนแตกต่างกันออกไปร้อยละ 2 (อาจเป็นเพราะค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน) เงินสุดท้ายที่มีจะแตกต่างกันเกือบ 2 ใน 3 ตัวอย่างเช่น หากลงทุน 100,000 บาท เป็นเวลา 50 ปี กองทุน 2 กองไปลงทุนในสินทรัพย์เหมือนกัน แต่กองทุน A มีค่าธรรมเนียมสูงกว่ากองทุน B ร้อยละ 2 ต่อปี หากว่ากองทุน A ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 9 เงินจะกลายเป็น 7,435,752 บาท ในขณะที่กองทุน B ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 7 จะกลายเป็น 2,945,702 บาท ซึ่งแตกต่างกันเกือบ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 60 เลยทีเดียว ดังนั้นหากมองว่าถ้าเรามีความสามารถในการลงทุนเองได้ ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้แก่กองทุนรวมในระยะยาว ก็ส่งผลต่อความมั่งคั่งในระดับที่มีนัยสำคัญ แต่อย่าลืมมองทางตรงกันข้ามว่า หากเราบริหารเองได้น้อยกว่าผู้จัดการกองทุน ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งไม่แตกต่างกัน
อีกปัจจัยที่ควรระวังสำหรับการลงทุนเองคือ การนำเงินปันผลไปลงทุนต่อ ผลตอบแทนของตลาดหุ้นนั้นประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ราคาที่เพิ่มขึ้น (capital gain) และเงินปันผล (dividend) สำหรับกองทุนรวมที่ไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล หรือขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เงินปันผลที่ได้รับผู้จัดการกองทุนจะนำไปลงทุนต่อเพื่อสร้างผลตอบแทนแบบทบต้น แต่สำหรับการลงทุนเองโดยตรง หรือการลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายเงินปันผลออกมา หากไม่ได้นำเงินปันผลกลับไปลงทุนต่อ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากในระยะยาวเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินปันผลเฉลี่ยในระดับร้อยละ 3 – 4 ต่อปี นอกจากนี้ผู้ที่ลงทุนด้วยตนเองส่วนใหญ่มักจะพบกับปัญหาในการเก็บรวบรวมข้อมูลของผลตอบแทนโดยรวมที่เกิดขึ้น และการเปรียบเทียบผลตอบแทนตามช่วงเวลา หรือเปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าตนเองสามารถสร้างผลตอบแทนได้มาก หรือได้น้อยกว่าความเป็นจริง ต่างไปจากระบบการรายงานผลตอบแทนของกองทุนรวมที่มีการรวบรวมข้อมูลและการรายงานผลตอบแทนอย่างชัดเจน
รัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย CFP®
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเด็นเรื่องการเตรียมความพร้อมเรื่องการเกษียณ ถือเป็นหนึ่งในแผนการเงินที่สำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่จะเห็นได้ว่าคนไทยจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องเงินออมและสวัสดิการที่ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในยามเกษียณ
จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.1 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (aged society) กล่าวคือ เป็นสังคมซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกินร้อยละ 20 และ ภายในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยแบบสุดยอด (super aged society) กล่าวคือ มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
ผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงตนเอง
ปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นเลยหากผู้สูงวัยเหล่านี้ยังสามารถทำงานและหารายได้เหมือนวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไปถึง 59 ปี) และมีลูกหลานคอยช่วยเหลือ แต่ความเป็นจริงพบว่าอัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และมีแนวโน้มลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คนในปี 2583 ส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2563 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2583 จากอายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง
แหล่งรายได้ในการดำรงชีพของผู้สูงอายุ
ผลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มาจากบุตร (ร้อยละ 34.7) มากที่สุด รองลงมาคือ จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง (ร้อยละ 31) และได้รับจากเบี้ยยังชีพของทางราชการ ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ (ร้อยละ 20)
นอกจากนี้ยังพบว่า สัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียว และ อยู่ลำพังกับผู้สูงอายุด้วยกันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยผลจากการสำรวจพบว่า ในปี 2560 ผู้สูงอายุไทยอยู่ลำพังคนเดียวสูงถึงร้อยละ 10.8 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด ซึ่งเพิ่มจากร้อยละ 8.7 ในปี 2557
รายได้เฉลี่ยของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 20 มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ผู้สูงอายุร้อยละ 17 มีรายได้ไม่เพียงพอ และร้อยละ 21.6 มีรายได้เพียงพอบางครั้งเท่านั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อคนไทยอายุยืนยาวขึ้นและมีบุตรน้อยลง ส่งผลให้การพึ่งพาบุตรหลานอาจจะเป็นไปได้ยากขึ้นในอนาคต ดังนั้นผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มที่จะต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ หรือพึ่งพาระบบรายได้ยามชราภาพที่จัดการโดยภาครัฐ หากไม่มีเงินออมที่เพียงพอเเละไม่ได้มีการวางแผนการเงินที่เหมาะสม
ระบบสวัสดิการเพื่อการเกษียณของคนไทย
หากพิจารณาถึงระบบการออมเพื่อการเกษียณของประเทศไทย ทั้งในภาคบังคับและสมัครใจ ประกอบไปด้วย 5 เสาหลักดังตาราง
การเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจหลักประกันรายได้ของแรงงานไทยปี 2563 จำนวน 37.9 ล้านคน พบว่า
ทั้งนี้จำนวนผู้อยู่ภายใต้ระบบการออมข้างต้น ไม่ได้บ่งบอกว่าแรงงานดังกล่าวจะมีเงินออมที่เพียงพอสำหรับยามเกษียณ
ความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ
ค่าใช้จ่ายของคนเมืองและคนชนบท
เมื่อพิจารณากับเงินออมที่ควรจะมีหลังจากอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำการศึกษาไว้ พบว่า สำหรับ ผู้อาศัยในเมือง ต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหลังเกษียณ (เช่น สามารถใช้ได้เดือนละประมาณ 16,000 บาท ไปอีก 20 ปี) ส่วนในชนบท ต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบเงินออมที่พึงมีกับแหล่งรายได้จากภาครัฐ จะต้องมีการออมเงินด้วยตนเองเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายหลังจากเกษียณ
อย่างไรก็ตาม เงินออมที่พึงมี ณ วันเกษียณ อาจมีความแตกต่างไปสำหรับแต่ละบุคคล จากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกันตามรูปแบบการดำเนินชีวิต อายุขัยคาดการณ์ เป็นต้น
ความฝันและความเป็นจริงของคนเกษียณ
จากงานวิจัยในปี 2561 หัวข้อชีวิตภายหลังเกษียณ: ประสบการณ์ชีวิตผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยคุณพรพรรณ วรสีหะ ได้ทำการศึกษาประสบการณ์ของผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุจากกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่เกษียณอายุจากงานประจำ 60 ปีขึ้นไป พบว่าผู้สูงอายุมีความฝันถึงความสุขวัยหลังเกษียณ เช่น มีเวลากับตัวเองมากขึ้นหลังเกษียณ และต้องการพึ่งพาตนเองโดยไม่อยากพึ่งพาผู้อื่นโดยไม่จำเป็น รวมถึงการได้อยู่ร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว
แต่ในความเป็นจริงมีหลายสิ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวังและความฝัน โดยพบว่าผู้เกษียณบางกลุ่มยังคงไปทำงานในสถานที่เดิมและรู้สึกว่าเงินออมที่ตนสะสมไว้เริ่มลดลง ผู้สูงอายุบางรายไม่มีรายรับ ขณะที่ยังมีหนี้สินที่ต้องชำระ โดยผู้สูงอายุไทยมักมีเบี้ยยังชีพจากราชการเป็นแหล่งรายได้หลักมากที่สุด และพบว่าหากผู้สูงอายุไม่มีเงินบำนาญหรือเงินออม จะส่งผลถึงภาวะการเงินของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงหลังเกษียณ
ฉะนั้นการเตรียมตัวเองด้านจิตสังคมก่อนเกษียณ ในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมวิถีชีวิต และเตรียมสุขภาพจิตหลังเกษียณจากงาน เนื่องจากพบว่าผู้สูงอายุมีภาวะสุขภาพจิตที่ต่ำกว่าบุคคลทั่วไป และประเด็นการเตรียมสังคมก่อนเกษียณ ซึ่งผู้สูงอายุต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุหลังเกษียณ เช่น สวัสดิการการออมที่ดี ซึ่งรูปแบบสวัสดิการของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีความหลากหลายและไม่เสมอภาค โดยควรมีหน่วยงานเข้ามาวางแผนและพัฒนานโยบายเพื่อเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านการออมเพื่อวัยเกษียณ การมีหน่วยบริการด้านสุขภาพ รวมถึงช่วยจัดหางานเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุหลังจากการเกษียณจากงานประจำ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียงพอต่อการดำรงชีพ
การเตรียมความพร้อมของแรงงานนอกระบบ
จากงานวิจัยหัวข้อ การเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของแรงงานนอกระบบในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จัดทำโดยคุณธัญวรัตน์ สุวรรณะ ที่ศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่างแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุระหว่าง 20 – 60 ปี พบว่า
ปัจจัยที่มีผลต่อการเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ในด้านความเพียงพอของรายได้ และปัจจัยด้านความรู้ทางการเงินเพื่อเตรียมเกษียณอายุ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเพียงพอเพื่อเตรียมเกษียณมากที่สุดคือ พฤติกรรมการออม รองลงมาคือ ปัจจัยส่วนบุคคล
สาเหตุที่คนในวัยเกษียณมีเงินออมไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ มาจากการเริ่มต้นวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณช้า และมีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่สูงเกินจริง การวางแผนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจรวมถึงการประมาณค่าใช้จ่ายที่ต่ำเกินไป จึงส่งผลให้เงินออมที่สะสมไว้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายหลังวัยเกษียณ ดังนั้น แรงงานนอกระบบควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ทางการเงิน เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนเพื่อจะมีผลดีต่ออนาคต ต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ เนื่องจากกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่มีหลักประกันด้านเกษียณอายุเหมือนกับกลุ่มอื่น เช่น พนักงานบริษัท หรือ พนักงานของรัฐ เป็นต้น
บทสรุปสำหรับนักวางแผนการเงิน
ในฐานะนักวางแผนการเงิน ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้ารับวางแผนการเงิน ควรสร้างความตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำรงชีพหลังเกษียณ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเงินออมที่พึงมีเมื่อถึงยามเกษียณของผู้เข้ารับคำปรึกษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลที่มีเสาหลักจากการออมภาคบังคับและภาคสมัครใจ และรูปแบบการดำรงชีพที่แตกต่างกัน รวมถึงให้มีการเก็บออมเงินอย่างมีวินัยที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายที่คาดการณ์ไว้อย่างสมเหตุสมผล และการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารเงินออมผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ หากพิจารณาแหล่งรายได้จากระบบการออมจากภาครัฐแล้ว หากพบว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ ควรแนะนำให้ผู้เข้ารับคำปรึกษามีการเก็บออมรายเดือนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเกษียณ รวมถึงการแนะนำช่องทางการบริหารเงินผ่านผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่าผู้เข้ารับคำปรึกษาจะมีแหล่งรายได้ที่เพียงพอในยามเกษียณ นอกจากนี้ ควรมีการแนะนำถึงการบริหารความเสี่ยงผ่านการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยคำนึงถึงความคุ้มครองที่ควรมี ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระเบี้ย เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น หากปัจจุบันผู้เข้ารับคำปรึกษามีอายุ 40 ปี ต้องการเตรียมเงินไว้เพื่อให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายตลอด 20 ปีหลังเกษียณ เดือนละ 15,000 บาท ณ มูลค่าปัจจุบัน โดยไม่คำนึงถึงแหล่งรายได้จากภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อรักษาอำนาจในการใช้จ่าย (spending power) ในระดับเดิม ค่าใช้จ่ายในวันเกษียณจะเพิ่มเป็น 27,092 บาทต่อเดือน ดังนั้นจึงต้องเตรียมเงินไว้ทั้งสิ้น 7.2 ล้านบาท (สมมติฐานอัตราเงินเฟ้อที่ 3% และอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 1.90% ต่อปี) กรณีผู้เข้ารับคำปรึกษามีเวลาในการออมเป็นเวลา 20 ปี และนำเงินออมไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนประมาณการที่อัตราร้อยละ 6 ผู้เข้ารับคำปรึกษาจะต้องออมเงินเดือนละประมาณ 15,600 บาท เป็นต้น
เธียทยะ ฌอสกุล CFP®
ท่านรู้สึกอึดอัดไหมครับเวลามีหนี้สิน มีภาระผูกพันที่ต้องเร่งจ่ายคืนเพราะท่านรู้สึกเหมือนเอาเงินคนอื่นมาใช้ ไม่สบายใจเลยใช่ไหมครับ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการจ่ายดอกเบี้ยเพราะเหมือนเสียเงินไปโดยใช่เหตุ บางท่านอาจรู้สึกน่าอับอายกลัวถูกกล่าวหาว่าเป็นคนติดหนี้หรือไม่รวยจริง เนื่องด้วยเหตุผลเหล่านี้เราๆท่านๆจึงมักตัดสินใจว่า หากมีหนี้สินควรรีบชำระคืนให้หมดโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามท่านเคยคำนึงถึงความคุ้มค่าที่แท้จริงให้รอบด้านหรือไม่ หรือเพราะทำตามความคิดและความรู้สึกที่เคยทำมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ที่ต้องเร่งชำระหนี้ให้จบ แต่เชื่อไหมครับ ถ้าจำแนกกันด้วยหลักเหตุผล มีหลายเหตุผลที่การชำระหนี้ตามกำหนดนั้น คุ้มค่ากว่าการเร่งจ่ายชำระคืนหนี้เสียอีกครับ ซึ่งมีหลักในการพิจารณาดังนี้
ตัวอย่าง นาย A กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี ที่ 3%ต่อปี ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 25% ปรากฏว่าปีนี้นาย A ได้รับเงินโบนัส 2 แสนบาท นาย A ควรเร่งนำเงินไปชำระหนี้บ้านให้หมดโดยเร็วเพื่อลดภาระดอกเบี้ยหรือไม่
ตามตัวอย่าง หากนาย A ใช้โบนัสไปชำระหนี้บ้านเพิ่ม 2 แสนบาท นาย Aจะประหยัดดอกเบี้ยได้ปีละ 6,000 บาท แต่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงถึง 68,000 บาท (12,000+50,000+6,000)
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสินเชื่อที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ แถมการชำระหนี้เกินจากงวดไม่ได้ส่วนลดใดๆทั้งสิ้น หากไม่ได้ชำระทั้งก้อนเพื่อปิดสัญญา ซึ่งมักให้ส่วนลดแค่เล็กน้อยเท่านั้น การนำเงินก้อนเดียวกันนี้ไปลงทุน หรือซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าการนำเงินไปชำระคืนหนี้สินประเภทนี้อย่างแน่นนอน
ณัฐพงษ์ อภินันท์กูล CFP®